The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   คุยกับลุงธง: ธงรบ ด่านอำไพ

ไอแบงก์แก้ไขได้ด้วยหลักเศรษฐศาสตร์อิสลาม

โดย ธงรบ ด่านอำไพ


             เรื่องที่ร้อนแรงที่สุดในระบบการเงินอิสลามในขณะนี้ก็เห็นจะเป็นเรื่องปัญหาของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ที่มีปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพเป็นจำนวนมากถึง 50% ของสินเชื่อทั้งหมด ในขณะที่ต้นทุนการเงินของไอแบงก์สูงกว่าธนาคารอื่น บัญชีเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์มีเพียง 17% ขณะที่บัญชีเงินฝากประจำมีสูงถึง 83% เมื่อเปรียบเทียบกันในระบบธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ค่าเฉลี่ยบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์จะอยู่ที่ 60-70% และบัญชีเงินฝากประจำอยู่ที่ 30-40% เท่านั้น ทำให้ผลตอบแทนที่ให้แก่ผู้ฝากมีต้นทุนเงินฝากที่สูงกว่าธนาคารอื่นๆ

            ไอแบงก์ยังมีจำนวนบัญชีลูกค้ามุสลิม (Muslim) ประมาณ 10% และเป็นลูกค้าที่ไม่ใช่มุสลิม   (non Muslim) ถึง 90% โครงสร้างฐานลูกค้าเช่นนี้ จึงไม่ตอบโจทย์สถาบันการเงินสำหรับชาวมุสลิมในประเทศไทย

            เอาเป็นว่าเพราะเหตุใด จึงเป็นเช่นนั้น เนื่องจากการจะเป็นธนาคารฮาลาล หรือ ธนาคารชะรีอะฮ์ นั้น ไม่ใช่แค่การหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาจากคำว่า “ดอกเบี้ย” มาเป็น “กำไร” เท่านั้น แต่กระบวนการคิด การทำงาน ระบบงาน ผลิตภัณฑ์ทางสินเชื่อต้องเป็นฮาลาล็็Hด้วย หลักการเงินอิสลามใช้วิธีการร่วมลงทุน ไม่ใช่การกู้ยืมเงิน เมื่อไม่มีเจ้าหนี้ ลูกหนี้ ก็ไม่มีหนี้เสีย มีแต่การขาดทุนจากการลงทุนร่วมกัน หรือมีกำไรมากหรือน้อยเท่านั้น

            การบัญชีในระบบการเงินอิสลาม ต้องเป็นการร่วมลงทุนกับลูกค้า ซึ่งระบบธนาคารพาณิชย์ ไม่เข้าใจเรื่องนี้ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ไม่มีกฎหมายมาตรฐานมารองรับ กระทรวงการคลังก็ไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ และไม่ผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างถูกต้องแท้จริง ทั้งๆ ที่มี พ.ร.บ.จัดตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยขึ้นมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 แต่ไม่มีการออกกฎหมายอื่นๆ เพื่อรองรับการปฏิบัติให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

             ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้คนไทยมุสลิมมองว่า รัฐบาลไม่จริงใจที่จะให้มีธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยอย่างแท้จริง

            เมื่อเวลาผ่านไปได้ไม่กี่ปี ธนาคารก็ขาดทุนครั้งแรก และมีการเพิ่มทุน โดยได้ให้ธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน ซึ่งมีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่และเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมาย เพราะกระทรวงการคลังถือหุ้นถึง 99% ทั้งๆ ที่ ตามที่กฎหมายกำหนดให้กระทรวงการคลังถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% เท่านั้น จึงทำให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กลายสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจไปด้วย ทั้งๆ ที่เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.จัดตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศ ไม่ต้องการให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจมาตั้งแต่เริ่มต้น

            ไอแบงก์ มุ่งเติบโตจากการรับเงินฝากจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนจำนวนมาก เติบโตจากระดับหมื่นล้านเป็นแสนล้านภายในเวลาไม่กี่ปี

            และเมื่อต้นทุนที่ต้องจ่ายผลตอบแทนเงินฝากในอัตราที่สูงกว่าคู่แข่ง จึงต้องเร่งปล่อยสินเชื่อโดยเร่งด่วน ทำให้ปริมาณสินเชื่อเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และจำเป็นต้องคัดเลือกลูกค้ากลุ่มที่ถูกปฏิเสธการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์รายใหญ่จากที่อื่นๆ มาแล้ว ลูกค้าที่มีคุณภาพต่ำ มีความเสี่ยงสูง จึงมาเป็นลูกค้าธนาคารอิสลาม

           และในที่สุด เมื่อประสบปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศอย่างเปราะบางก็ซวนเซ มีปัญหาการชำระหนี้ไม่ตรงตามกำหนดเป็นจำนวนมาก

            รากเหง้าของปัญหาก็คือ เราสร้างธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยขึ้นมาอย่างไม่ใช่ธนาคารอิสลามที่แท้จริง แต่เป็นธนาคารอิสลาม ที่ไม่ยึดมั่นในหลักการชะรีอะฮ์โดยเคร่งครัด ผู้ถือหุ้นแทบจะไม่มีมุสลิม รวมทั้งกรรมการบริษัท กรรมการบริหาร เราไม่ได้ออกกฎหมาย ระเบียบ กฎกระทรวง เพื่อรองรับการทำนิติกรรมทางการเงินแบบอิสลาม

            ถ้าจะแก้ไขปัญหาธนาคารอิสลามอย่างแท้จริง ลุงธง ก็พร้อมจะให้ข้อคิดเห็น และร่วมมือในการแก้ไขอย่างจริงจังและถูกต้อง ด้วยการดำเนินนโยบายตามหลักชะรีอะฮ์อย่างเคร่งครัด 100% เต็มเท่านั้น ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จึงจะรอดพ้น และพลิกฟื้นกลับคืนมาได้

           ลุงธงยินดี ที่จะให้ความร่วมมือช่วยเหลือการแก้ไขไอแบงก์ให้ฟื้นกลับคืนมา เพื่อประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองโดยส่วนรวม ด้วยหลักเศรษฐศาสตร์อิสลาม ดังที่กล่าวมา


ตีพิมพ์ครั้งแรก : นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนเมษายน 2558