Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   เอกชนชี้ปรับค่าจ้างใหม่ไม่ตอบโจทย์คนภูเก็ต

เอกชนชี้ปรับค่าจ้างใหม่ไม่ตอบโจทย์คนภูเก็ต

โดย : สาลินี่ ปราบ

              สำนักข่าวอะลามี่  : ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ-เงินเดือน ป.ตรี 15,000 บ.ส่งผลกระทบวงกว้าง ไม่ตอบสนองปัญหาที่แท้จริง เหตุค่าครองชีพพุ่งไปรอก่อนแล้ว

                 ในการอภิปรายเรื่อง “วิเคราะห์และศึกษาผลกระทบนโยบายประชานิยมค่าแรงและเงินเดือน...ของนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ทำได้จริงหรือ ?”  ซึ่งคณะกรรมาธิการการเงินการคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา และ คณะอนุกรรมาธิการนโยบายการเงิน การคลังและงบประมาณ จัดขึ้นที่โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ เพื่อรับทราบข้อมูลและความเห็นต่อนโยบายการขึ้นค่าแรง และการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ  ผลดีและผลเสีย ตลอดจนปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากนโยบายดังกล่าว

            โดย นพ.ศิริชัย ศิลปอาชา ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นนโยบายการหาเสียงของนักการเมือง ซึ่งจะทำได้จริงหรือไม่เป็นอีกเรื่อง ดังนั้นจึงอยากให้มีการแก้ปัญหาตั้งแต่ระบบโครงสร้างของการเลือกตั้งและการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งน่าจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนหนึ่งให้เลือกตั้งตามจำนวนประชากรของแต่ละจังหวัด กับอีกส่วนหนึ่งให้พิจารณาจากการเสียภาษี ซึ่งจะเกิดความสมดุลมากขึ้น แต่ก็คงเป็นเรื่องยาก

           ส่วนการปรับขึ้นค่าจ้างตามนโยบายรัฐบาลทั้งค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันและเงินเดือน 15,000 บาทนั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำตามที่หาเสียไว้ หากมองในแง่ดีก็จะเป็นการกระจายรายได้สู่คนทำงาน และในระยะยาวหากรอดไปได้ก็จะเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ และระบบการจัดการด้านแรงงานของไทยจะดีขึ้น ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องหามาตรการช่วยเหลือเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้      

            ขณะที่ นางธันยรัศม์ อัจฉริยะฉาย สมาชิกวุฒิสภา จ.ภูเก็ต และประธานคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยววุฒิสภา กล่าวว่า แม้ภูเก็ตจะทำรายได้จากการท่องเที่ยวมาเป็นอันดับ 2 ของประเทศ แต่ที่ผ่านมาไม่มีรัฐบาลชุดใดให้ความสำคัญกับเรื่องการท่องเที่ยว รวมทั้งรัฐบาลชุดนี้ด้วย ซึ่งไม่มีผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง และมักมองว่าภูเก็ตรวยแล้วจึงมีการจัดงบประมาณในการพัฒนาลงมาค่อนข้างน้อย แต่ในความเป็นจริงแม้ว่าตัวเลขของนักท่องเที่ยวจะมีจำนวนมาก แต่จำนวนรายได้กลับเท่าเดิมหรือบางครั้งอาจจะน้อยกว่า เนื่องจากจำนวนห้องพักที่เพิ่มมากขึ้น โดยในปีนี้จังหวัดภูเก็ตมีห้องพักเพิ่มมากกว่า 10,000 ห้อง ในขณะที่รายได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่เจ้าของกิจการส่วนใหญ่ก็จะเป็นชาวต่างชาติ

