Education
Home   /   Education  /   ที่ปรึกษาOICพบนักเรียนไทยในอียิปต์

ที่ปรึกษาOICพบนักเรียนไทยในอียิปต์

โดย ดลหมาน ผ่องมะหึง รายงานจากกรุงไคโร ประเทศอียิปต์

           สำนักข่าวอะลามี่ : นับเป็นอีกวาระที่ผมได้รับแจ้ง จากท่านเอกอัครราชฑูตไทย  ประจำกรุงไคโร เพื่อพบปะกับผู้หลักผู้ใหญ่ หารือเรื่องความสัมพันธ์ และวาระสำคัญอื่นๆเกี่ยวกับเรื่องมุสลิมในประเทศไทย ซึ่งในโอกาสนี้ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาไทย ได้เข้าพบร่วมโต๊ะนั่งคุยกับท่านเอกอัครราชทูตฯ ด้วยความเป็นกันเอง

 

          เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา นายชลิต มานิตยกุล เอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ได้เปิดประตู ณ ทำเนียบให้การต้อนรับ นายซาอิด  เอลมาซรี ที่ปรึกษาพิเศษเลขาธิการองค์กรความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation – OIC)  เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อเนื่องจากการเยือนประเทศไทยของคณะผู้แทน OIC ระหว่าง 9 – 17 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา

          โดยช่วงเช้า นายเอลมาซรี ได้แจ้งกับ นายชลิต มานิตยกุล เอกอัครราชทูต พร้อมด้วยข้าราชการไทย ณ กรุงไคโร ว่า ตนมีความพอใจกับการต้อนรับและการจัดกำหนดการต่างๆ ระหว่างการเยือนที่ฝ่ายไทยจัดให้แก่คณะผู้แทน OIC และ ชื่นชมความโปร่งใสในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลไทย ตลอดจนความพร้อมของฝ่ายไทย ที่จะร่วมทำงานกับ OIC ต่อไป  

             ขณะที่เอกอัครราชทูตชลิตฯ รับที่จะช่วยประสานการติดต่อระหว่างรัฐบาลไทยและ OIC และ ยืนยันความพร้อมที่จะให้ข้อมูลและความกระจ่างในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินการของฝ่ายไทย ในจังหวัดชายแดนภาคใต้แก่ OIC ผ่านทางนายเอล มาซรี่

             ภายหลังการหารือกับเอกอัครราชทูตฯ  นายเอลมาซรี ก็ได้พบปะพูดคุยกับ นายศักดิ์ดา โซ๊ะเฮง   นายกสมาคมนักเรียนไทย พร้อมคณะกรรมการบริหารสมาคม และตัวแทนของชมรมต่างๆ จำนวน 20 คน  ซึ่งการพูดคุยเจรจาแบบเป็นกันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปรึกษาพิเศษประจำOIC สนใจ ในเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาของนักศึกษาไทยในอียิปต์ และเส้นทางการประกอบอาชีพภายหลังจบการศึกษา ตลอดจนบทบาทของนักศึกษาไทย ในฐานะเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติต่อการพัฒนาท้องถิ่นและการศึกษา 

            นับเป็นความภูมิใจและตื้นตันทุกครั้ง ที่ได้มีส่วนร่วมในการพบปะแบบนี้ และ มีหน่วยงานของนักศึกษาเข้าไปมีส่วนร่วมในการประชุม นับได้ว่าการเปิดโอกาสของสถานทูตฯและนักศึกษาไทยในอียิปต์ยังคงดำเนินต่อไปได้เป็นอย่างดี

          เพราะนอกเหนือสิงอื่นใดแล้ว อย่างน้อยที่สุด ผู้นำในระดับต่างประเทศ ก็รู้ถึงความสามารถของการใช้ภาษาในการสื่อสาร และการเป็นหนึ่งเดียวของนักศึกษา และข้าราชการไทยในประเทศอียิปต์อีกด้วย