Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   ศัลยแพทย์ชี้แนวทางรักษา”นิ้วล๊อค”โรคฮิตคนวัยทำงาน

  ศัลยแพทย์ชี้แนวทางรักษา”นิ้วล๊อค"โรคฮิตคนทำงาน          

                        สำนักข่าวอะลามี่ : ศัลยแพทย์ชี้แนวทางรักษา”นิ้วล๊อค"โรคฮิตคนทำงานพยาบาลเสรีรักษ์ แนะผู้ป่วยโรคนิ้วล็อค หันมาใส่ใจและดูแลการใช้งานนิ้วมากขึ้น หลังพบว่าส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับคนในวัย45ขึ้นไป ย้ำไม่ใช่โรคร้ายแรง พบแค่10% ของผ้ป่วยที่ต้องผ่าตัด และหากผ่าตัดแล้วจะไปกลับมาเป็นอีก

              

                นายแพทย์ สวัสดิ์  วิเศษสัมมาพันธ์  ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเสรีรักษ์ กล่าวถึง อาการ “นิ้วล็อค”  ว่า ส่วนใหญ่เกิดในผู้หญิงอายุ 45 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะแม่บ้าน ที่ใช้มือทำงานอย่างหนัก หรือซ้ำ ๆ เช่น หิ้วตะกร้าจ่ายกับข้าว ช็อปปิ้ง ปิดผ้า ส่วนในผู้ชาย มักพบในอาชีพที่ใช้มือทำงานหนัก ๆ มีการจับ ออกแรงปีบอุปกรณ์ เช่น คนทำสวนใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ ช่างที่ใช้ไขควงหรือเลื่อย พนักงานพิมพ์ดีด นักกอล์ฟ 

                นอกจากนี้ลักษณะการใช้งานของมือในแต่ละกิจกรรมจะใช้งานแต่ละนิ้วไม่เหมือนกันทำให้เกิด “นิ้วล็อค” ที่ตำแหน่งที่ต่างกัน โรคนี้ไม่มีอันตรายใดๆ เพียงแต่ให้ความรู้สึกเจ็บปวด และใช้มือไม่ถนัด เป็นโรคที่สามารถป้องกันและรักษาให้หายได้ และเราควรรู้วิธีการดูแลอย่างถูกต้อง

                สำหรับวิธีการรักษาจะแบ่งออกเป็น2อย่าง  แบบไม่ผ่าตัด สำหรับในรายที่เริ่มมีอาการ หรือ อาการยังไม่มาก สามารถ พักการใช้งาน มือแช่น้ำอุ่น หรือ การรับประทานยา เพื่อลดการอักเสบของเส้นเอ็นได้แก่การแช่พาราฟินอุณหภูมิ 40 องศา การทำอัลตร้าซาวน์ ร่วมกับการออกกำลังเพื่อยึดเส้นเอ็นและร่วมกับการทำกายภาพบำบัด การใช้เครื่องตามนิ้วมือ การนวดเบาๆ บริเวณโคนนิ้ว ซึ่งสามารถรักษาได้ดีโดยเฉพาะในระยะแรกและระยะที่สองของโรค

                นอกจากนี้ การฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่  เป็นการรักษาแบบชั่วคราว เพื่อลดการอักเสบ และทำให้อาการติดสะดุดดีขึ้นโดยฉีดเข้าในเยื่อหุ้มเส้นเอ็นบริเวณตำแหน่งนิ้วที่เป็นแต่ไม่ควรทำมากกว่า 3-4 ครั้งต่อปี หรือไม่ควรฉีดยาเกิน 2 หรือ 3 ครั้งต่อ 1 นิ้วที่ล็อค เพราะอาจจะทำให้เส้นเอ็นขาดได้

                ส่วน แบบผ่าตัด นั้นจะใช้กับในรายที่เป็นมานาน และการรักษาแบบไม่ผ่าตัดไม่ได้ผล อาการรุนแรงจนนิ้วติดล็อค เหยียดไม่ออก งอนิ้วไม่เข้า นิ้วแข็งบวม นิ้วโก่งงอ เจ็บปวด รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน โดยการตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่หนาอยู่ให้เปิดกว้างออก เพื่อให้เส้นเอ็นเคลื่อนผ่านได้โดยสะดวก ไม่ติดขัดหรือสะดุดและ ไม่ทำให้กลับมาเป็นโรคอีก เป็นการรักษาแบบถาวร การผ่าตัด แบ่งออกเป็น 2 วิธี

                  การผ่าตัดแบบเปิด  เป็นวิธีมาตรฐาน โดยฉีดยาชาเฉพาะที่ผ่าตัด เสร็จแล้วกลับบ้านได้ แต่หลังผ่าตัดต้องหลีกเลียงการใช้งานหนักและการสัมผัสนิ้ว ประมาณ 2 สัปดาห์ และ การผ่าตัดแบบปิด  โดยการใช้เข็มเขี่ยหรือสะกิดปลอกหุ้มเอ็นออกผ่านผิวหนังแทบไม่มีแผลให้เห็น

                  คุณปวีณา จุณนารา หัวหน้ากายภาพบำบัด ประจำโรงพยาบาลเสรีรักษ์ กล่าวว่า มือของคนเราถือเป็นอาวุธสำคัญที่ใช้ในการทำงานมากมายในชีวิตประจำวันซึ่งมักจะมีอาการเจ็บร่วมกับมีเสียง”กึก”เกิดขึ้น สำหรับอาการเริ่มต้นของผู้มีอาการนิวล็อค แบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้

                     ระยะแรก มีอาการปวดเป็นอาการหลัก โดยปวดมากบริเวณโคนนิ้วและจะมีอาการปวดมากขึ้น ถ้าเอานิ้วกดบริเวณฐานนิ้วมือด้านหน้า แต่ยังไม่มีอาการติดสะดุด

                     ระยะที่สอง มีอาการสะดุด เป็นอาการหลัก และอาการปวดมักจะเพิ่มขึ้น เวลาขยับนิ้ว งอ และเหยียด จะมีการสะดุดจนรู้สึกได้

                     ระยะที่สาม  มีอาการติดล็อค เป็นอาการหลัก โดยเมื่องอนิ้วลงไปแล้ว จะติดล็อคจนไม่สามารถเหยียดนิ้วออกเองได้ ต้องเอามืออีกข้างมาช่วยแกะ หรืออาจมีอาการมากขึ้นจนไม่สามรถงอนิ้วได้

                     ระยะที่สี่  มีการอักเสบบวมมาก จนนิ้วบวมติดอยู่ในท่างอเล็กน้อย ไม่สามารถเหยียดให้ตรงได้ ถ้าใช้มือมาช่วยเหยียดจะปวดมาก

                    คุณปวีณา กล่าวอีกว่า  อย่างไรก็ตาม” โรคนิ้วล็อค” สามารถป้องกัน และ รักษาให้หายขาดได้ ทั้งนี้พบว่าประมาณแค่ 10 % เท่านั้นที่จะต้องเข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากโรคนี้ไม่ใช้โรคร้ายแรง และหากมีได้รับการผ่าตัดแล้ว ก็จะไม่กลับมาเป็นอีก เพียงแต่เราควรหันมาใส่ใจดูแลและหาวิธี ป้องกันนิ้วมือของเราให้มากขึ้น