Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   เปิดภารกิจสนามบินอู่ตะเภาONE AIRPORT TWO MISSIONS

เปิดภารกิจ “สนามบินอู่ตะเภา”

ONE AIRPORT TWO MISSIONS

โดย เอกราช มูเก็ม

               สำนักข่าวอะลามี่ : รัฐบาลเร่งขยายการรองรับสนามบินอู่ตะเภา ให้เป็นสนามบินแห่งที่สามของประเทศ ด้วยการทุ่มงบประมาณในการพัฒนาโครงข่ายทั้งภายนอกและภายในสนามบิน ตลอดถึงตัวอาคารผู้โดยสารใหม่ เพื่อให้รองรับได้มากถึง 3 ล้านคน/ปี พร้อมดันให้เป็น “ศูนย์อุตสาหกรรมการบิน” ขณะเดียวกันสนามบินอู่ตะเภา ก็ยังมีพันธกิจทางทหาร หรือ ONE AIRPORT TWO MISSIONS ควบคู่ไปด้วย


              นาวาเอกสมชาย แท่นนิล รองผู้บัญชาการกองการบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ กล่าวถึงพันธกิจของสนามบินอู่ตะเภา ว่า ที่นี่จะเป็นสนามบินแห่งที่ 3 ของประเทศ เพื่อรองรับสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ โดยรัฐบาลได้ทุ่มเทงบประมาณในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขยายถนนสายสุขุมวิท จากพัทยา-สัตหีบ จากเดิม 2 เลน เป็น 4 เลน เพื่อเชื่อมต่อกับสนามบิน รวมถึงกาสร้างทางมอเตอร์เวย์สาย 7 พัทยา-มาบตาพุด จะขยายเส้นทางเชื่อมเข้ามายังตัวอาคารผู้โดยสาร

               นอกจากนี้ยังเตรียมขยายเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูง รวมถึงวางหมอนรถไฟใหม่ ก่อนหน้านี้ได้หยุดใช้งานไประยะหนึ่ง ส่วนทางน้ำกำลังพัฒนาท่าเรือจุกเสม็ด เพื่อสามารถเชื่อมต่อจากสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งมีระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร

              “ ท่าเรือดังกล่าวปัจจุบันเป็นจุดจอดเรือหลวงจักรีนฤเบศร มีพื้นที่ว่างพอที่จะพัฒนาให้เป็นท่าเรือเชิงพาณิชย์ เพื่อใช้เป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้า ทำธุรกิจคล้ายกับสนามบินอู่ตะเภา คือวันแอร์พอร์ต ทูมิสชั่น (ONE AIRPORT TWO MISSIONS) เช่นกัน ”

                ทั้งนี้ทั้งท่าเรือและสนามบินอู่ตะเภาจะเป็นจุดเชื่อมโยงการขน ส่งทั้งทางเรือและทางอากาศที่อยู่ติดกัน ซึ่งจะเป็นจุดยุทธศาสตร์ขนส่งทั้งทางเรือทางอากาศ

               นาวาเอกสมชาย  กล่าวอีกว่า สำหรับสนามบินอู่ตะเภามีพื้นที่รวมกว่า 16,700 ไร่ นอกจากจะพัฒนาเป็นสนามบินที่อยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพเรือ ซึ่งมีภารกิจทางทหารและความมั่นคงอยู่แล้ว รัฐบาลยังจะพัฒนาให้สนามบินอู่ตะเภา เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์แห่งที่สามของประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายที่จะผลักดันให้เป็นศูนย์ซ่อมเครื่องบิน หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการบิน เช่น อะไหล่ ศูนย์ซ่อมเครื่องบินขนาดกลาง ซึ่งเรียกว่า “ศูนย์อุตสาหกรรมการบิน” อีกด้วย

               “ ปัจจุบันที่นี่มีศูนย์ซ่อมอากาศยานของการบินไทยอยู่แล้ว ซึ่งบริเวณนั้นจะพัฒนาเป็นศูนย์ซ่อมเครื่องบินลำตัวขนาดกลาง ระดับจัมโบ้ 747 ในอนาคตอาจจะเป็นศูนย์ซ่อมลำตัวขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือโบอิ้ง 737 หรือ แอร์บัส 380 ”  นาวาเอกสมชาย  กล่าวและว่า

