Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   ภูเบศ โพธิ์โซ๊ะ :จากนักเรียนนอกสู่นักกิจกรรมศาสนสัมพันธ์

PEOPLE FOCUS :

 ภูเบศ โพธิ์โซ๊ะ : 
จากนักเรียนนอก สู่นักกิจกรรมศาสนสัมพันธ์

โดย เอกราช มูเก็ม
         บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร ดิ อะลามี่

       สำนักข่าวอะลามี่ : “ 40-50 ปีที่ผ่านมา หนองจอกในอดีตการสัญจรไปมาไม่สะดวก จะไปเรียนหนังสือก็ลำบาก แต่เราโชคดีที่ได้เรียนหนังสือ..”   คือคำแรกที่ ภูเบศ โพธิ์โซ๊ะ อดีตนักเรียนนอกคูเวต นักกิจกรรมทางสังคม กล่าวย้อนอดีตให้ฟังหลังเริ่มนั่งวงสนทนา

            ภูเบศ  โพธิ์โซ๊ะ หรือ ฮากิม  ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษา พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และยังเป็นที่ปรึกษาประจำอนุกรรมาธิการด้านการป้องกันประเทศ การปฏิบัติการด้วยกำลังทหารและการพัฒนา คณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร

            ภูเบศ เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า ความสำเร็จในชีวิตส่วนหนึ่งเพราะเราเติบโตในครอบครัวที่อบอุ่น คุณปู่ มีลูกหลายคน คุณพ่อเป็นลูกชายคนเดียว ด้วยที่คุณปู่เป็นปราชญ์ชาวบ้าน จะมีผู้คนเข้ามาพบคุณปู่หลากหลาย ผมก็วิ่งไปวิ่งมาในบ้านเห็นผู้คนมากมายแลกเปลี่ยนข้อมูล บ้างก็ยื่นมือช่วยเหลือกันตามประสาชาวบ้าน

            “ ที่บ้านเป็นบ้านใหญ่ เราถูกปลูกฝังทางจริยธรรม ถูกซึมลึกมาโดยตลอด ทำให้เราอยากเรียนหนังสือ เพราะคิดเสมอว่า..ถ้าไม่เรียน ก็ต้องมาเป็นชาวนาเหมือนคนอื่นๆ เราไม่อยากเป็นชาวนา”

              ในวัยเด็ก ภูเบศ เริ่มเรียนระดับประถมที่โรงเรียนประจำหมู่บ้าน (โรงเรียนลำเจดีย์) หลังจากจบชั้นประถม 4 ไปเรียนต่อที่โรงเรียนศาสนวิทยา เป็นโรงเรียนสอนศาสนา เขามุ่งมั่นที่จะเรียนเพราะมีเป้าหมายว่าจะต้องเรียนต่อเมืองนอก เนื่องจากโรงเรียนศาสนวิทยา จะมีทุนการศึกษาไปเรียนเมืองนอกทุกปี จากนั้นเล็งไปเรียนประเทศคูเวต แต่ต้องสอบจึงเตรียมตัวล่วงหน้าปีสองปี

                ในปี 2520 ก็สอบชิงทุนได้อันดับหนึ่ง ไปเรียนคูเวต ความฝันที่สวยหรูสำหรับนักเรียนเมืองนอก แทบไม่มีเพราะชีวิตโรงเรียนประจำต้องอยู่ในระบบ ต้องอยู่ในกติกา เราต้องอยู่ให้ได้ ซึ่งก่อนหน้านั้น เคยมีคำถามจากคนในหมู่บ้านว่า.. เรียนภาษาอาหรับ แล้วจะทำอะไร จึงเป็นคำถามที่เก็บในใจเสมอ

                หลังจบการศึกษาระดับมัธยมปลาย จึงเข้าเรียนในระดับเตรียมอุดมศึกษา ขณะเรียนหนังสือมีโอกาสฝึกงานสถานทูตไทยในคูเวต ทำให้เรารู้จักจัดวางบุคลิกการวางตัว การแต่งกาย การเข้าสังคมพร้อมๆกับทำกิจกรรมในวิทยาลัย ทำให้ฝึกประสบการณ์ไปในตัว

