Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   นักวิชาการผสานเสียง ต้องการผู้นำศาสนาที่มีวิสัยทัศน์

39 จังหวัดคึกคักเลือกกรรมการอิสลามทั่วประเทศ (ตอน3)

นักวิชาการผสานเสียง ต้องการผู้นำศาสนาที่มีวิสัยทัศน์ 

 

            วันที่ 23  พฤศจิกายน 2560 คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ 39 จังหวัด จะหมดวาระการดำรงตำแหน่ง หลังจากมีวาระ 6 ปี โดยคาดว่าวันที่ 27 พฤศจิกายน ก็จะมีการคัดเลือกคณะกรรมการชุดใหม่

           แม้ว่าคณะกรรมการชุดนี้จะไม่หมดวาระทันที แต่บรรยากาศการเตรียมหาเสียงและการคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เริ่มมีการเคลื่อนไหว บ้างก็มีรายงานว่ามีการตกเขียวกันไปก่อนหน้านี้แล้ว บางพื้นที่มีการเตรียมวางตัวผู้สมัคร และแข่งขันกันอย่างดุเดือด

            เพื่อเป็นการปูทางไปสู่การคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด สภาองค์การมุสลิมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนิตยสาร ดิ อะลามี่  ได้เปิด Forum “ การคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด กับบทบาทของมัสยิด ในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ  ” เมื่อวันเสาร์ ที่ 7 ตุลาคม 2560 ณ โรงแรมอัลมีรอช กรุงเทพมหานคร

            นายอภิรัฐ สะมะแอ อดีต ผู้อำนวยการกองประสานราชการ กรมการปกครอง กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมการปกครอง เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดส่งผลงานการปฏิบัติงาน มีการส่งผลงานมา 34 จังหวัด จาก 39 จังหวัด แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มขนาดใหญ่ กลาง และขนาดเล็ก ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของคณะกรรมการประจำจังหวัด มีการพัฒนาในการทำงาน

            ทั้งนี้เป้าหมายของการตรวจเยี่ยม เพื่อเสนอเรื่องยุทธศาสตร์และการทำงานแบบมีเป้าหมาย ซึ่งบางจังหวัดก็น่าเห็นใจ เนื่องจากมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามไม่ถึง 1,000 คน โดยพยายามเข้าไปส่งเสริม เรื่องการศึกษาเป็นสำคัญ และสร้างกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้เยาวชนอยู่ในกรอบศาสนา เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและสร้างคนดี และการจัดตั้งกองทุนซะกาต เป็นต้น

             นายนิติ ฮาซัน กรรมการตรวจเยี่ยมและประเมินผลการปฏิบัติงาน กรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ (กรมการปกครอง) กล่าวว่า จากการลงไปตรวจพื้นที่ พบว่าหลายจังหวัดมีการพัฒนาที่ดีขึ้น ทั้งนี้ กรมการปกครอง จะมีตัวชี้วัดแบบประเมิน คณะกรรมการจังหวัด จะต้องสอดคล้อง อาทิเช่น วิสัยทัศน์ การวางแผนและยุทธศาสตร์กลยุทธ  และการพัฒนาองค์กรสอดคล้องกับ พรบ. ซึ่งหลายจังหวัดมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

            อย่างไรก็ตามพบว่า กรรมการอิสลามประจำจังหวัดส่วนใหญ่ ยังไม่เข้าใจในเรื่องการวางแผนยุทธศาสตร์  รวมถึงการบริหาร เรื่องนี้ได้ฝากให้กรมการปกครอง เพิ่มความเข้มงวด และจะทำให้เกิดประโยชน์กับสังคมชุมชนให้มากที่สุด

              ส่วนเรื่องความขัดแย้งในชุมชน (พหุสังคม) ประเด็นเรื่องชาวพุทธกับมุสลิม ที่มีความเข้าใจไม่ตรงกัน เช่น จังหวัดเชียงใหม่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง “ดำเนินการสานเสวนา” ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ

            การเป็นพหุสังคม เรื่องของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เช่น มัสยิดบ้านฮ่อ กำแพงมัสยิดติดวัด เป็นมัสยิดที่มีความก้าวหน้าและมีความสัมพันธ์ที่ดี บางจังหวัดที่มีผลงานดีเด่น ควรหยิบยกมานำเสนอให้สังคมได้รับทราบด้วย

              ดร.อารง สุทธาศาสน์ นักวิชาการ จากมหาวิทยาลัยปทุมธานี  กล่าวว่า โครงสร้างของมุสลิมในแต่ละจังหวัดมีผลต่อการพัฒนาสังคม โดยแยกออกเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้

               ในระดับบนหรือระดับจังหวัด จะมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดควบคุม จากนั้นมีคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด มีอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น มีหน้าที่ในการดูแลสัปบุรุษ ทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม หน่วยงานที่สำคัญที่สุดคือ “มัสยิด” เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นบ้านของอัลเลาะห์ ถ้ามัสยิดขอความมือร่วมมือในกิจกรรมอะไร เชื่อว่ามุสลิมทุกคนก็ยินดีและเต็มใจให้ความร่วมมือ

              จากประสบการณ์พบว่า องค์ประกอบดังกล่าว ไม่สามารถเดินเครื่องที่ดีพอ เนื่องจากคณะกรรมการอิสลาม ยังไม่ได้ทำหน้าที่ให้เต็มที่ จึงอยากเห็นผู้นำองค์กรอิสลาม ทั้งในระดับมัสยิด และผู้นำอิสลามในระดับจังหวัด ต้องมีวิสัยทัศน์ มีความรู้ คาดว่าจะสามารถพัฒนาไปได้มากกว่าที่เป็นอยู่

              “ ปัจจุบันมัสยิดใหญ่ขึ้น แต่คนละหมาดน้อยลง อย่าไปโทษประชาชนว่าไม่มาละหมาด แต่ผู้นำจะต้องคิดว่าเกิดอะไรขึ้น ทั้งๆ ที่การมามัสยิดเป็นข้อบังคับสำคัญที่อิสลามกำหนดไว้ ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นตัวชี้เรื่องความสำเร็จในการบริหารของคณะกรรมการ และอิหม่ามจะต้องสำรวจว่ามีมนุษย์สัมพันธ์กับชุมชนแค่ไหนอย่างไร

                นอกจากนี้ประเด็นเล็กๆ ที่สร้างความขัดแย้งกับชุมชนที่ทำให้ชุมชนแตกแยก ก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด หรือ สำนักจุฬาราชมนตรี ที่จะต้องคลี่คลายหรือออกมาชี้แจง จะทำให้ปัญหาอื่นๆ น่าจะคลี่คลายได้ไม่ยาก

               ดร.ศราวุฒิ อารีย์  ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวว่า การคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่จะถึงนี้ เป็นอีกวาระหนึ่งสิ่งสำคัญคือต้องรู้ถึงสถานการณ์และสภาพการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น

ในปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป  โลกของคลื่นลูกที่ 3 เป็นยุคของเทคโนโลยีของการสื่อสาร โลกยุคไร้พรมแดน ผู้นำในระดับต่างๆ  ของมุสลิม จะต้องเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ไม่เฉพาะแต่เรื่องของศาสนาเท่านั้น แต่จะต้องรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน

            “เรื่องพหุสังคม แสดงถึงปัญหาที่ซับซ้อนพอสมควร เพราะฉะนั้น วันนี้ผมคิดว่า ผู้นำในระดับต่างๆ อาจจะไม่เหมือนสมัยก่อน จะอยู่ในยุคของช่วงเปลี่ยนผ่านมีสิ่งท้าทายเกิดขึ้นมากมาย วันนี้เราต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ เป็นประเด็นสำคัญ”

