Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   หวั่นท่าเรือเชียงแสนแห่งใหม่เปิดไม่ทันเม.ย.นี้

หวั่นท่าเรือเชียงแสนแห่งใหม่เปิดไม่ทันเม.ย.นี้เชื่อมสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ

          สำนักข่าวอะลามี่ :  รองปลัดคมนาคมเผย โครงการท่าเรือเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับแขวงบ่อแก้วของ ลาว อาจจะไม่เสร็จตามกำหนด ที่จะเปิดใช้ในเดือนเมษายนนี้ เหตุผู้รับเหมาทำงานล่าช้า

            นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ รองปลัดกระทรวงคมนาคมกล่าวในระหว่างการเดินทางมาตรวจความคืบหน้า  โครงการก่อสร้างท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 2 ที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย  เมื่อเร็วนี้ ว่า ท่าเรือแห่งนี้สร้างที่ปากแม่น้ำกกก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่บ้านสบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน ติดชายแดนกับแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว หลังจากที่การก่อสร้างได้เดินหน้ามาครบ 960 วัน ตามสัญญาที่กรมเจ้าท่าได้ว่าจ้างเอกชนให้ทำการก่อสร้างโดยใช้งบประมาณ 1,546.4 ล้านบาท สัญญาตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค.2552 และ มีกำหนดครบสัญญาก่อสร้างวันที่ 28 ธ.ค.2554 ที่ผ่านมาแล้ว

           โดยนายศรศักดิ์ ระบุว่า แม้ท่าเรือแห่งนี้จะก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จแม้ว่าจะล่วงสัญญาก่อสร้างมาแล้ว แต่คณะรัฐมนตรีได้ผ่อนผันเวลาด้วยปัญหาเรื่องอุทกภัย และปัจจุบันโครงการได้คืบหน้าไปแล้วกว่า 98% จึงมีกำหนดจะเปิดให้บริการเรือสินค้าในแม่น้ำโขง เพื่อทำการค้าขายชายแดนในเขตสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจไทย พม่า สปป.ลาว และจีน ได้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้เป็นต้นไป โดยเหลือระยะเวลาดำเนินการอีกประมาณ 2 เดือนครึ่ง ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะได้วางแผนเพื่อการเตรียมท่าเรือแห่งนี้เอาไว้ล่วงหน้าแล้วกว่า 1 ปี

           " ขณะเดียวกันเชื่อว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขง ที่แห้งในฤดูแล้งจะไม่ส่งผลกระทบต่อท่าเรือ ซึ่งอยู่ห่างจากแห่งเดิมลงไปทางใต้น้ำประมาณ 6 กิโลเมตร เพราะได้มีการสำรวจเรื่องร่องน้ำลึกเอาไว้อย่างครบถ้วน" นายศรศักดิ์ กล่าวและว่า

           สำหรับท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 2 สร้างขึ้นบนเนื้อที่ประมาณ 387 ไร่  1 งาน 44 ตารางวา ถือเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ โดยมีขนาดครึ่งหนึ่งของท่าเรือกรุงเทพฯ สร้างเพื่อรองรับการค้าชายแดนลุ่มแม่น้ำโขงในเขตสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ เนื่องจากท่าเรือแห่งที่ 1 ในปัจจุบันซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองโบราณเชียงแสน มีความคับแคบและไม่เหมาะสม ขณะที่ท่าเรือแห่งใหม่กว้างขวางสามารถรับเรือสินค้าขนาด 300 ตัน ได้คราวเดียวกันกว่า 10 ลำ

          โดยในปัจจุบันการค้าชายแดนผ่านท่าเรือเชียงแสนมีมูลค่าปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท แยกเป็นการส่งออกประมาณ 9,000 ล้านบาท และนำเข้า ประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการค้ากับจีนตอนใต้ โดยสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภค ลำไยอบแห้ง

          ส่วนสินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นผลไม้และพืชผัก ทั้งนี้หลังจากก่อสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้ง 9 หน่วยงาน เช่น เจ้าท่า ศุลกากร ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ด่านตรวจพืช ฯลฯ จะย้ายไปอยู่ในท่าเรือแห่งนี้ทั้งหมดด้วย.