The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   บุรุษที่สามในพื้นที่ชายแดนใต้

บุรุษที่สามในพื้นที่ชายแดนใต้

โดย : บันฑิตย์ สะมะอุน

            สำนักข่าวอะลามี่:  ความสุขอย่างหนึ่งของมนุษย์บางคน คือ การได้พูดถึงคนบุรุษที่สาม เหมือนดั่งสภาพเหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ที่วันนี้เริ่มกลายสภาพคล้ายกับแคชเมียร์ ที่หน่วยความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วยกันอย่างใกล้ชิดกับประชาชน

             แต่เป็นความใกล้ชิดทางกายมากกว่าทางใจ ที่เปรียบเปรยกันว่ายิ่งใกล้ยิ่งเจ็บ เจ็บด้วยกันทั้งสองฝ่ายหรือทุกฝ่ายเพราะประชาชนเจ็บ ไม่มีความเจ็บปวดใดที่เสมอเหมือนกับความเจ็บปวดของประชาชน ทางที่ดีที่สุดคืออย่าทำให้ประชาชนเจ็บจนเป็นแผลลึก ซึ่งไม่มีอะไรที่จะมาทดแทนหรือผ่อนคลายความเจ็บปวดนั้นได้เลย

            ปรากฎการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ของไทยไม่สงบก็เพราะสังคมพูดถึงแต่เฉพาะบุคคลบุรุษที่สาม ซึ่งเป็นบุคคลที่มองไม่เห็น ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนพอที่จะเอาความผิดได้ถึง เป็นบุรุษที่สาม ที่มีตัวตนจริง แต่ไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่าเป็นใครและอยู่ที่ใหน

            เป็นสภาพของสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้ที่น่ากลัวเพราะต้องความระมัดระวังภัยที่มองไม่เห็นด้วยความหวาดระแวงต่อกัน เจ้าหน้าที่ระแวงชาวบ้าน ชาวบ้านระแวงเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ระแวงโจร แต่ชาวบ้านต้องระแวงทั้งโจรและเจ้าหน้าที่ เป็นสังคมของ "กีล่าว่ากอล่า"  ซึ่งเป็นสังคมที่ถูกหล่อหลอมขึ้นมาด้วยการสร้างความหวาดระแวงระหว่างกัน

            คำว่า"กีล่าว่ากอล่า" เป็นภาษาอาหรับหมายถึง" คนนี้อ้างอย่างนั้น คนนั้นอ้างอย่างนี้ แต่หาคนผู้ที่ถูกอ้างอิงจริงๆไม่ได้"  

           ปรากฎการณ์ลักษณะนี้ถือว่าเป็นวิกฤติการณ์ของสังคม (ฟิตนะห์) ที่เต็มไปด้วยความไม่ชัดเจนและความหวาดระแวงในสังคมนั้นๆ

            การพูดถึงบุรุษที่สามว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ คือการพูดโดยไม่ได้หวังที่จะให้เกิดผลในการแก้ไขปัญหาหรือการพัฒนาพื้นที่ เหมือนเป็นการพูดว่าจะต้องพัฒนา พูดเพื่อให้เกิดการเจรจา หรือพูดเสนอในประเด็นอื่นๆ แต่ไม่รู้ว่าจะพัฒนาอะไร หรือไม่รู้ว่าจะเจรจากับใคร ทำให้กิจกรรม/งานต่างๆที่คิดขึ้นไม่ตรงกับยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง งบประมาณที่ลงไปในพื้นที่บางส่วนจึงลงไปโดยไม่ชัดเจนว่าจะพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาอะไร เพราะปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นมักจะเชื่อมโยงไปถึงบุคคลบุรุษที่สามที่มีตัวตนแต่ไม่รู้ว่าเขาคนนั้นคือใครและอยู่ที่ใหน

             ความเป็นไปได้แนวทางหนึ่งของการแก้ไขปัญหาภาคใต้คือการแสวงหาความจริงจากคนที่เป็นตัวจริงที่สร้างสถานการณ์ให้ความรุนแรงไม่หยุดนิ่ง แต่ในสภาพจริงกลับเป็นการแสวงหาความจริงผ่านบุคคลบุรุษที่สาม ความจริงที่ถูกซ่อนเร้นด้วยการอ้างถึงแต่บุคคลบุรุษที่สามจึงไม่สามารถสืบสวนให้ถึงตัวบุคคลบุรุษที่หนึ่งและบุรุษที่สองได้ เป็นเหตุให้ไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้ถูกต้องอย่างมั่นใจ ไม่มีใครกล้าพูดถึงบุรุษที่หนึ่งและสอง แต่ต่างก็พูดถึงแต่เพียงบุคคลบุรุษที่สาม

