Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   ภูเก็ตฮาลาลอันดามัน 2017 ชู วิถีชุมชนสู่ท่องเที่ยวยั่งยืน

ภูเก็ตฮาลาลอันดามัน 2017 ชู วิถีชุมชนสู่ท่องเที่ยวยั่งยืน

            สำนักข่าวอะลามี่ : อบจ.ภูเก็ต เดินหน้าจัดงาน “ภูเก็ตอันดามันฮาลาลเพื่อการท่องเที่ยว “ ชี้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศมุสลิมเกิดความมั่นใจในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย


             นายวัชรินทร์ ปฐมวัฒนพงศ์ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตปฏิบัติหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตภูเก็ต กล่าวถึงศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของจังหวัด ว่า จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของประเทศไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมตะวันออกกลาง และนักท่องเที่ยวมุสลิมในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ได้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตตลอดปี และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากนักท่องเที่ยวมุสลิมในภูมิภาคอื่น ๆ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย ฯลฯ

             “  สิ่งที่มีความสำคัญต่อนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวหรือการบริการแล้ว เรื่องของอาหารยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการบริการนักท่องเที่ยวกลุ่มมุสลิมด้วย  แต่เนื่องจากการเตรียมพร้อมด้านสถานประกอบการอาหารฮาลาล และการบริการ บุคลากรผู้ให้บริการในจังหวัดภูเก็ต ยังไม่เพียงพอ ”

               นายวัชรินทร์ กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดงานภูเก็ตฮาลาลอันดามัน เพื่อการท่องเที่ยว 2560 นับเป็นกิจกรรมที่ อบจ.ให้ความสำคัญ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายของ ผู้ประกอบธุรกิจฮาลาลในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดอื่นๆ ในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการอาหารฮาลาล ผู้ประกอบการที่สนใจได้มีความรู้ ความเข้าใจ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างเครือข่าย และแสดงศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการฮาลาล

                รวมถึงการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการประชุมมาตรฐานสินค้าฮาลาล และการบริการเพื่อการท่องเที่ยว โดยใช้จังหวัดภูเก็ตเป็นศูนย์กลางการสัมมนาด้านธุรกิจบริการฮาลาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อสามารถรองรับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวและธุรกิจบริการฮาลาลในจังหวัดภูเก็ตต่อไป

               การจัดงาน“ภูเก็ตอันดามันฮาลาลเพื่อการท่องเที่ยว ประจำปี 2560” นั้น ได้แบ่งการจัดงานออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน  คือ   การจัดงานส่วนที่ 1 งานสัมมนา “ภูเก็ตอันดามันฮาลาลเพื่อการท่องเที่ยว ประจำปี 2560” เป็นการประชุมสัมมนาวิชาการ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับฮาลาลเพื่อการท่องเที่ยว และการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำธุรกิจเกี่ยวกับ ฮาลาล เพื่อการท่องเที่ยว โดยการสัมมนาจัดขึ้นในวันที่ 3 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรม เดอะ เมโทรโพล อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

                การจัดงานส่วนที่ 2 เป็นงานภาคประชาชน กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การจัดนิทรรศการเพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  มีการบรรยายศาสนธรรม  โดยผู้ทรงคุณวุฒิทางศาสนาอิสลาม การแสดงการขับร้องอะนาซีด การแสดงนิทรรศการวิทยาศาสตร์ฮาลาล การจัดการแสดงวัฒนธรรมเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวมุสลิม การจำหน่ายอาหารและสินค้า OTOP ชั้นนำของจังหวัดภูเก็ต บริษัทผู้ประกอบการฮาลาล สินค้าฮาลาล เป็นต้น โดยได้จัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน คือ วันที่ 4–6 สิงหาคม 2560 ณ เวทีกลางสะพานหิน จังหวัดภูเก็ต 

              “ องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพธุรกิจฮาลาล เพื่อการท่องเที่ยวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม ที่เข้ามาในจังหวัดภูเก็ต ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและเป็นการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการสินค้าและบริการฮาลาลในจังหวัดภูเก็ต ได้มีการตื่นตัวมากยิ่งขึ้น “ นายวัชรินทร์ กล่าวและว่า