            นางธันยรัศม์ กล่าวด้วยว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นแม้เป็นเรื่องที่ดีสำหรับลูกจ้างหรือแรงงาน แต่ขณะเดียวกันก็มีปัญหาในเรื่องของการจ้างงาน เพราะปัจจุบันไม่เฉพาะแรงงานไทยเท่านั้นแต่ยังมีแรงงานต่างด้าวก็เรียกร้องค่าจ้างในอัตราที่เท่ากัน ซึ่งจะส่งผลให้มีการปรับลดพนักงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เพราะเงินเดือนเป็นต้นทุนซึ่งอยู่ในอัตราส่วนประมาณ 25-30% นอกจากนี้ยังจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่นอกภาคการท่องเที่ยว เช่น เกษตร ประมง เป็นต้น ที่จะต้องมาแบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ดังนั้นการแก้ปัญหาดังกล่าวควรจะเริ่มตั้งแต่ต้นทาง และเห็นด้วยที่จะปรับขึ้นค่าจ้างแต่ควรจะเป็นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป

               ในส่วนของโรงแรมเองก็ต้องแบกรับค่าแรงที่สูงขึ้นเพราะแม้แต่แรงงานพม่าเองก็มาร้องขอค่าแรงเท่ากับคนไทย ซึ่งขณะนี้ในส่วนของโรงแรมตนก็มีการประชุมเพื่อที่จะปรับลดคนทำงานให้น้อยลงเพื่อที่จะลดค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ภาครัฐจะต้องเข้าไปดูแล และที่สำคัญตนเห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่จะต้องเป็นลักษณะของการค่อยเป็นค่อยไป ไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการก็จะต้องมีการปิดตัวลงอย่างแน่นอน รวมทั้งที่ผ่านมาการช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐบาลต่อภาคการท่องเที่ยวมีน้อยมาก นางธันยรัศม์กล่าว

             ด้าน นายภูมิกิตต์ รักแต่งาม อุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การปรับค่าแรงเพิ่มมากขึ้นดีกว่าค่าแรงน้อยอย่างแน่นอน แต่การปรับขึ้นค่าแรงนั้นควรจะมาจากการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์และเป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่นักการเมือง เพราะจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการอธิบายที่มาที่ไปหรือโครงสร้างของการปรับค่าแรงเป็น 300 เท่ากันทั่วประเทศ หรือ ปรับขึ้นเงินเดือน 15,000 บาท ซึ่งมองว่าไม่น่าจะเป็นไปได้จริง เพราะแต่ละพื้นที่จะมีค่าครองชีพที่แตกต่างกัน และการทำเช่นนี้ก็เหมือนกับการแก้ปัญหาเรื่องหนึ่งแต่กลับไปสร้างปัญหาอีกเรื่องหนึ่งซึ่งไม่ใช่วิธีการบริหารจัดการที่จะเดินหน้าไปได้ดี

              “หลังจากที่มีการประกาศปรับค่าแรงและเงินเดือน ปรากฏว่าค่าครองชีพได้ปรับไปรออยู่แล้ว ดังนั้นแม้จะปรับขึ้นก็ไม่ทันกับค่าครองชีพ และความคาดหวังที่ว่าเงินเดือนที่ปรับขึ้นจะเหลือเพิ่มขึ้นก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ซึ่งก็จะไปกระทบกับภาพรวมทั้งหมด และการประกาศนำร่อง 7 จังหวัดนั้นก็จะสร้างปัญหาให้กับจังหวัดดังกล่าว เพราะจะต้องแบกรับปัญหาการไหลบ่าของแรงงาน ปัญหาสังคมต่างๆ เนื่องจากในการจัดสรรงบประมาณจะคิดตามรายหัวของประชากรที่มีอยู่ตามทะเบียนราษฎร “ นายภูมิกิตติ์ กล่าวและว่า

              ส่วนตัวเชื่อว่าคนเก่งในรัฐบาลมี แต่ทำไมไม่มองทั้งระบบ และตนพร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายดังกล่าว แต่นั่นรัฐบาลต้องให้ภูเก็ตเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการท่องเที่ยวเพื่อให้สามารถบริหารจัดการงบประมาณได้เอง