Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   ธงรบ ด่านอำไพ : มือบริหาร I AM นำสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ สู่องค์กรต้นแบบ

ธงรบ ด่านอำไพมือบริหาร I AM

นำสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ สู่องค์กรต้นแบบ


 
“ ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจแบบกลับด้าน มองของเสียให้เป็นโอกาส ”  ธงรบ ด่านอำไพ


   
หนึ่งใน บริษัท บริหารสินทรัพย์ ที่เพิ่งจัดตั้งใหม่ในรูปแบบของรัฐวิสาหกิจ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง เพื่อบริหารสินทรัพย์ที่โอนถ่ายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ จากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย นั่นคือ บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด หรือ ไอแอม ( Islamic Bank Asset Management Ltd. : IAM)

           ก่อนอื่นมาทำความรู้จักบริษัทไอแอม หรือ  I AM เป็นคำย่อของบริษัทเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่กระทรวงการคลังถือหุ้น 100 % ชื่อเต็มๆก็คือ บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (Islamic Bank Asset Management Ltd. : IAM)

          วันนี้ ไอแอม กำลังก้าวยิ่งสู่ปีที่สาม ที่มีลักษณะการบริหารที่ต่างจาก บริษัทบริหารสินทรัพย์ทั่วไป บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (Islamic Bank Asset Management Ltd. : IAM) จัดตั้งขึ้นตามมติ ครม. ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2559 และจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่า ด้วยบริษัทจำกัด ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2559  มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่ง กระทรวงการคลัง ถือหุ้นทั้งหมด อยู่ภายใต้สังกัดของกระทรวงการคลัง และให้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเป็นหน่วยงานกำกับดูแล

          นายธงรบ ด่านอำไพ ผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งได้รับการคัดเลือก และแต่งตั้งนับตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2561 กล่าวกับ นิตยสาร อะลามี่ ถึงบทบาทการทำงานว่า I AM มีภารกิจหลักคือ การบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (Non-Performing Financing : NPF) จากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย มาบริหารจัดการ ภายใต้หลักชะรีอะฮ์ ตามสัญญาสินเชื่อ ที่ได้รับโอนมาซึ่งเป็นส่วนลูกค้าที่ไม่ใช่มุสลิม รวมถึงหลักประกันของสินทรัพย์จากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และนำไปบริหาร หรือจำหน่ายเท่านั้น ตามแนวทางที่กระทรวงการคลังเสนอ

          โดยสรุปก็คือ I AM  จะบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ที่รับโอนมาจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย มูลค่าจำนวน โดยประมาณ 49,000 ล้านบาท โดย  I AM มีภารกิจบริหารจัดการ เรียกเก็บหนี้ ด้วยมาตรการทางกฎหมาย การดำเนินคดี บังคับคดี เจรจาแก้ไขหนี้ต่างๆ และ การบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ “               

ผลประกอบการปี 61 ทะลุเป้า


            สำหรับการดำเดินงานตลอด 1 ปีที่ผ่านมา นายธงรบ กล่าวว่า คณะทำงานและผู้บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด ได้จัดแถลงผลประกอบการในปี 2561 และทิศทาง เป้าหมาย การดำเนินการงาน ปี 2562 ตลอดจนแผนระยะยาว 7 ปี (2562 - 2568) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา

            อย่างไรก็ตามแม้ว่าผลประกอบการในปี 2560 อาจไม่เห็นภาพที่ชัดเจนมากนัก เนื่องจากบริษัทฯ อยู่ในระหว่างการถ่านโอนภารกิจ อีกทั้งยังไม่มีผู้บริหารที่ชัดเจน ทำให้จัดเก็บหนี้ได้เพียง 54 ล้านบาท มีผลกำไรไม่มาก แต่หลังจากที่เข้ามาทำงานนับตั้งแต่กลางปี 2561 ที่ผ่านมา ทำให้การทำงานเริ่มมีเป้าหมายที่ชัดเจน และมีทิศทางในการกำหนดนโยบายมากขึ้น

            สำหรับในปี 2561 บริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด หรือไอแอม สามารถเรียกเก็บหนี้ได้ในประมาณ 2,087 ล้านบาท และ สามารถทำกำไรได้ประมาณ 693 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขหลังหักภาษีแล้ว (ตัวเลขประมาณการก่อนการตรวจสอบ) นับว่าเป็นผลงานที่น่าพอใจและสามารถทำได้เกินเป้าที่วางไว้

           ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่เรียกเก็บหนี้ได้ส่วนใหญ่กว่า 1,000 ล้านบาท มาจากการบังคับคดี ขายทอดตลาด ที่เหลือเป็นการประนอมหนี้ในชั้นบังคับคดี และมีลูกหนี้รายย่อยอีกจำนวนหนึ่งที่แสดงความจำนงขอปิดบัญชีหลังได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ เนื่องจากบางรายเริ่มมีรายได้มากพอ หรือสามารถหาผู้ร่วมทุนใหม่ได้ จึงมีเงินมาซื้อหลักประกันคืน

 เปิดแผน 7 ปี คาดปิดจ๊อบกว่า 3 หมื่นล้านบาท


           นายธงรบ กล่าวว่า สำหรับแผนดำเนินงานปี 2562  บริษัทฯตั้งเป้าหมายวางระบบการบริหารจัดการบริษัทฯ ตามหลักธรรมมาภิบาลและเป็นบริษัท บริหารสินทรัพย์ด้วยบุคลากรอย่างมืออาชีพ โดยเน้นเทคโนโลยีด้านดิจิตอลเข้ามาบริหารจัดการองค์กรอย่างเป็นระบบ

          ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าเรียกหนี้คืนมากขึ้นกว่าปีก่อนไม่น้อยกว่า 15% สูงสุดไว้ที่ปีละ 5,000 ล้านบาท (โดยประมาณ) โดยพอร์ตส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ รายใหญ่ 87% ที่เหลือ 13% เป็นรายย่อย หากสามารถเจรจารายใหญ่ได้ข้อยุติ จะทำให้ยอดเรียกหนี้คืนทำได้มาก ซึ่งมูลค่าหลักประกันถือว่าคุ้มมูลหนี้

           โดยในส่วนของกำไรที่เกิดขึ้น จะเก็บสะสมไว้เพื่อเตรียมรอชำระตั๋วสัญญาใช้เงินคืนให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ กำหนดชำระปีแรกในปี 2563 วงเงิน 4,500 ล้านบาท

           อย่างไรก็ดี ในส่วนของเป้าหมายดำเนินงานในช่วง 7 ปีหลังจากนี้ (2562 – 2568) คาดว่า จะเรียกหนี้ที่รับโอนมา 49,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะให้จบภายในปี 2568 และนำเงินไปทยอยใช้หนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินของไอแบงก์ ซึ่งรายรับรวม 7 ปีหลังจากนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณไม่น้อยกว่า 32,762 ล้านบาท

          “ อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับหนี้ที่เรารับมาจากไอแบงก์ ประมาณ 49,000  ล้านบาท และยังมีสินทรัพย์และหลักประกันติดมาด้วยซึ่งมีมูลค่าประมาณ 35,500 ล้านบาท ตัวนี้เราจึงได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์ ว่า เมื่อเรามีสินทรัพย์ 49,000 ล้านบาท และมีหลักประกันอีก 35,000 ล้านบาท ขณะที่เรามีภาระที่จะต้องจ่ายคืนให้กับธนาคารอิสลามฯ ประมาณ 22,000 ล้านบาท บวกค่าบริหารจัดการอีกจำนวนหนึ่ง หาก ไอแอม สามารถเรียกเก็บหนี้ได้มากกว่านั้น คาดว่าในปี 2563 ไอแอม จะมีกำไรเพิ่มขึ้นและสามารถคืนให้กับกระทรวงการคลัง ได้ครบถ้วนทันที  ”

           อย่างไรก็ตามสำหรับหนี้รายใหญ่ที่โอนมาให้เราบริหารมีประมาณ 174 ราย มูลค่า  42,000 ล้านบาท ขณะที่ลูกหนี้รายย่อย 2.7 พันราย  มูลค่าประมาณ 1,500 กว่าล้านบาท  ซึ่งปัจจุบันมีลูกหนี้ทยอยเดินเข้ามาชำระหนี้ทุกวัน

 IAM สร้างคน สู่มืออาชีพ


             นายธงรบ กล่าวว่า นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้ดำเนินการสอดรับตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติของรัฐบาล ภายใต้โครงการ Business Turn around ซึ่งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ลูกหนี้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ ทั้งลูกหนี้ธุรกิจ SMEs และลูกหนี้รายใหญ่ ซึ่งจะสะท้อนไปยังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศอีกด้วย

            “  บริษัทฯ ยังได้ให้ความสำคัญกับการแสดงออกต่อความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR โดยมีกำหนดจัดโครงการ Knowledge Management โดยการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาทางการเงินให้กับประชาชนทั่วไป ซึ่งได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาลัยนวัตกรรมการจัดการในการจัดอบรม หรือ เปิดสอนในหลักสูตรการบริหารสินทรัพย์ “