                นอกจากนี้อาจขยายเปิดโรงซ่อมใหม่ เพื่อรองรับเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องบินต้นทุนต่ำ หรือ โลว์คอสในภูมิภาคอาเซียน เช่น ลาว พม่า กัมพูชา ซึ่งประเทศเหล่านี้ยังไม่มีศูนย์ซ่อมเครื่องบิน และนี่คือแผนของการเริ่มต้นที่รัฐบาลกำลังจะพัฒนา โดยกระทรวงคมนาคมได้วางแผนไว้ในการพัฒนาพื้นที่ต่อเนื่อง

                  นาวาเอกสมชาย  กล่าวอีกว่า ปัจจุบันภายในสนามบินอูตะเภา กำลังขยายอาคารผู้โดยสารอาคารที่ 2 (Terminal 2) โดยใช้งบประมาณ 800 ล้านบาท จากเดิมรับผู้โดยสารได้ประมาณ 400 คน (ต่อช่วงเวลาขณะนั้น) หรือ 8แสนคน/ปี ซึ่งหากอาคารผู้โดยสารใหม่แล้วเสร็จ จะสามารถขยายการรองรับผู้โดยสารได้ถึง 1,500 คน หรือประมาณ 3 ล้านคน/ปี (ในปี2563)

                “ เดิมคาดว่าจะเปิดบริการอาคารผู้โดยสารอาคารที่ 2 ได้ในช่วงเดือนมิถุนายน แต่ตอนนี้ได้มีการขยายสัญญาการก่อสร้างออกไป ซึ่งอาจจะเปิดใช้บริการได้ภายในปลายปีนี้ อย่างไรก็ตามจะต้องมีการตรวจสอบมาตรฐานจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ก่อนถึงจะเปิดให้บริการได้” นาวาเอกสมชาย กล่าวและว่า

                สำหรับสนามบินอูตะเภา ในอดีตมีเพียงสายการบินบางกอกแอร์เวย์และเครื่องบินเช่าเหมาลำ(ชาร์เตอร์ไฟล์ท) ล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมา สายการบินแอร์เอเชีย สายการบินกานแอร์ เริ่มมาเปิดให้บริการ ปัจจุบันมีไฟล์ทประจำของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ และ แอร์เอเชีย บินทุกวัน วันละ 7 เที่ยวบินโดยเฉพาะสายการบินแอร์เอเชีย ที่เปิดส้นทางบินต่างประเทศ 5 เมือง อาทิเช่น สนามบินกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย  สิงคโปร์ มาเก๊า หนานนิง หนานชาง  นอกจากนี้ยังมีเส้นทางบินภายในประเทศเช่น อูตะเภา-หาดใหญ่ - เชียงใหม่ และอุดรธานี อีกด้วย

               สำหรับแนวโน้มการขยายตัวของสนามบินอู่ตะเภา มองว่ายังมีอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในปี 2558 ที่ผ่านมาได้ขอสนับสนุนงบจำนวน 1,023 ล้านบาท เพื่อพัฒนาตัวสนามบิน (ไม่รวมเทอร์มินอล 2) เชื่อมโยงกับตัวท่าอากาศยาน ในการพัฒนาตัวสนามบินและโครงสร้างต่างๆของสนามบินให้มีความเป็นมาตรฐาน เช่น หอบังคับการบิน จัดทำรั้วล้อมบริเวณสนามบินให้มิดชิด (เดิมไม่มีรั้ว) ลานจอดด้วยระบบไฟฟ้า ระบบจ่ายน้ำมันไทแลนท์ (การจ่ายน้ำมันแรงดันสูง จ่ายน้ำมันจากพื้นดินขึ้นสู่เครื่องบิน) เครื่องตรวจอากาศเฉพาะพื้นที่ หรือ ระบบวินเชีย เครื่องตรวจความเร็วลม ซึ่งเป็นการพัฒนาเรื่องของความปลอดภัยให้มีมาตรฐาน

                อย่างไรก็ตาม สนามบินอู่ตะเภา แม้ว่าจะใช้ในเชิงพาณิชย์ แต่ก็ใช้ในภารกิจของกองทัพ หรือภารกิจความมั่นคงคู่ขนานกันไป ทำให้สนามบินอู่ตะเภา จึงมีพันธกิจ ONE AIRPORT TWO MISSIONS นับเป็นสนามบินในประเทศไทยที่เป็นสนามบินนานาชาติแห่งเดียว (INTERNATIONNAL) ที่มีทหารอยู่ข้างใน ซึ่งสนามบินอื่นไม่มี

++++++

ตีพิมพ์ครั้งแรก: นิตยสาร อะลามี่ ฉบับเมษายน 2559