Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /    อภิชัย อรัญญิก :มุมมองท่องเที่ยวกระบี่


เมื่อนักท่องเที่ยวมา อัตลักษณ์ชุมชุมต้องไม่ถูกทำลาย 
มุมมอง  "อภิชัย  อรัญญิก " ผอ.ททท.สำนักงานกระบี่


                          .” กระบี่ต้องมา ครั้งเดียวไม่เคยพอ”...

 

             สำนักข่าวอะลามี่ :  กระบี่ เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายด้านกายภาพทางภูมิศาสตร์ และ วิถีชีวิตของชาวกระบี่ ทำให้การท่องเที่ยวเชิงฮาลาลของที่นี่ ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวมากขึ้น และนี่คืออีกหนึ่งตลาดทางเลือกที่คนไทยต้องตื่นตัวและปรับตัว


            นิตยสารอะลามี่ ฉบับนี้ เราได้สนทนากับ “ คุณอภิชัย  อรัญญิก ” ผู้อำนวยการสำนักงาน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกระบี่ ในโอกาสร่วมเดินทางกับคณะผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจากจังหวัดกระบี่ มาดูงานธุรกิจท่องเที่ยวฮาลาลในกรุงเทพฯ

             คุณอภิชัย  กล่าวถึงแนวทางในการพัฒนา และผลักดันการท่องเที่ยวเชิงฮาลาลของจังหวัดกระบี่ ว่า ด้วยปัจจัยทางกายภาพของจังหวัดกระบี่ มีมุสลิมอาศัยอยู่ประมาณ 50 % ส่วนที่เหลือเป็นประชากรที่มีความเชื่อที่หลากหลาย ซึ่งมีวิถีชีวิตที่ผสมผสาน หรือเรียกว่าพหุวัฒนธรรม

             อย่างไรก็ตามเราต้องทำความเข้าใจกับสังคมว่า คำว่า “ฮาลาล” ไม่ได้หมายถึงเฉพาะอาหารเพียงอย่างเดียว และไม่ใช่เพื่อบริการเฉพาะมุสลิมเท่านั้น แต่ฮาลาล เป็นการบริการในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งรวมถึงวิถีชีวิต การกิน และการดำรงซึ่งอัตลักษณ์ตามความเชื่ออีกด้วย

             ดังนั้น เมื่อกระบี่ มีอัตลักษณ์ของชุมชนมีความเข้มแข็งด้านฮาลาล การทำการตลาดเพื่อการท่องเที่ยว ก็จะต้องโฟกัสให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มมุสลิมที่เดินทางท่องเที่ยวไปยังประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม อันดับหนึ่งคือสิงคโปร์ และตามมาด้วยประเทศไทยเป็นอันดับสอง

           “ เพื่อรองรับท่องเที่ยว จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการ ให้รับทราบว่า เมื่อนักท่องเที่ยวมุสลิมมาเยือน เราจะต้องเตรียมตัวต้อนรับอย่างไร จะต้องทำอะไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นสำคัญเรื่องอาหาร เพราะอาหารฮาลาล ไม่ใช่สำหรับเฉพาะคนมุสลิมเท่านั้น แต่จะต้องอธิบายว่าเป็นอาหารเพื่อทุกคน เป็นอาหารที่สะอาด มีคุณภาพ และมีมาตรฐาน ตามที่ทุกคนต้องการ ”

             คุณอภิชัย  กล่าวว่า สำหรับภาพรวมจังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดดาวรุ่ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวกระแสหลักของเมืองไทย การท่องเที่ยว นอกจากจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจแล้ว เขามองว่า ยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางสังคม และความมั่นคงทางวัฒนธรรมอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ฮาลาลทัวริสซึม” ของจังหวัดกระบี่ อาจเริ่มจากจุดเล็กๆ แต่จุดเล็กในวันนี้หากมีการร้อยต่อกันหลายๆ จุด ก็สามารถจะขยายไปยังส่วนอื่นๆ ของจังหวัดกระบี่ หรือแม้กระทั่งในภูมิภาคอันดามันได้

              “ ในปี 2558 ตัวเลขจากกรมการท่องเที่ยวระบุว่า จังหวัดกระบี่สามารถทำรายได้เข้าจังหวัดมากถึง 78,000 ล้านบาท จากตัวเลขนักท่องเที่ยวเกือบ 6 ล้านคน ” นายอภิชัย กล่าวและว่า

               จากตัวเลขดังกล่าว ทำให้รายได้การท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ไต่ระดับติดอันดับ 4-5 ของประเทศ ประกอบด้วย กรุงเทพ, ชลบุรี, ภูเก็ต, เชียงใหม่ และกระบี่ แต่ปัจจุบันจังหวัดกระบี่ ขึ้นมาเป็นอันดับสี่ สิ่งสำคัญเมื่อการท่องเที่ยวมา“อัตลักษณ์ของท้องถิ่นจะต้องไม่ถูกทำลาย”

              อภิชัย กล่าวว่า ในทางทฤษฎีอาจมีการกล่าวว่า แหล่งท่องเที่ยวจะเป็นตัวคัดกรองนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวเอง ก็จะเป็นตัวคัดกรองแหล่งท่องเที่ยวเช่นกัน ดังนั้นเมื่อสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ทุกอย่างก็จะลงตัว อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์รายได้กับนักท่องเที่ยวย่อมมีความเกี่ยวเนื่องกัน เมื่อเราต้องการนักท่องเที่ยวคุณภาพ ดังนั้นการพยายามเพิ่มพื้นที่การท่องเที่ยวของจังหวัดให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพตามมา

              “ ในอดีตประเพณีวัฒนธรรม รวมถึงวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นบางอย่างได้หายไป ดังนั้นการท่องเที่ยว จะเป็นส่วนกระตุ้นให้ประเพณีและวัฒนธรรม กลับมาอีกครั้ง เนื่องจากปัจจุบันนักท่องเที่ยวมีการพัฒนาความต้องการการท่องเที่ยวที่แปลกใหม่ ต้องการมีประสบการณ์ใหม่ๆ จากการท่องเที่ยว อีกทั้งยังได้ความรู้จากการท่องเที่ยวอีกด้วย”


               การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหรือ ททท. เราเป็นหน่วยงานเพื่อมาทำการต่อยอด เติมเต็มนักท่องเที่ยวให้กับชุมชนเท่านั้น สำหรับการสร้างความเข้าใจ และการเป็นเจ้าบ้านในการต้อนรับที่ดี และเตรียมสถานที่ท่องเที่ยว เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องไปสร้างองค์ความรู้ร่วมกัน

               “ ททท.มีนโยบายในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและโดดเด่น เพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีกำลังซื้อมา เพื่อสัมผัสประสบการณ์กับชุมชน เป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนจากการท่องเที่ยว แต่การท่องเที่ยวก็ไม่ประสงค์จะเปลี่ยนวิถีชีวิต เพราะนี่คือสิ่งเปราะบางที่สุด ดังนั้นชุมชนจะต้องรักษาอัตลักษณ์ และอาชีพของตนเองไว้ นั่นคือ จะเป็นการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ” นายอภิชัยกล่าว

ตีพิมพ์ครั้งแรก : นิตยสารอะลามี่ ฉบับเดือนสิงหาคม 2559