                 ภูเบศ กล่าวว่า หลังจบการศึกษาจากคูเวต ตั้งใจจะมาทำธุรกิจด้วยการเปิดบริษัทเป็นของตนเองโดยมีความคิดว่า หาเงินก้อนหนึ่งมาสร้างสังคม ผมได้รับการปลูกฝังมาตลอดจากครอบครัวให้นำมาพัฒนา บางคนอาจไม่เข้าใจ หรืออาจไม่เข้าใจผม แต่ผมคิดเสมอว่า ผมพยายามสร้างสังคมให้ทันสมัย

               “ ผมทำธุรกิจหลายอย่าง ล้มลุกคลุกคลาน แต่ผมมีความมุ่งมั่นเพราะมีความเชื่อมั่นว่า.. พรุ่งนี้ไม่ใช้วันสุดท้ายของโลก จงสู้ต่อไป..”


              หลังจากกลับจากต่างประเทศเขามีโอกาสทำงานทางการเมืองและควบคู่กับการเป็นนักการศาสนา ..สิ่งหนึ่งที่เรายึดมั่นคือ เราเคารพในสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกันก็ทำงานศาสนสัมพันธ์ โดยขณะนั้นเป็น ที่ปรึกษากรรมาธิการเด็กสตรี เยาวชน และผู้สูงอายุ สภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้ ยังได้รับความกรุณาจากผู้ใหญ่เป็นที่ปรึกษาท่านสิริกร มณีรินทร์ อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ ในขณะนั้นด้วย

                “ ผมได้รับเชิญจากอนุกรรมการวัฒนธรรมและกีฬา ในฐานะที่เราเป็นมุสลิม ไปบรรยายในหัวข้อ “ พระเจ้าอยู่หัวกับบทบาทองค์ศาสนูปถัมภกป์ ” จึงได้นำประสบการณ์ที่ได้เห็นพระราชกรณียกิจในหลวงรัชกาลที่ 9 ต่อมุสลิมไทย ในหลายกรณี อาทิเช่น การเสด็จไปปัตตานี พบกับพี่น้องมุสลิม การพระราชทานทุนทรัพย์ให้แปลพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน การสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ช่วยสร้างมัสยิด เป็นต้น  “


                  ในช่วงทำงานทางการเมืองกับพรรคไทยรักไทย ได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่หลายท่าน อาทิเช่น ท่าน ร.ต.อ.ศ.ดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์  และ นพ.ช.ศรีเพชร เพชรไพศิษย์ รวมถึงครบครัว ”วงศ์อารยะ” โดยต่อมา ก็มาทำงานกับ  อดีต ส.ส.เอกพจน์ วงศ์อาระยะ ในฐานะรองผู้อำนวยการการเลือกตั้ง เขตคันนายาว ซึ่งต่อมา ท่านเอกพจน์ ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ผมก็ตามมาช่วยงานต่อ


                “ ผมได้รับความเมตตาจากท่าน พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ได้รับมอบหมายประชุมแทนในเวทีต่างๆหลายหน่วยงาน ซึ่งขณะนั้นผมก็ทำงานด้านศาสนาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง”

                 ภูเบศ กล่าวถึงการทำงานศาสนสัมพันธ์ ได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนกับพี่น้อง 5 ศาสนาตามรัฐธรรมนูญรับรอง เรามีโอกาสนำอิสลามไปเผยแพร่ ทำความเข้าใจกับต่างศาสนิก ให้รู้และเข้าใจถึงอิสลาม เช่น ทำความเข้าใจในเรื่องของวัฒนธรรมหรือทางสังคม และกิจกรรมทางศาสนา ซึ่งเพื่อนต่างศาสนิกอาจไม่เข้าใจ เราต้องอธิบายให้เขาเข้าใจว่าบางอย่างเราร่วมได้ แต่บางอย่างร่วมไม่ได้ ซึ่งทุกคนก็เข้าใจมากยิ่งขึ้น

