Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   การดูดวงจันทร์กับพัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์

การดูดวงจันทร์กับพัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์

โดย  รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน

       ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

            สำนักข่าวอะลามี่ : เดือนรอมฎอน ฮิจเราะฮ์ศักราช 1437 กำลังจะเริ่มต้น คาดว่าวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2559 จะเป็นวันแรกของเดือนรอมฎอน เราน่าจะเห็นจันทร์เสี้ยวหนึ่งค่ำกันในยามโพล้เพล้ของวันที่ 5 มิถุนายน

            เรื่องการดูดวงจันทร์ขึ้นหนึ่งค่ำนี้ แม้จะเป็นประเพณีเก่า แต่ต้องไม่ลืมว่ากระบวนการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของดวงจันทร์นี้เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาวิทยาการ สาขาดาราศาสตร์ และคณิตศาสตร์ในโลกมุสลิม ที่นำไปสู่การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างมากในปัจจุบัน

            รู้กันอยู่ว่าโลกและดวงจันทร์ คือ ดาวเคราะห์หรือดาวที่สร้างแสงในตนเองไม่ได้ ขณะที่ดาวเกือบทั้งหมดที่เห็นบนท้องฟ้า ต่างเป็นดาวฤกษ์ที่สร้างแสงในตนเองได้เหมือนดวงอาทิตย์ ประมาณกันว่า ในจักรวาลมีดาวฤกษ์ไม่น้อยกว่าหนึ่งแสนล้านล้านล้านล้านดวง หรือ 1 ตามด้วย 0 จำนวน 29 ตัว หากนับดาวเคราะห์เป็นดวงดาวด้วยแล้ว จำนวนดวงดาวในจักรวาลจะมีมากยิ่งกว่าเม็ดทรายในโลกนี้รวมกัน

           ดวงดาวในจักรวาลกระจุกตัวกันเป็นกลุ่มเรียกกันว่า ดาราจักร หรือกาแลกซี ดาวสุกสกาวที่มองเห็นด้วยตาเปล่าบนท้องฟ้าต่างอยู่ในกาแลคซีทางช้างเผือก ซึ่งเป็นกาแลคซีที่โลกเป็นสมาชิกอยู่ด้วยกันทั้งนั้น มนุษย์ไม่สามารถมองด้วยตาเปล่าเห็นทะลุไปถึงกาแลคซีอื่นได้ เนื่องจากแสงจากดวงดาวจำนวนมหาศาลในกาแลคซีทางช้างเผือกบดบังเอาไว้

           “ ดาวที่เห็นกันในคืนที่มืดสนิทที่สุด ฟ้าโปร่งที่สุดมีไม่ถึง 50,000 ดวง ส่วนที่เห็นกันเป็นเรื่องเป็นราวมีแค่ 5,000 ดวงเท่านั้น ทั้งหมดเป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ในกาแลคซีทางช้างเผือกอย่างที่บอก”

             ดาวบนท้องฟ้าดวงที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือดวงจันทร์ ขึ้นลงเป็นเวลาสม่ำเสมอไม่เคยเปลี่ยนแปลง นี่เป็นเหตุผลทำให้มนุษย์นำดวงจันทร์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการนับเดือนในอดีต ดวงจันทร์โคจรรอบโลกหนึ่งรอบใช้เวลา 28 วัน ขณะที่ดวงจันทร์ โคจรรอบโลกเวลาเดียวกันโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ส่งผลให้ดวงจันทร์เกิดแสงสะท้อนจากดวงอาทิตย์เป็นมุมต่างๆ มนุษย์จึงเห็นรูปร่างของดวงจันทร์เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่ขึ้นหนึ่งค่ำ หรือนิวมูนครั้งหนึ่งไปจนกระทั่งถึงนิวมูนครั้งใหม่ ห่างกัน 29 วัน 12 ชั่วโมง

              หากนับดวงจันทร์โคจรรอบโลกให้สอดคล้องกับโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์พบว่าหนึ่งปีทางจันทรคติ มี 12 เดือน นับจำนวนวันได้ 354 วัน นี่คือ..ปฏิทินอิสลามซึ่งน้อยกว่าปีสากล ทางสุริยคติ 11-12 วัน ส่งผลให้ 33 ปี ตามปฏิทินอิสลามยาวเท่ากับ 32 ปีตามปฏิทินสากล

             การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ตามปฏิทินอิสลามซึ่งเลื่อนเร็วขึ้น 11-12 วันต่อปี ใครที่มีอายุเกิน 40 ปี จึงมีโอกาสถือศีลอดเดือนรอมฎอนในทุกเดือนตามปฏิทินสากล นี่คือข้อดีของการใช้ปฏิทินอิสลามในเรื่องพิธีกรรมทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถือศีลอดหรือการทำฮัจย์

             อีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะรับรู้ไว้คือในรอบสามปี นับกันตามปฏิทินสากลจะยาวกว่าปฏิทินอิสลาม 33-36 วัน ความที่มนุษย์ให้ความสำคัญกับการเพาะปลูกทำให้มนุษย์ยุคเก่าที่นับเดือนและปีตามจันทรคติ จำต้องปรับปีให้สอดคล้องกับปีทางสุริยคติ ผลคือ การเพิ่มเดือนขึ้นหนึ่งเดือนในทุกสามปี ดูได้จากปฏิทินจีนและปฏิทินไทย กรณีของปฏิทินไทย จะมีการเพิ่มเดือนแปดในทุกสามปี ขณะที่คนอาหรับยุคก่อน การมาของอิสลามใช้วิธีเพิ่มเดือนหนึ่งเดือนทุกสามปีเช่นกัน โดยการเพิ่มนั้นขึ้นกับความต้องการของผู้ปกครองในแต่ละพื้นที่ เรียกวิธีการเพิ่มเดือนเช่นนี้ว่า “ อัลนะซีอ์”

             ประเพณีอาหรับ กำหนดแต่ละเดือนตามปฏิทินอาหรับเป็นเดือนต้องห้ามและเดือนปกติ การกำหนดนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคสมัยของนบีอิบรอฮีม (อ.ล.) หรือ 2,500 ปี ก่อนยุคสมัยของนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) เดือนต้องห้ามคือเดือนที่ 11, 12, 1 สามเดือนติดต่อกัน ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาของการทำฮัจย์ และการสงบจิตใจห้ามการทำสงครามกันระหว่างชนกลุ่มต่างๆ นอกจากนี้ยังห้ามในเดือน 7 เพิ่มอีกหนึ่งเดือนซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำอุมเราะฮ์

             การเพิ่มเดือนในอดีตไม่กระทบกับเดือนต้องห้ามสามเดือน แต่เมื่อใกล้ยุคสมัยของนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ชนอาหรับใช้วิธีเพิ่มเดือนทุกสามปี โดยแทรกเดือนที่เพิ่มเข้าระหว่างเดือน 11, 12 และ 1 ทำให้เดือนต้องห้ามเลื่อนไปเป็นเดือนปกติ ขณะที่เดือนปกติเลื่อนไปเป็นเดือนต้องห้าม

            วิธีเช่นนี้เพื่อให้สามารถทำสงครามรบพุ่งกันได้ในเดือนต้องห้าม ไม่ต้องหยุดทำสงครามต่อเนื่องกันสามเดือน วิธีเช่นนี้ผิดเจตนารมณ์ของการกำหนดเดือนต้องห้าม

             ใน ฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 10 ของอิสลาม อัลลอฮ์ (ซ.บ.) จึงทรงมีคำสั่งห้ามอัลนะซีอ์ ซึ่งปรากฏอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอ่าน บทที่ 9 อัตเตาบะฮ์ (การสำนึกผิด) วรรคที่ 37 ความว่า “แท้จริงการเลื่อนเดือนที่ต้องห้ามให้ล่าช้าไปนั้นเป็นการเพิ่มในการปฏิเสธศรัทธายิ่งขึ้น โดยที่ผู้ปฏิเสธศรัทธาเหล่านั้นถูกทำให้หลงผิดไป เนื่องด้วยการเลื่อนเดือนต้องห้ามนั้น พวกเขาได้ให้มันเป็นที่อนุมัติปีหนึ่งเพื่อพวกเขาจะให้พ้องกับจำนวนเดือนที่อัลลอฮ์(ซ.บ.)ได้ทรงห้ามไว้ พวกเขาก็จะทำให้เป็นที่อนุมัติสิ่งที่อัลลอฮ์(ซ.บ.)ได้ทรงให้เป็นที่ต้องห้าม” อายะฮ์นี้เองมีผลให้การถือศีลอดและการทำฮัจย์ร่นเวลาเร็วขึ้น 11-12 วันต่อปีตามเดือนสากล ไม่มีการเลื่อนเดือนอีกต่อไป

             นี่คือข้อดีของการห้ามอัลนะซีอ์ เนื่องจากการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ การโคจรของดวงจันทร์รอบโลก ส่งผลให้เกิดฤดูกาลที่แตกต่างกันออกไป ทั้งทำให้ความสั้นยาวของช่วงวันไม่เท่ากัน ก่อปัญหาให้กับผู้คนแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน

              เมื่อห้าม “ อัลนะซีอ์” ความยุติธรรมย่อมเกิดขึ้น เรื่องนี้จึงเป็นทั้งเรื่องดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์รวมทั้งเรื่องของกฎหมาย รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ไปพร้อมๆ กัน

 

ตีพิมพ์ครั้งแรก : นิตยสารอะลามี่ ฉบับต้อนรับรอมฎอน มิถุนายน2559