               อย่างไรก็ตามจังหวัดภูเก็ตมีรายได้และเศรษฐกิจหลักมาจากการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่ยังขาดการกระจายรายได้สู่ชุมชนส่วนท้องถิ่นอย่างทั่วถึง ดังนั้น อบจ.ภูเก็ต มีแผนในการสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยการเสริมสร้างศักยภาพชุมชน พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และสร้างความเข็มแข็งทางการเงินฐานรากตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้

             “ เราส่งเสริมการเชื่อมต่อระหว่างเครือข่ายอุตสาหกรรม (Cluster) ในพื้นที่กับเศรษฐกิจชุมชน สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาในการร่วมกันพัฒนาความรู้ในเชิงทฤษฎีและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติประกอบธุรกิจ นายวัชรินทร์  กล่าวและว่า

              นอกจากนี้ยังสนับสนุนการประกอบธุรกิจแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวท้องถิ่น และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในชุมชนที่มีแหล่งท่องเที่ยว ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวชุมชน ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยพัฒนาความรู้ให้กับบุคลากรชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว 7 ชุมชน

                ประกอบด้วย  ชุมชนย่านเมืองเก่า , ชุมชนป่าคลอก (ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านป่าคลอก),ชุมชนหมู่บ้านวัฒนธรรมบ้านแขนน,ชุมชนเชิงทะเล (ศูนย์เรียนรู้ท่องเที่ยวเกษตรเชิงอนุรักษ์ตำบลเชิงทะเล), ชุมชนไม้ขาว, ชุมชนเกาะโหลน และชุมชนกมลา

                  นายวัชรินทร์ กล่าวย้ำว่า การจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง ความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศมุสลิมให้เกิดความมั่นใจในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะได้สัมผัสกับแหล่งท่องเที่ยว ที่สวยงามแล้ว ยังได้รับการบริการอาหารฮาลาลที่ถูกต้อง ปลอดภัย และได้มาตรฐานฮาลาลตามหลักศาสนาอิสลามอีกด้วย

                ด้าน คุณนวลจันทร์ สามารถ  สมาชิกสภาองค์กรบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าในมิติการท่องเที่ยว “หากคิดถึงประเทศไทยนักท่องเที่ยวต้องคิดถึงภูเก็ต”  ดังนั้นองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต จึงได้ส่งเสริมสนับสนุน ให้มีการจัดงาน “ ภูเก็ตฮาลาลอันดามัน เพื่อการท่องเที่ยว 2560 ”ขึ้น

               “การจัดงานดังกล่าวยังเป็นเวทีให้ผู้ที่สนใจในเรื่องของการบริการฮาลาล และอาหารฮาลาล ทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ฮาลาล เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และสร้างรายได้ให้กับพี่น้องในชุมชนจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนเป็นเวทีให้ผู้ประกอบการทั้งมุสลิมและผู้ประกอบการต่างศาสนิก  ที่สนใจเข้าร่วมงานโครงการอีกด้วย “

                 สจ.นวลจันทร์ กล่าวอีกว่า สำหรับไฮไลท์ในปีนี้ นอกจากการนำอาหารฮาลาลพื้นเมืองมาโชว์ในงานซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้เข้าร่วมงานอยู่แล้ว เราจะเพิ่มในส่วนของอาหารพื้นเมือง 4 ภาค มีบูธมาร่วมงานเกือบประมาณ 200 บูธ  โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด  เพื่อให้ผู้ประกอบการ ชุมชน และฮาลาล SME นักท่องเที่ยวได้เข้ามา ชม ชิม ช้อป อาหารพื้นเมือง ผลิตภัณท์โอทอป ของจังหวัดภูเก็ต 

             “ ภายในงานฮาลาลเอ็กซ์โป ได้รับเกียรติจาก ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน และอาจารย์ไพศาล พรหมยงค์ ประธานกรรมการอิสลามจังหวัดสมุทรปราการ ผู้เชี่ยวชาญมีประสบการณ์ ด้านฮาลาล มาให้ความรู้และร่วมสัมมนาในงานนี้ด้วย ”