                 “  ผมยึดแนวทางในการทำงานโดยนำจริยะธรรมอิสลาม 5 ประการ มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต คือ 1.การตักวา คือ ทำงานด้วยความย่ำเกรง  2.ทำงานด้วยความอดทน 3. ทำงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ (อิคลาส)  4. เมื่อทำงานสามอย่างครบถ้วนแล้วมอบหมายต่อพระผู้เป็นเจ้า และ 5. เมื่อทำงานเรียบร้อยต้องขอบคุณต่อพระผู้เป็นเจ้า”



                  ภูเบศ กล่าวว่า การทำงานกับสังคมจะต้องมองเห็นคุณค่าของคน ส่วนตัวมองว่าทุกคนมีค่าเปรียบเสมือนเพชร บางคนเป็นเพชรเม็ดใหญ่มีแสงสว่างในตัวเอง บางคนเป็นเพชรเม็ดเล็กต้องอาศัยแสงสว่างจากเพชรที่ใหญ่และแสงแรงกว่าซึ่งตนเองนั้นมีความโชคดีที่มีผู้ใหญ่ เปรียบเสมือนเพชรเม็ดใหญ่ที่ค่อยส่องช่วยเหลือ นั่นคือ ครอบครัว “วงศ์อารยะ”


                   ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา แม้จะอยู่ในแวดวงการเมืองหรือกิจกรรมศาสนา แต่ ”ภูเบศ “ ไม่เคยทิ้งงานด้านศาสนสัมพันธ์ และเชื่อว่างานศาสนสัมพันธ์ มีส่วนในการลดความขัดแย้งทางศาสนาได้และมีส่วนในการสร้างความเข้าใจการอยู่ร่วมกันได้บนความหลากหลายทางความเชื่อและหลากหลายทางวัฒนธรรม

              “ ผมทำงานด้านศาสนสัมพันธ์และทำกิจกรรมต่อเเนื่อง ทั้งด้านกีฬา สังคม งานบรรยาย ตลอดจนการสอนหนังสือให้กับกลุ่มคนที่มาแต่งงานมุสลิม โดยเริ่มจาก 5-10 คน ขยายผู้เรียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำมาต่อเนื่อง โดยมีแรงหนุนสำคัญจากครอบครัว “วงศ์อารยะ”..”

             ภูเบศ กล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า วันนี้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาตัวแทนการเปลี่ยนแปลงระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางศาสนา ( The Agents of Change  Religious Honorary Causa Degree Doctor of Philosophy In Education) จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผลพวงจากการทำงานด้านศาสนสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องมายาวนาน ทำให้สิ่งที่เราเสนอไปได้รับการยอมรับ จนนำไปสู่การมอบดุษฎีบัณฑิตดังกล่าว

             “เมื่อมีคนถามคุณแม่ถึงลูกชาย ท่านบอกว่า..ไม่ได้ภูมิใจที่ลูกชายเรียนจบจากเมืองนอก แต่สิ่งที่แม่บอกว่าภูมิใจนั่นคือเมื่อมีปัญหาต่างๆรุมเเร้าเข้ามา เขาสามารถทำใจ จนก้าวผ่านพ้นปัญหาต่างๆไปได้มากกว่า “

              ภูเบศ กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ทำมาตลอดชีวิต แม้จะมีผู้คนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่เขาก็มีรอยยิ้มให้กับทุกคน แม้จะรู้ว่ามีคนไม่พึงพอใจเขาก็ตาม เสมือนคำกล่าวไว้ว่า ..คุณไม่มีวันไปถึงจุดหมายได้ ถ้ามัวแต่ไล่ปาก้อนหินใส่สุนัขทุกตัว ที่คอยเห่าใส่คุณ.

 หมายเหตุ:ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเมษายน 2563