Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   แฉเส้นทางเครื่องราชย์มาเลเซีย (Part 3)

แฉเส้นทางเครื่องราชย์มาเลเซีย

“ดาโต๊ะ”ปลอม หรือ ของจริง (ตอน 3 )

ตอน:  เปิดกฎหมายเอาผิด แจกเครื่องราชย์ปลอม 

โดย นิกรากิ๊บ นิก ฮัสซัน

            สำนักข่าวอะลามี่  ในระบบโครงสร้างการปกครองในอดีต บรรดาขุนนางมลายูชั้นผู้ใหญ่มักมีคำว่า “ดาโต๊ะ” นำหน้า 

            คำว่า ”ดาโต๊ะ” จึงมีความหมายและความขลังค์ในสังคมมลายูจนถึงปัจจุบัน  


            สำหรับใน “รัฐกลันตัน” มีกลุ่มที่กล่าวอ้างว่าสืบเชื้อสายจากผู้ปกครองรัฐกลันตันก่อนหน้าราชวงศ์ปัจจุบันอยู่  2-3 กลุ่ม กลุ่มแรกภายใต้สมาคมที่ชื่อว่า สมาคมเชื้อสายราชาเยิมบาลกลันตัน (Persatuan Kerabat Raja Jembal Kelantan) โดยกลุ่มนี้ระบุว่า เขาสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์เยิมบาล ซึ่งเป็นราชวงศ์ก่อตั้งโดยราชาบือซาร์ (Raja Besar) ที่ปกครองรัฐกลันตัน ก่อนราชวงศ์ปัจจุบัน


            กลุ่มนี้มี อัลมัรฮูม ดาโต๊ะ นิอับดุลอาซีซ บินนิมัต ( Almarhum Dato’ Nik Abdul Aziz Nik Mat) อดีตมุขมนตรีรัฐกลันตัน ผู้เสียชีวิตแล้วเป็นผู้สืบเชื้อสายด้วย  กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างไม่มีปัญหา  ทางสมาคมฯ มีการจัดนิทรรศการแสดงสาแหรกของตระกูลที่พิพิธภัณฑ์แห่งรัฐกลันตัน เมืองโกตาบารู  ปัจจุบันมี นายฮัจยีนิยูซุฟ บินนิมูฮัมหมัด เป็นนายกสมาคม และหลังจาก ดาโต๊ะนิอับดุลอาซีซ บินนิมัต สิ้นชีวิต ทางสมาคมได้แต่งตั้ง นายนิมูฮัมหมัด อัมมาร์ บินนิอับดุลลอฮ  รองมุขมนตรีรัฐกลันตัน เป็นที่ปรึกษาสมาคมแทน  อย่างไรก็ตามสมาคมนี้ไม่มีการมอบยศ เครื่องราชย์แก่บุคคลใดๆ 

           กลุ่มต่อมาคือ สมาคมเชื้อสายลงกาฟาร์กลันตัน (Pertubuhan Kerabat Long Ghafar Kelantan) จัดตั้งเมื่อปี 1987 เป็นกลุ่มที่รวบรวมเชื้อสายลงกาฟาร์ ผู้ปกครองรัฐกลันตัน ยุคก่อนราชวงศ์ปัจจุบัน ทั้งสายตรงและที่เกี่ยวดองกัน

            และเมื่อตรวจดูจะพบว่า มีเหรัญญิกชื่อว่า นางฟาดิละห์ ฮุสเซ็น (Fadhilah Hussin) ต่อมาคิดว่าน่าจะเกิดความขัดแย้งกันในกลุ่มนี้ด้วยภายหลังมีการจัดตั้งสมาคมขึ้นมาใหม่อีกแห่ง ใช้ชื่อว่า “สมาคมเชื้อสายราชาเจ๊ะซีตีวันกึมบัง” (Pertubuhan Keturunan Paduka Raja Cik Siti Wan Kembang) โดยมี นางฟาดิละห์ ฮุสเซ็น (Fadhilah Hussin) เป็นนายกสมาคม โดยตั้งตัวเองเป็น Cik Wan Seri Nara Datuan Utama Paduka Raja Cik Siti Wan Kembang