             อย่างไรก็ตาม เมื่อนักท่องเที่ยวมุสลิมมาเที่ยวภูเก็ต เราในฐานะเป็นเจ้าบ้าน ก็ต้องการ การบริการฮาลาลกับนักท่องเที่ยวให้ดีที่สุด ในฐานะ อบจ.ภูเก็ต และเป็นมุสลิม ซึ่งต้องการให้พี่น้องเป็นส่วนหนึ่งในงานนี้ และได้มีโอกาสที่จะเรียนรู้ มีการพัฒนาต่อยอด อีกทั้งเราผลักดันให้โรงแรมต่างๆ ได้มีส่วนร่วม และได้รับเครื่องหมายรับรองฮาลาล เพื่อบริการนักท่องเที่ยวอย่างดีที่สุด สจ.นวลจันทร์ กล่าวและว่า

              ที่ผ่านมาผู้ประกอบการฮาลาลในจังหวัดภูเก็ต ได้มีการตื่นตัวและพัฒนาการมากขึ้น จะเห็นว่าปัจจุบันมีร้านอาหารและสถานประกอบการ ที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวมุสลิมมากขึ้น ในงานนี้เราจึงได้เชิญให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นมาร่วมในกิจกรรมงานฮาลาลเอ็กซ์โป เพื่อใช้เป็นเวทีในการโปรโมทร้านค้า อีกทั้งยังเป็นการต่อยอดในทางธุรกิจ และเราได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการภาคบริการพันธมิตร อาทิเช่นผู้ประกอบการแท็กซี่ภูเก็ต ที่พร้อมจะแนะนำนักท่องเที่ยวจากป่าตอง ให้มาเที่ยวชมงาน

การจัดงานภูเก็ตฮาลาลอันดามันเพื่อการท่องเที่ยว 2560 ในปีนี้ กลุ่มเป้าหมายหลักเราให้ความสำคัญกับคนในพื้นที่ และจังหวัดใกล้เคียงเช่น กระบี่ พังงา  นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงศักยภาพให้ชาวต่างชาติ ได้เห็นถึงฮาลาลของจังหวัดภูเก็ต

              “ การจัดงานในครั้งเป็นความร่วมมือ ของ อบจ.ภูเก็ต สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์-ให้ความรู้เรื่องฮาลาล สมาคมการค้าการท่องเที่ยวฮาลาลไทยอาเซียน-มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการจัดทำทัวร์หรือท่องเที่ยวฮาลาล ที่จะพยายามผลักดันให้มีการเปิดเส้นทางการท่องเที่ยวฮาลาลในภูเก็ต ”

                นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่นๆ อาทิเช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ต, สมาคมธุรกิจฮาลาลเพื่อการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต, สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งองค์กรทั้งหมดมีความความตั้งใจในการจัดงานนี้ให้เกิดประโยชน์กับจังหวัดภูเก็ต

              “ สิ่งที่อยากนำเสนอมากที่สุดคือ ด้วยสภาพการท่องเที่ยวภูเก็ตที่เป็นภาพความหรูหรา แต่ยังมีวิถีชีวิตของคนภูเก็ตแบบดั้งเดิม ซ่อนความสวยงามในชุมชนต่างๆ เราจึงพยายามขับเคลื่อนการท่องเที่ยววิถีชุมชน สู่การท่องเที่ยวอีกมิติหนึ่งของภูเก็ต

                สจ.นวลจันทร์ กล่าวย้ำว่า การท่องเที่ยวชุมชน ถือว่าเป็นเรื่องใหม่และเป็นจุดขายใหม่ นักท่องเที่ยวที่ต้องการจะมาดู วิถีชุมชน วัฒนธรรม เช่น ไทยพุทธ อิสลาม จีนและอินเดีย ซึ่งอยู่ด้วยความกลมกลืน อีกทั้งในเรื่องของการแต่งกายที่เป็นอัตลักษณ์ เช่น ยะหยา (มลายูมุสลิม) บะหบา (คนไทยเชื้อสายจีน) ผ้าปาเต๊ะ ต่อยอดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนต่อไป