Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   คิงพาวเวอร์ ซื้อกิจการสายการบินไทยแอร์เอเซีย

 บิ๊กดีล”คิงพาวเวอร์” ทุ่มงบ7.9พันล้าน ฮุบ แอร์เอเซียเรียบร้อยแล้ว

            สำนักข่าวอะลามี่ : ดีลใหญ่ระดับประเทศในวันนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่อง คิงพาวเวอร์ เข้าซื้อกิจการสายการบินไทยแอร์เอเซีย    


            การออกมาเปิดเผยของ นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ถึงสถานการณ์ธุรกิจสายการบินของแอร์เอเซียว่าล่าสุด ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 3/2559 วานนี้ (13 มิ.ย.) ได้รับทราบการลงนามในสัญญาขายหุ้นของครอบครัวแบแลเว็ลด์ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ให้แก่ นายวิชัย ศรีวัฒนประภา จำนวน 1,891,588,286 หุ้น หรือ คิดเป็นร้อยละ 39 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงของบริษัท ในราคาหุ้นละ 4.20 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น  7,944.67 ล้านบาท

         จากการซื้อขายหุ้นในครั้งนี้ทำให้โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ ประกอบด้วย นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ถือหุ้น จำนวน  679,000,000 หุ้น หรือคิดเป็น 14.00% นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ถือหุ้น 485,088,286 หุ้น หรือ 10.00% นายอภิเชษฐ์ ศรีวัฒนประภา ถือหุ้น 282,500,000 หุ้น หรือ 5.82% น.ส.วรมาศ ศรีวัฒนประภา ถือหุ้น 242,500,000 หุ้น หรือ 5.00% และ น.ส.อรุณรุ่ง ศรีวัฒนประภา ถือหุ้น 242,500,000 หุ้น หรือ 5.00% ขณะที่ครอบครัวแบแลเว็ลด์ เหลือเพียง นายธรรศพลฐ์ เท่านั้น ถือหุ้น 242,500,000 หุ้น คิดเป็น 5.00 %

             ทั้งนี้ จากการทำสัญญาซื้อขายหุ้นดังกล่าวซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้นรวมทั้งสิ้น 39 % ผู้ซื้อจึงต้องร่วมกันจัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ที่เหลือทั้งหมดของบริษัทจากผู้ถือหุ้นทุกราย เพื่อประกาศเจตนาครอบงำกิจการต่อสำนักงาน ก.ล.ต.

            พร้อมกันนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้รับทราบการลาออกจากการเป็นกรรมการ 3 ท่าน คือ นางภัทรา บุศราวงศ์ นาวาอากาศเอกธนภัทร งามปลั่ง นายปรีชญา รัศมีธานินทร์ และแต่งกรรมการใหม่แทน คือ นายสมบัตร เดชาพานิชกุล นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา และนายอภิเชษฎ์ ศรีวัฒนประภา โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายนเป็นต้นไป

            อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า ทั้ง นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์และนายวิชัย ศรีวัฒนประภา จะออกแถลงข่าวถึงความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ในวันนี้ (14มิถุนายน2559)

      

           ย้อนรอยเส้นทาง “ไทยแอร์เอเชีย” ก่อนเปลี่ยนมือจาก “ครอบครัวแบเลเว็ลด์” ไปสู่ “กลุ่มคิง เพาวเวอร์”

           นับเป็นอีกหนึ่งดีลประวัติศาสตร์ของไทยก็ว่าได้ เมื่อ ครอบครัวแบเลเว็ลด์ นำโดยคุณธรรศพลฐ์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย ตัดสินใจขายหุ้นให้กับในสัดส่วน 39% ให้กับครอบครัวศรีวัฒนประภา ผู้บริหารกลุ่มคิง เพาเวอร์

           นับตั้งแต่ “สายการบินไทยแอร์เอเชีย” เปิดให้บริการ ถือเป็นผู้ปฏิวัติอุตสาหกรรมการบินในไทย เนื่องจากเป็นโมเดลธุรกิจ “สายการบินราคาประหยัด” หรือที่เรียกว่า “Low Cost Airline” ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการเดินทางด้วยเครื่องบิน และเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางของผู้คน ที่หลายคนเปลี่ยนจากเดินทางโดยรถทัวร์ รถไฟ มาเป็นเครื่องบิน เพราะสะดวก รวดเร็วกว่า ทั้งยังได้สร้างพฤติกรรมการจองตั๋วผ่านช่องทางออนไลน์ จากเดิมที่คนไทยนิยมจองตั๋วผ่านเอเยนต์

