Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   Thailand Halal Assembly 2018 ฉลอง 20 ปีมาตรฐานฮาลาลไทย

Thailand Halal Assembly 2018

ฉลอง 20 ปีมาตรฐานฮาลาลไทย

ภายใต้ธีม “ บูรณาการฮาลาลแม่นยำในยุคเศรษฐกิจชีวภาพ

   
                 สำนักข่าวอะลามี่ : Thailand Halal Assembly 2018 ฉลอง 20 ปีมาตรฐานฮาลาลไทย ภายใต้แนวคิด “Precision Halalization in The Bioeconomy Era” หรือ “บูรณาการฮาลาลแม่นยำในยุคเศรษฐกิจชีวภาพ” ระดมนักวิชาการทั่วโลก สัมมนาเรื่องฮาลาล 14-16 ธันวาคม ไบเทค บางนา


               เมื่อวันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ที่โถงลานหน้าออฟฟิศ ชั้น G อาคารจามจุรีสแควร์  รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และ รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน “Thailand Halal Assembly 2018”

              สำหรับงาน “Thailand Halal Assembly” หรือ THA  ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) ในฐานะเจ้าภาพหลักร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (สกอท.) และ สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย จัดการประชุมวิชาการและการแสดงสินค้านานาชาติ “Thailand Halal Assembly 2518” หรือ THA 2018 ปีนี้จะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 14 – 16 ธันวาคม 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด “ Precision Halalization in The Bioeconomy Era” หรือ “ บูรณาการฮาลาลแม่นยำ ในยุคเศรษฐกิจชีวภาพ”

             คำว่า การฮาลาลแม่นยำ หรือ Precision Halalization เป็นการสื่อให้ทุกฝ่ายได้รับทราบว่ากิจการฮาลาลประเทศไทย กำลังพัฒนาสู่ยุคสมัยแห่งการฮาลาลแม่นยำ เช่นเดียวกับยุคการแพทย์แม่นยำ (Precision medicine) และการเพาะปลูกแม่นยำ (Precision farming) ที่ได้รับการกล่าวขานกันก่อนหน้านี้” รศ.ดร.วินัย กล่าวและว่า

              การบูรณาการฮาลาลแม่นยำ เป็นความพยายามของประเทศไทย ในการผสมผสานเทคโนโลยีเพื่อการรับรองฮาลาล ไม่ว่าจะการตรวจทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาล โดยนำระบบ H-number ที่พัฒนาขึ้นใหม่เข้ามาใช้ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารสามารถเลือกวัตถุดิบฮาลาลได้อย่างถูกต้อง ไม่จำเป็นต้องตรวจการปนเปื้อนในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อีกต่อไป และเลือกใช้ห้องปฏิบัติการเฉพาะที่จำเป็น ในระบบการมาตรฐานฮาลาล มีการพัฒนาระบบ HAL-Q Plus เพื่อให้การดำเนินงานการมาตรฐานฮาลาล เป็นไปอย่างจำเพาะโดยใช้เวลาสั้น และเลือกทำเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนหะรอมเท่านั้น”

           รศ.ดร.วินัย กล่าวอีกว่า นอกจากระบบห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลและระบบการมาตรฐานฮาลาลที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นการใหญ่แล้วนั้น อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญเช่นเดียวกันก็คือ “มาตรฐานและมาตรวิทยา” ซึ่งทาง SMIIC ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

             สำหรับปีนี้ นับเป็นก้าวที่สำคัญ โดย สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย  มีวาระครบรอบ 20 ปี ของการก่อตั้งสถาบันฯ ในงาน THA 2018 ครั้งนี้ จะร่วมกับ ศวฮ.เพื่อพัฒนามาตรฐานฮาลาลใหม่ๆ ให้กับประเทศไทยอย่างน้อย 5 – 6 มาตรฐาน เพื่อให้ครอบคลุมการดำเนินงานฮาลาลในทุกๆ ด้าน เพราะการใช้มาตรฐานฮาลาลที่ถูกต้องมีส่วนสำคัญในการพัฒนางานบูรณาการฮาลาลแม่นยำนั้นเอง

            ด้าน พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในความพยายามทั้งหมดนั้นก็เพื่อผลักดันไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางฮาลาลในการกระจายสินค้าไปทั่วโลก