               นั่นอาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้สังคมออกห่างความจริงออกไปอีก เกิดความสับสนวุ่นวายในขบวนการสืบหาความจริงจากเจ้าหน้าที่และประชาชน และจบลงด้วยการจับแพะและจับได้เพียงผู้ต้องสงสัย แต่ไม่ใช่ผู้ต้องหาตัวจริง

                ปรากฎการณ์นี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบและเจ็บปวดที่สุดคือชาวบ้านหรือประชาชนที่ไม่มีอำนาจใดๆมาให้ความคุ้มครองให้พ้นจากสภาพอันแสนทรมานนี้ แม้แต่อำนาจของรัฐก็ไม่สามารถเข้าไปคุ้มครองได้ ชาวบ้าน/ประชาชนจึงต้องหวังให้เกิดความปลอดภัยด้วยการแสวงหาอำนาจใหม่ไว้พึ่งพิงที่ไม่ใช่อำนาจรัฐที่นอกจากจะไม่ได้คุ้มครองแล้ว ความจริงคือยังมีความพยายามที่จะยัดเยียดอำนาจรัฐแบบใหม่ๆเข้าไปในพื้นที่และประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึก, พรบ.ฉุกเฉินในพื้นที่ชายแดนใต้ หรือ อำนาจอื่นๆที่รัฐหวังว่าจะเป็นหนทางที่ดีในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงให้ยุติลง

                แต่การให้อำนาจแก่เจ้าหน้าโดยไม่มีการตรวจสอบประเมินปละติดตามเพื่อให้เกิดยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาที่แท้จริงจึงไม่เกิดขึ้น เป็นการใช้อำนาจแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งก็มีความถูกต้องในหลักการและกฎหมาย แต่ทำให้ชาวบ้านหรือประชาชนต้องตกเป็นเหยื่อของอำนาจที่รัฐ ซึ่งจะยิ่งเพิ่มพูนปัญหาความมั่นคงให้เกิดขึ้นในพื้นที่ให้ขยายกว้างออกไปอีก และทำให้ความจริงดูลึกลับมากยิ่งขึ้น

                ทางออกที่ดีคือการคืนอำนาจรัฐให้กับประชาชนเพื่อประชาชนจะได้เกิดความรู้สึกอบอุ่นและไว้วางใจในอำนาจรัฐ ปัญหานั้นไม่ใช่เกิดจากตัวบทกฎหมายแต่เกิดจากแนวทางในการนำกฎหมายดังกล่าวไปใช้ของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน การสร้างความเข้มแข็งด้วยการพัฒนาศักยภาพในชีวิต/ท้องถิ่น/สังคมในพื้นที่ของชาวบ้านหรือประชาชนให้สอดคล้องกับวิถีทางศาสนาและวัฒนธรรม

                 มิเช่นนั้นจะเกิดความไม่ลงตัวระหว่างกฎหมายของรัฐและวิถีชีวิตที่แท้จริงของประชนในพื้นที่ ยอมรับความแตกต่างทางศาสนาและวัฒนาธรรมระหว่างกันด้วยจิตสำนึกที่ใจไม่ใช่แค่เพียงคำพูดที่สวยหรู  ซึ่งทำให้ปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ไม่จบลงเสียที และอย่าทำให้ความจริงในพื้นที่ไปจบลงเพียงการอ้างอิงถึงบุคคลบุรุษที่สามที่มีตัวตนจริงแต่ไม่รู้ว่าเป็นใครและอยู่ที่ไหน หรือ จะให้มีการอภัยโทษกับบุคคลที่ทำความผิด ซึ่งเป็นความคิดที่ดี

                 แต่จะอภัยโทษความผิดให้ใคร ในเมื่อวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าใครคือคนผิดหรือใครถูก เหมือนความสบสนที่ผ่านมาว่าแล้วจะเจรจากับใคร

........................…
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนธันวาคม 2555