             จากประวัติของสมาคมนี้ จัดตั้งในนาม ชมรมบูมีระห์มัต (Kelab Bumi Rahmat) เมื่อปี 1996 ต่อมาได้รับอนุมัติการจดทะเบียนเมื่อปี 2001 และต่อมาเมื่อ 31 กรกฎาคม 2012 ได้รับอนุมัติเปลี่ยนแปลงชื่อชมรมเป็น  Kelab Bumi Rahmat Diraja Cik Siti Wan Kembang Malaysia และ มีการเปลี่ยนชื่ออีกครั้ง โดยได้รับการอนุมัติเป็นสมาคมชื่อว่า  Pertubuhan Keturunan Paduka Raja Cik Siti Wan Kembang Malaysia หรือ สมาคมเชื้อสายราชาเจ๊ะซีตีวันกึมบังมาเลเซีย  เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2012

             นางฟาดิละห์ ฮุสเซ็น ใช้เวลาและทรัพย์สินส่วนตัว เพื่อให้สังคมยอมรับ มีการสร้างความสัมพันธ์กับสุลต่าน กษัตริย์ไร้บัลลังก์ ไร้อำนาจในโลกมลายู และบางส่วนของเชื้อพระวงศ์ที่มีอำนาจของมาเลเซีย

            ทั้งนี้ตามกฎหมายของมาเลเซีย สมาคมเชื้อสายราชาเจ๊ะซีตีวันกึมบังแห่งมาเลเซียแห่งนี้ ไม่มีสิทธิ์ใดๆ ในการมอบยศ “ดาโต๊ะ หรือ ดาโต๊ะสรี” แต่อย่างใด 

             ด้วยในปัจจุบันมีการมอบยศ เครื่องราชย์ ได้แพร่กระจายไปในหลายรัฐในมาเลเซีย ทำให้ รัฐกลันตัน มีการออกกฎหมาย เพื่อป้องกันการมอบยศโดยบุคคลอื่น รวมทั้งในรัฐกลันตันด้วย โดยประกาศเมื่อ  27 สิงหาคม 2015  บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของรัฐกลันตัน ตอนที่ 3 มาตราที่ 39 วรรคที่ 1 ว่า “..สุลต่านแห่งรัฐกลันตันเท่านั้น ที่สามารถเป็นผู้มอบยศ และเครื่องราช “ดาโต๊ะ” หรือ “ดาโต๊ะสรี”  ในรัฐกลันตัน ”

            ทางรัฐบาลมาเลเซีย ก็ได้พระราชบัญญัติเพื่อป้องกันการได้รับมอบยศ และเครื่องราชย์ปลอม โดยใช้ชื่อว่า “ พ.ร.บ. ความผิดเกี่ยวกับเครื่องราชย์ ปี 2017 ” โดยพระราชาธิบดีลงนาม เมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2017 และ ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาของมาเลเซีย เมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2017 ตอนที่ 4 เรื่องการติดสินบน ได้บัญญัติไว้ว่า มีโทษจำคุกไม่เกิน 20 ปี ต่อผู้ขอ ผู้รับ หรือ เห็นชอบให้ผู้ใดรับยศ เครื่องราชย์ที่ไม่ได้รับการรับรอง  หรือมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ต่อผู้รับยศเครื่องราชย์ และผู้ใช้ยศ เครื่องราชย์ที่ไม่ได้รับการรับรองตาม พ.ร.บ. ความผิดเกี่ยวกับเครื่องราชย์  ปี 2017 

           นอกจากนั้นยังบัญญัติเพื่อความเข้าใจอีกว่า เช่น ผู้ใดได้รับยศ เครื่องราชย์ที่ไม่ได้รับรองในปี 2010 เมื่อประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้แล้ว ผู้ใดยังใช้คำนำหน้าอยู่ ถือเป็นความผิด.

            ปัจจุบัน การใช้ตำแหน่ง ดาโต๊ะ หรือดาโต๊ะสรี ที่ได้รับมอบยศจากมาเลเซีย ยังเป็นที่ต้องการของคนมลายูทั้งในมาเลเซีย อินโดเนเซีย รวมถึงทางภาคใต้ของไทย ทำให้คนไทยหลายคนที่ได้รับการประดับยศ “ดาโต๊ะ” ที่ได้มาทั้งทางตรงและทางลัด

             เพราะเชื่อว่า การใช้คำนำหน้าว่า “ ดาโต๊ะ” ยังมีความขลังและเป็นที่ยอมรับในสังคมมลายูจนถึงปัจจุบัน