The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   มลายูและโลกมลายู

มลายูและโลกมลายู

By : Nik Rakib Nik Hassan

       Head Malay Studies Section, Faculty of Humanities and Social Sciences, PSU Pattani

       expert in Malay Diaspora, Malay Ethicity

               ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547 คำว่า “มลายู”เริ่มจะมีพื้นที่มากขึ้น ไม่ว่า ในสื่อสารมวลชน หรือ เอกสารการวิจัย เอกสารราชการ ไม่ว่าในบางกรณีจะมีการใช้คำว่า “ชาวมลายู” แทนคำว่า ชาวไทยมุสลิม”

             สิ่งนี้ถือเป็นนิมิตที่ดี เป็นการคืนคำว่า“มลายู”กลับสู่กลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่เรียกตนเองว่า“ชาวมลายู”ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในจังหวัดปัตตานี  ยะลา  นราธิวาส สงขลา สตูล และอื่นๆ 

             สำหรับคนที่ไม่ใช่ชาวมลายู บางส่วนยังคงมีความสงสัย และสับสนถึงคำว่า“ชาวมลายู” รวมถึงความเป็นมาของ“ชาวมลายู” และมีการอธิบายที่ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง

             คำว่า “มลายู”ในความหมายที่ทางองค์การ UNESCO  ซึ่งได้ทำการศึกษาวิจัยในหัวข้อ Malay  Cultural  Studies  Project ได้ให้คำอธิบายถึงความหมายของมลายูว่า คือ กลุ่มชนที่รวมกันอยู่ในกลุ่มมลายู-โปลีเนเซีย (Melayu-Polinesia) ซึ่งมีอาณาเขตที่กว้างขวาง จากเกาะมาดากัสการ์ทางตะวันตก จนถึงเกาะอิสเตอร์ หรือ ที่ชาวมลายูเรียกว่าเกาะปัสกะห์ (Pulau Paskah) ทางตะวันออก รวมทั้งเกาะไต้หวัน และ ฮาวาย ทางด้านเหนือ จนถึงหมู่เกาะอินโดเนเซีย และ นิวซีแลนด์ทางใต้

                ศาสตราจารย์วัง กุง วู (Prof. Wang Gung Wu) ได้ทำการศึกษาค้นคว้าในบันทึกจีนโบราณ ปรากฏว่าในศตวรรษที่ 13 ยังไม่มีการบันทึกถึงคำว่า “มลายู” ในฐานะชนชาติหนึ่ง มีเพียงการบันทึกคำว่า “มลายู” ในฐานะเป็นรัฐหรือสถานที่แห่งหนึ่งในทางตะวันออกของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดเนเซีย จะมีเพียงในศตวรรษที่ 18 ที่กล่าวถึง “มลายู” ในฐานะชนชาติหนึ่ง

             ส่วนบันทึกของตะวันตกนั้นกล่าวว่า ตอนต้นศตวรรษที่ 17 คำว่า “มลายู” มีการใช้ในความหมายที่กว้าง ครอบคลุมถึงชนชาติที่อยู่ในภูมิภาคมลายู หรือ ที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า นูซันตารา (Nusantara) ชนชาวมลายูได้ทิ้งร่องรอยทางอารยธรรมไว้มาก มีอาณาจักรโบราณของชาวมลายู ที่มีชื่อเสียง เช่น อาณาจักรลังกาสุกะ อาณาจักรมาชาปาหิต อาณาจักรศรีวิชัย อาณาจักรมะละกา รวมทั้งอาณาจักรจามปาในเวียดนาม

            ยังมีอีกอาณาจักรหนึ่ง ที่นักวิชาการมักกล่าวถึง แต่ไม่เคยนำมาเกี่ยวโยงกับชนชาวมลายู นั้นคือ อาณาจักรฟูนัน สำหรับอาณาจักรฟูนัน นั้น นาย Daniel George E. Hall นักประวัติศาสตร์ นามอุโฆษผู้นี้ได้กล่าวถึงอาณาจักรฟูนัน ว่า “ชาวฟูนันเป็นชนชาติมลายู ”(The Funanese were Malay Race) ดังปรากฎในหนังสือที่ท่านเขียน และได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มี ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นบรรณาธิการ จัดพิมพ์โดยโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

              องค์กรที่ที่ชื่อว่า Joshua Project ซึ่งเป็นองค์กรเผยแพร่ศาสนาคริสต์ของสหรัฐตั้งอยู่ในรัฐ โคโลราโด ของสหรัฐอเมริกา ได้สำรวจและปรากฎผลได้ดังนี้ :               

             โลกอาหรับ  279 ล้านคน, อินโด-อิหร่านเนียน 137 ล้านคน,  ยิว  17 ล้านคน, ชนชาวมลายู   340 ล้านคน และชาวตุรกี  169 ล้านคน

             จากข้อมูลข้างต้นที่มีชนชาติมลายูถึง 340ล้านคน ปรากฏว่าชนชาวมลายูเหล่านั้น กระจัดกระจายไปทั่วโลก  นอกจากพวกเขาจะตั้งถิ่นฐานอยู่ในกลุ่มประเทศภูมิภาคมลายู หรือ ที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า นูซันตารา (Nusantara) ซึ่งมีประเทศอินโดเนเซีย, มาเลเซีย, บรูไน, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, ภาคใต้ของไทย แล้ว  ชาวมลายูยังอาศัยอยู่ในประเทศพม่า, เวียดนาม, เขมร  และลาว

           นอกจากนั้นชาวมลายูยังอพยพไปยังภูมิภาคต่างๆ เช่นไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศอัฟริกาใต้, มาดากัสการ์, สุรีนาม, ตะวันออกกลาง, ยุโรป  และสหรัฐ