             ทั้งนี้เราได้ทำ MOU ร่วมกัน ในการแลกเปลี่ยน Know How ซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังพัฒนานวัตกรรมด้านการบริหารร่วมกันเพื่อสร้างเป็น Outcome ให้กับสาธารณชนอีกด้วย โดยโครงการดังกล่าวจะสามารถนำประสบการณ์ต่างๆมาแลกเปลี่ยนเพื่อเกิดความเชื่อมโยงต่อยอด สร้างความรู้ สร้างนวัตกรรมการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นที่มาของการลงนามดังกล่าว

            อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตาม แต่เราไม่ทิ้งคน โดยจะสร้างให้บุคลากรเป็นมืออาชีพ เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำบริษัทสู่ความสำเร็จและมีกำไร ทั้งนี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่จะฟื้นฟูธนาคารอิสลามฯ

            “ การดำเนินการของไอแอม เรามีวิสัยทัศน์ที่มากกว่าการทำกำไรทางตัวเลข  ทั้งนี้อยากให้สังคมได้รับทราบว่า นี่เป็นวิธีคิดใหม่ ที่ทุกคนต้องทำประโยชน์ให้สังคมและประเทศชาติ โดยสามารถจับต้องได้และเป็นรูปธรรม ซึ่งต่อไปจะเกิดนวัตกรรมตามมามากมายเพื่อสร้างองค์ความรู้ต่อไป”

              นายธงรบ กล่าวถึงแนวทางในการบริหารสินทรัพย์ของไอแอม ว่า เป็นยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจแบบกลับด้าน คือ มองของเสียให้เป็นโอกาส และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เติบโตได้รวดเร็วกว่าการเริ่มต้นส่งเสริมนักธุรกิจ start up การเข้าใจฟื้นฟูลูกหนี้ ให้กลับมาทำธุรกิจใหม่ด้วยอาศัยประสบการณ์และความผิดพลาดในอดีต เป็นต้นทุนมนุษย์ที่ไม่ควรมองข้ามในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ


            “ ผมจะทำให้ IAM เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ต้นแบบ และพัฒนาไปสู่องค์กรบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งระบบของรัฐวิสาหกิจ หรือ บริษัทบริหารสินทรัพย์รัฐวิสาหกิจแห่งชาติ ในอนาคต ซึ่งเชื่อว่า สินทรัพย์ด้อยคุณภาพหรือหนี้สินที่ทุกรัฐวิสาหกิจมีอยู่รวมกันในขณะนี้มีมากกว่าหนึ่งล้านล้านบาท และอาจทยอยขาดอายุความฟ้องร้อง หรือขาดการดูแลการสืบทรัพย์ บังคับคดี ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ หรือ โอกาสที่จะได้รับเงินคืนในเวลาอันสมควร ” นายธงรบ กล่าวและว่า

             ในฐานะมีประสบการณ์และเป็นนักบริหารการเงินอิสลาม มองเห็นโอกาสและทิศทางการเงินอิสลามที่กำลังขยายตัวทั้งในประเทศไทยและในระดับภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ ปัจจุบันถือว่าเป็นผู้เล่นที่เป็นสถาบันการเงินอิสลาม เพียงรายเดียว ที่มีรัฐบาลถือหุ้น ซึ่งมีวงเงินของธนาคารประมาณ 1 แสนล้านบาท

             อย่างไรก็ตาม อยากจะให้มองไปข้างหน้าและขอเตือนว่าอย่าได้ประมาทในระบบการเงินอิสลาม เนื่องจากในภูมิภาคอาเซียน มีประชากรโดยรวมประมาณ 600 ล้านคน ซึ่งครึ่งหนึ่งของประชากรเป็นมุสลิม หรือประมาณ 300 ล้านคน

            ทั้งนี้หากเราสามารถชักจูงการลงทุนอาเซียน เข้ามาลงทุนได้ จะเป็นโอกาสของแบงก์อิสลามและนั่น...มีโอกาสพลิกตัวและจะทำให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยก็ได้ ..เพียงแต่รอปัจจัยบางอย่างเท่านั้น.

/////

ข้อมูลจำเพาะ : นายธงรบ ด่านอำไพ


            จบการศึกษาระดับปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยม) ปริญญาโท พานิชยศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตไทย (นบท.) เนติบัณฑิตยสภา

ประวัติการทำงาน

           กรรมการ องค์การคลังสินค้ากระทรวงพาณิชย์

           กรรมการ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด

         ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

         ที่ปรึกษากฎหมาย รมว.การกระทรวงเทคโนโลยี สารสนเทศการสื่อสาร

         กรรมการผู้จัดการ บริษัท อะมานะฮ์ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน)

         กรรมการและรักษาการ ผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

         ประธานกรรมการบริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนมีนาคม 2562