           น่าติดตามต่อว่า ไทยแอร์เอเชีย ภายใต้ร่มเงาของกลุ่มคิง เพาเวอร์ จะเดินไปในทิศทางใด แต่ก่อนอื่นเราอยากให้มาทำความรู้จักที่มาของไทยแอร์เอเชีย ที่ถือได้ว่าเป็นผู้พลิกโฉมหน้าธุรกิจการบินในประเทศไทย

           ปี 2546 บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด ของกลุ่มชินคอร์ปอเรชั่น ร่วมทุนกับ AirAsia Investment (AAI) จากมาเลเซีย ร่วมกันก่อตั้ง “บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด” ในสัดส่วน 50 : 49 ขณะที่อีก 1% คุณธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ หรือชื่อเดิมคือคุณทัศพลเป็นผู้ถือหุ้น พร้อมทั้งนั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยเปิดให้บริการสายการบินราคาประหยัดในไทย ถือเป็นปฐมบทที่เข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมการบินของไทย

          ปี 2547 เริ่มให้บริการเที่ยวบินในประเทศ “ไทยแอร์เอเชีย” ชูสโลแกน “ใคร ใคร… ก็บินได้” และใช้แนวคิดให้บริการบัตรโดยสารราคาประหยัด สำหรับบริการที่จำเป็นในการเดินทาง ส่วนบริการเสริมพิเศษ ลูกค้าสามารถเลือกชำระได้ตามความสมัครใจเริ่มต้นจากท่าอากาศยานดอนเมือง ไปยังอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดเชียงใหม่ด้วยเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 737 จำนวน 2 ลำ กระทั่งต่อมาเริ่มขยายเส้นทางบินจากกรุงเทพฯ ไปต่างประเทศในระยะใกล้ เช่น สิงคโปร์

          ปี 2549 จัดตั้ง บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น ถือหุ้นใน บจ. ไทยแอร์เอเชีย 50%

           ปี 2550 กลุ่มชินคอร์ปอเรชั่น ตัดสินใจขายหุ้นในเอเชีย เอวิเอชั่นทั้งหมด ต่อมาทีมผู้บริหาร 6 คนของ บจ. ไทยแอร์เอเชีย นำโดยคุณธรรศพลฐ์ ได้ซื้อหุ้นกลับมา ในปีเดียวกันนี้ ไทยแอร์เอเชียย้ายฐานปฏิบัติการการบิน (Hub) จากท่าอากาศยานดอนเมืองไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และรับมอบเครื่องบินรุ่นแอร์บัส A320 ลำแรก

          ปี 2555 บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 55 ใน บจ. ไทยแอร์เอเชีย ต่อมาได้ย้ายฐานปฏิบัติการการบินจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมายังท่าอากาศยานดอนเมือง

          ปี 2557 บจ. ไทยแอร์เอเชีย มีฝูงบินจำนวน 40 ลำ (เป็นสัญญาเช่าทางการเงินจำนวน 12 ลำ) ให้บริการเที่ยวบิน 912 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ไปยัง 36 จุดหมายปลายทางทั้งในและต่างประเทศ

           ปี 2558 มีฝูงบินจำนวน 45 ลำ (เป็นสัญญาเช่าทางการเงินจำนวน 14 ลำ) ให้บริการเที่ยวบิน 1,019 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ไปยัง 44 จุดหมายปลายทางทั้งในและระหว่างประเทศ ขณะที่ฐานปฏิบัติการการบิน (Hub) มี 5 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ กระบี่ และพัทยา (ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา)

            ปี 2559 ครอบครัวแบเลเว็ลด์ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น ขายหุ้นให้กับคุณวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ ในฐานะผู้ซื้อหุ้น จำนวน 1,891,588,286 หุ้น หรือ 39 % ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงของบริษัท

++++

ขอบคุณข้อมูลจาก :

http://www.brandbuffet.in.th/2016/06/thai-airasia-low-cost-airline-kingpower/

http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9590000059201