              พล.ต.ต.สุรินทร์ ระบุว่า กว่าจะมีวันนี้ กอท.ได้จับมือกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์ฯ เพื่อพัฒนาดำเนินการเร่งรัดกระบวนการออกตรารับรองฮาลาลให้สั้นลง และได้ปรับปรุงมาใช้ระบบออนไลน์ จากที่ใช้เวลาดำเนินการ 2-3 เดือน ปัจจุบันนี้เหลือเพียง 15 วัน ตั้งแต่กระบวนการตรวจสอบ ไปจนถึงกระบวนการออกใบรับรอง ผลการทำงานดังกล่าวส่งผลสนับสนุนให้การส่งออกอาหารฮาลาลของไทยขยายตัวมากขึ้น

              ด้าน รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย กล่าวในงานแถลงข่าวเดียวกันนี้ว่า มาตรฐานฮาลาลนั้นถือว่าเป็นเรื่องใหม่มากเมื่อเทียบกับมาตรฐานอื่นๆ เขาอธิบายว่า ฮาลาลกลายเป็นมาตรฐานสากล จากการที่คณะกรรมาธิการกำหนดกฎเกณฑ์ด้านอาหาร (The Codex Alimentarius Commission or CAC) หรือ “โคเด็กซ์” ภายใต้การทำงานร่วมกันระหว่างองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ กับองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ซึ่งมีสมาชิกอยู่ 165 ประเทศขณะนั้น ได้มีมติร่วมกันในวันที่ 27 กรกฎาคม 1997 รับรองแนวทางการใช้คำว่าฮาลาลบนฉลากอาหารเพื่อใช้เป็นมาตรฐานร่วมกันทั่วโลก

             นั่นนับเป็นครั้งแรกที่คณะกรรมาธิการโคเด็กซ์ ยอมรับให้ฮาลาลกลายเป็นมาตรฐานในเชิงวิทยาศาสตร์ โดยใช้ชื่อว่า General Guidelines for Use of the Term ‘Halal’ (CAC GL-24/1997)

             และนั่นคือ “ก้าวผ่านที่สำคัญของฮาลาล ในเวทีโลก” ดร.ปกรณ์ เน้นย้ำและบอกด้วยว่า “ ไทยเป็นประเทศที่ฉับไวในการก้าวตามมติดังกล่าวนั้น ”

            ดร.ปรกรณ์ อธิบายว่า ไทยในฐานะหนึ่งในประเทศสมาชิกโคเด็กซ์ได้ตอบรับการยกระดับมาตรฐานฮาลาลดังกล่าวและนำมากำหนดเป็นมาตรฐานฮาลาลของประเทศผ่านสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ใช้ชื่อว่า“ข้อแนะนำทั่วไปสำหรับการใช้คำว่าฮาลาล” หรือ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก. 1701-2541 ส่งผลให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศแรกของโลก ที่กำหนดมาตรฐานฮาลาลขึ้นมาใช้

              “ ทั้งนี้การขยายตัวของการรับรองเครื่องหมายฮาลาล พบว่า ในอดีต ก่อนปี2560มีผู้ประกอบการที่มายื่นขอเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาลประมาณ  600-700 ผลิตภัณฑ์ และกลายเป็น 130,000 ผลิตภัณฑ์ ในปัจจุบัน ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทยเราอยู่อันดับ 8 ของโลก เรามีแผนผลักดดันไปสู่อันดับหนึ่งให้ได้ ตามขั้นบันได โดยในปี 2563 เรามีแผนที่จะส่งออกเป็นอันดับ 5 ของโลก “  ดร.ปรกรณ์ กล่าว.

              สำหรับการประชุมวิชาการและการแสดงสินค้านานาชาติ “Thailand Halal Assembly 2018” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 16 ธันวาคม 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด “บูรณาการฮาลาลแม่นยำในยุคเศรษฐกิจชีวภาพ” กิจกรรมในงานประกอบด้วย งานประชุมวิชาการนานาชาติ ด้านวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม และธุรกิจฮาลาล (HASIB) ครั้งที่ 11, การประชุมองค์กรรับรองฮาลาลนานาชาติ ครั้งที่ 5, นิทรรศการเฉลิมฉลอง 20 ปี มาตรฐานฮาลาลไทย, การจับคู่เจรจาทางธุรกิจฮาลาล, การเสวนาในหัวข้อต่างๆ และงาน Thailand International Halal Expo 2018 หรือ THIHEX 2018 เป็นงานแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลทั้งไทยและต่างประเทศมากกว่า 350 บูท