             สำหรับปัญหาในสังคมมุสลิม  มี 3 ปัญหา คือ 1. สังคมมุสลิมยังขาดเรื่องของการศึกษาและความไม่รู้ กลายเป็นอุปสรรคและเป็นปัญหาของเรื่องต่างๆ  2. เรื่องของความยากจน เป็นอุปสรรคและปัญหา ซึ่งรายงานการวิจัยศูนย์นโยบายโลกมุสลิม จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นด้านเศรษฐศาสตร์ ว่า เรายังมีความยากจนสูงกว่าเมื่อเทียบกับสังคมภายนอก

             3. เรื่องของความแตกแยก พบว่ามีในระดับค่อนข้างสูง เราอยู่ในช่วงยุคเปลี่ยนผ่านไม่พอ ยังมีความท้าทายในยุคโลกาภิวัฒน์ แต่ในสังคมข้างในพบว่า เรายังมีปัญหาอีกมาก ทั้งเรื่องความแตกแยก ซึ่งมีรากมาจากการขาดการศึกษา

            ดร.ศราวุฒิ สรุปและชี้ให้เห็นว่า สังคมต้องการความหวังของการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำศาสนาและผู้นำองค์กร ผู้นำภาคประชาสังคม  ทั้งนี้ยืนยันว่า สังคมมุสลิมต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องเชื่อมั่นในผู้นำ นำโดย ท่าน จุฬาราชมนตรี เพื่อสร้างสังคมที่มีความเป็นเอกภาพ    

            ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู ประธานเครือข่ายสหกรณ์อิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการกำเนิดของกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มีที่มาแตกต่างกันในแต่ละท้องที่ เช่น ทางใต้เป็นความจำเป็นทางด้านวิถีของการดำเนินชีวิต แต่พบว่าบทบาทยังไม่เต็มที่ แต่หลายแห่งมีความจำเป็นในเรื่องการปฏิบัติศาสนกิจ ทั้งนี้อยากชี้ให้เห็นว่าการบริหารองค์กรนั้น ไม่ใช่เพียงเรื่องศาสนาเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมในเรื่องระบบเศรษฐกิจด้วย

              นอกจากนี้ การคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่กำลังจะเกิดขึ้น พบว่ามีการใช้เงินในการในการได้มาซึ่งตำแหน่ง จะมีหน่วยงานไหนเข้ามาตรวจสอบ หรือ ตรวจจับการใช้เงินขององค์กรดังกล่าว

              อย่างไรก็ตาม องค์กรที่มีอยู่กับชุมชนและมีการจัดตั้งถูกต้องตามกฎหมาย คือ มัสยิด ทั้งนี้มัสยิดสามารถที่ยกระดับเศรษฐกิจของพี่น้องในชุมชน หากผู้นำให้ความสำคัญเรื่องระบบเศรษฐกิจ และการสะสมเงินที่ปราศจากดอกเบี้ย

             ทั้งนี้ระบบการเงินเล็กๆ ในชุมชนที่เรียกว่า สหกรณ์ออมทรัพย์อิสลาม ในปัจจุบันมีเงินหมุนเวียนเกือบ 2 หมื่นล้านบาท “โดยอาศัยความเชื่อมั่นและความมีสัจจะในกรอบของอิสลาม”

             “ หากองค์กรศาสนามีความเข้มแข็ง และให้ความสำคัญกับระบบการเงินและเศรษฐกิจ เชื่อว่า จะเกิดกลุ่มออมทรัพย์สัจจะ ขึ้นจำนวนมาก ทั้งนี้ไม่ใช่เรื่องขององค์กรระดับจังหวัดเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องให้ความสำคัญกับองค์กรระดับมัสยิด ให้มากขึ้น เพราะเป็นองค์กรที่อยู่กับประชาชนอย่างแท้จริง ”

หมายเหตุ : http://www.thealami.com/main/content.php?page=grid3&category=2&id=1857

   http://www.thealami.com/main/content.php?page=grid3&category=2&id=1875