Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   จำนำข้าวพัทลุงราคาวูบได้แค่8-9,000บาท/เกวียน

จำนำข้าวเปลือกราคาวูบได้แค่8-9,000บาท/เกวียน

           สำนักข่าวอะลามี่ : ข้าวเปลือก “วูบ” ชาวนาหมดโอกาสทองรับจำนำข้าว  ต้องเข้าสู่ตลาดที่ 2 ของโรงสี  ได้แค่ราคา 8,000 – 9,000 บาท / เกวียน  ระบุ ชาวไทยได้บริโภคข้าวราคาต่ำ เพราะมีข้าวล้นตลาด เก็บสต๊อกไว้ประมาณ 10 ล้านตัน อยู่ในประเทศแต่ชาวนาได้รับการยกฐานะที่ดีขึ้นทั่วประเทศ  ข่าว สะพัด มีการสวมรอบเข้าสู่โครงการ หรือเรียกกันว่า “จำนำแกลบ”

(ภาพจากอินเตอร์เน็ต)

            นายไสว สุวรรณพยัคฆ์  นายกสมาคมโรงสีข้าวจังหวัดพัทลุง  สมาชิกสมาคมโรงสีข้าวภาคใต้   เปิดเผยว่า จังหวัดพัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นศูนย์กลางผลิตข้าวรายใหญ่ของภาคใต้ที่สามารถผลิตได้ปีละ 1 ล้านตัน   แต่ปรากฎว่าข้าวนาปีรอบแรกปี 2554 / 2555  ไม่บรรลุเป้าหมาย โดยเฉพาะจังหวัดพัทลุง เพราะนาข้าวถูกน้ำท่วมถึง 4-5 ระลอกใหญ่ ทำให้ข้าวด้อยคุณภาพและได้ผลผลิตน้อย โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลจึงรับจำนำได้น้อยมาก เพราะเมื่อถูกน้ำท่วมชาวนา ก็ต้องไปแจ้งความเสียหายเพื่อรับการช่วยเหลือชดเชย 

           “ปัญหาจึงเกิด 2 ตลาดขึ้น ตลาดหนึ่งเข้าสู่โครงการรับจำนำของรัฐบาลที่ได้ราคาดีถึง 15,000 บาท / เกวียน  อีกส่วนหนึ่งเข้าสู่ตลาดโรงสีข้าว  โรงสีข้าวรับซื้อเอง ตลาดตรงนี้ส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มนาข้าวที่ถูกน้ำท่วมที่แจ้งรับความเสียหายเพื่อรับค่าชดเชย  ข้าวที่จากความเสียหายจึงนำมาขายกับโรงสี  อีกส่วนหนึ่งชาวนารายย่อย รายละ 3-5 ไร่  ไม่สนใจที่จะลงทะเบียน  และอีกส่วนหนึ่งไม่เข้าใจโครงการ จึงไม่ลงทะเบียน  จึงไม่สามารถเข้าสู่โครงการรับจำนำได้   ตลาดตรงนี้ชาวนาจะได้ราคาถูกกว่าโครงการรับจำนำถึง 4,000 – 5,000 บาท / เกวียน” นายไสว  กล่าวและว่า

          ปัจจบัน โรงสีที่พัทลุง เข้าโครงการของรัฐบาลจำนวน 5 โรง  รับจำนำข้าว 10 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 14,600 บาท ส่วนโรงสีที่รับซื้อข้าวจากชาวนาที่ไม่สามารถเข้าสู่โครงการรับจำนำได้  ราคาอยู่ที่ 9,000 - 9,500 บาท และ 10,000 บาท  

         นายไสว  ยังกล่าวอีกว่า  โรงสีของตนตอนนี้มีชาวนาเข้ามาจำนำ วันละ 4-5 เกวียน จากเดิมที่ไม่ต่ำกว่า 100 เกวียน / วัน  สาเหตุ ตอนนี้โรงสี จำนวน 6  แห่ง ที่รับจำนำข้าว ยังได้ข้าวโครงการรับจำนำยังไม่ถึง 500 เกวียน   โดยเริ่มโครงการมาตั้งแต่วันที่ 10 มกราคมนี้ 

         “ข้าวนาปีรอบแรกปี 2554 / 2555 สูญออกไปจากตลาดประมาณ 60 – 70 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากภาวะภัยธรรมชาติ คนที่เคยขายข้าวได้ประมาณ 10 เกวียน  กลับขายได้จำนวน 2 เกวียน  ชาวนานาปีรอบแรกปีนี้ เสียโอกาสทองไปจากโครงการของรัฐบาลที่มีนโยบายยกระดับชาวนาไป  ฤดูแล้งชาวนาสามารถบริหารจัดการน้ำได้  แต่มาในฤดูฝนตกยาวชาวนา ไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้

          นายไสว ยังกล่าวอีกว่า จากโครงการับจำนำข้าวของรัฐบาล ราคาอยู่ที่ 15,000 บาท   ทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวไต่ราคามาอยู่ที่ 800 เหรียญสหรัฐอเมริกา  ทำให้ตลาดต่างประเทศ   ข้าวไทยไทยไม่สามารถเข้าไปแข่งขันในตลาดโลกได้  เพราะข้าวประเทศเวียนนาม พม่า อินเดีย ปากีสถาน ลาว กัมพูชา ราคาถูกกว่าของไทย  โดยเฉพาะของประเทศเวียดนาม ราคาพียง 500 เหรียญเท่านั้น

          อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่สามารถสู้กับตลาดต่างประเทศได้ รัฐบาลก็สามารถนำข้าวมาเก็บไว้ในคลังได้ 1-2 ปี ตอนนี้ประเทศไทยมีข้าวล้นตลาด คาดว่าทั้งคลังของรัฐบาล โรงสีข้าว และของคลังของพ่อค้าข้าวมีไม่ต่ำกว่า 10  ล้านตัน  ผู้บริโภคจึงไม่ต้องหวั่นวิตกว่าราคาข้าวจะสูงขึ้นแต่อย่างใด  หากราคาข้าวในท้องตลาดราคาสูง  รัฐบาลก็ปล่อยข้าวออกมาจากคลัง หากราคาข้าวในท้องตลาดสูง 15 บาท รัฐบาลก็ออกเทขาย 12 บาท / กก.เป็นต้น

          “จนถึงขณะนี้ราคาข้าวในท้องตลาดของโรงสีข้าวราคาอยู่ที่ 16 บาท / กก.  ดังนั้นผู้บริโภคไม่ต้องหวั่นวิตกว่าโครงการของรัฐบาลจะทำให้ราคาข้าวท้องตลาดสูงแล้วจะมีจะกระทบ  แต่ผู้ที่ได้ราคาสูงคือชาวนาเพราะโครงการนี้รัฐบาลต้องการยกฐานะของชาวนา  แต่ผู้บริโภคได้บริโภคราคาถูก”

          แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการข้าว เปิดเผยว่า ภาวะที่ชาวนาเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวมีน้อยในพื้นที่ ปัจจัยสำคัญ เพราะเป็นชาวนารายย่อยที่ทำนาเอาข้าวไว้บริโภคเอง มิได้ทำเพื่อการค้าขาย จึงไม่ไปขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการรับจำนำ อีกอย่างสำคัญคือโครงการรับจำนำข้าว ชาวนาจะต้องเก็บข้าวไปส่งยังโรงสีเอง อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น รถบรรทุกข้าว ชาวนาขนาดย่อยไม่มีความพร้อม แต่สำหรับนาขนาดใหญ่ จะมีความพร้อม

           แหล่งข่าว ยังเปิดเผยว่า ขณะนี้มีเบาะแสการเคลื่อนไหวของคนบางกลุ่ม ที่จะดำเนินการสวมทะเบียนข้าวเข้าสู่โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล  โดยเอาข้าวเก่าที่เก็บกักตุนเอาไว้หรือเรียกกันว่า โครงการรับจำนำแกลบ จากเดิมที่เคยซื้อกับชาวนามาประมาณ 7,000 – 8,000 บาท มาเข้าสู่โครงการับจำนำข้าว 15,000 บาท / ตัน โดยเฉพาะมีการเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดสงขลา และจังหวัดตรัง

           ส่วนทางด้าน คณะทำงานติดตามกำกับดูแลการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี  ปีการผลิต 2554 /55  ได้เข้าตรวจสอบตรวจสต๊อกข้าวเปลือก  โรงสีข้าวจำนวน 6 แห่ง ใน 3 อำเภอ  อำเภอเมือง อำเภอปากพะยูน และอำเภอบางแก้ว  จ.พัทลุง ที่ร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวนา  ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม  จนถึงวันที่ 31 กรกฏาคม 2555   ซึ่งเป็นช่วงที่เกษตรกรชาวนาจังหวัดพัทลุงนำผลผลิตข้าวนาปีออกจำนำ

            “ชาวนาในพื้นที่ตำบลชัยบุรี ตำบลปรางหมู่ อำเภอเมือง  และพื้นที่ตำบลดอนประดู่ และตำบลดอนทราย  อำเภอปากพะยูน  เริ่มทยอยนำข้าวเปลือกจำนำกับโรงสีข้าว  ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าข้าวเปลือกที่เกษตรกรจำนำนั้นมีความชื้นอยู่ที่ 25 %  จะได้รับราคาตามโครงการรับจำนำตันละ 13,800 บาท   และหากความชื้นไม่เกิน 15 % ตันละ 14,600 บาท”

           สาเหตุที่ข้าวเปลือกของเกษตรกรมีความชื้นสูงนั้นเนื่องจากพื้นที่นาข้าวที่ผ่านมานั้นถูกน้ำท่วม และขณะที่เกษตรกรเกี่ยวข้าวนั้นก็ยังสภาพน้ำขังภายในแปลงนา

            นายไพรวัลย์  ชูใหม่  นักวิชาการชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง  เปิดเผยว่า ชาวนาในพื้นที่จังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราช สงขลา  สัดส่วนที่สูงมากคือจะเป็นชาวนารายย่อย ไม่ใช่ขนาดใหญ่เหมือนกับภาคกลาง แต่จะเป็นนาของตนเอง ไม่เป็นนาเช่า โดยเฉพาะจังหวัดพัทลุง ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์เป็นขนาดย่อยที่มีนาไม่ถึง 10 ไร่  เป้าหมายจากเดิม ๆ คือทำไว้บริโภคภายใน  สำหรับพื้นที่จะทำนาปีได้ ในจังหวัดพัทลุงมีประมาณ 220,000 ไร่.