The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   บ้านซ่อน "ทรัพย์" เพราะลับ.. จึงต้องซุก

บ้านซ่อน "ทรัพย์" เพราะลับ.. จึงต้องซุก
โดย : ปกรณ์ พึ่งเนตร, ปานใจ ปิ่นจินดา

                   สำนักข่าวอะลามี่: ปลัดกระทรวงนายหนึ่งตกเป็นข่าวว่า เก็บเงินสดเหยียบพันล้านไว้ที่บ้าน.. เก็บได้จริงหรือเปล่า

                    เงิน "หนึ่งพันล้านบาท" มีปริมาณขนาดไหน เท่ากับ แบงค์พันจำนวน 1 ล้านใบ น้ำหนักราว 1 ตัน ปริมาตรความจุพอๆ กับท้ายรถกระบะหนึ่งคันรถ

                      ..ถ้าแปรสภาพเป็น "ทองคำ" จะเท่ากับทองคำหนัก 4 หมื่นบาท (คิดเหมาๆ ที่ราคาทองบาทละ 25,000 บาท) หรือถ้าอุตรินำทองไปวางบนตาชั่งขนาดยักษ์ เข็มจะกระดิกรวดไปที่ 600 กิโลกรัม!!!!

                   และถ้าคิดต่อจากนั้น... สมบัติย่อมๆ กองนี้ ควรจะเก็บไว้ที่ไหนดี ?

                     เป็นเมื่อก่อน เมื่อได้ฟังเรื่องเล่าข่าวลือว่า เศรษฐีคนนั้น คนนี้ ฝังสมบัติไว้ใต้ดิน ก็คงไม่ได้รู้สึกแปลกอะไรมากมาย แต่ถ้าได้ยินเรื่องทำนองเดียวกันใน พ.ศ. นี้ คงต้องมีคนว่า ไร้สาระ เพราะไม่มีเศรษฐีคนไหน เชื่อถือใน "ไหใต้ดิน" มากกว่า "ตู้เซฟ" ในธนาคาร จะยกเว้นก็เสียแต่ว่า เงินก้อนดังกล่าวไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้ หรือไม่ก็ผู้เป็นเจ้าของเงินจำเป็นต้องใช้เงินในทางลับ ชนิดที่ห้ามให้ใครสืบสาวจนถึงต้นตอได้

                   เงินลับๆ ก็เลยต้องอยู่ในที่ซ่อนลับๆ ด้วยประการฉะนี้...

                  การซุกเงินสดไว้ตามสถานที่ประหลาดๆ จนเป็นที่ฮือฮา ไม่ได้มีแค่ข่าวกรณีปล้นบ้านปลัดฯ คนดังเท่านั้น เพราะลองย้อนหลังไปราวๆ 20 กว่าปีที่แล้ว ข่าวที่ฮือฮาสุดๆ ก็คือ การจับกุมเท้าแชร์คนดัง ชม้อย ทิพย์โส กับคดีฉาว "แชร์แม่ชม้อย" ที่ได้จากการฉ้อโกงเงินของประชาชนไปกว่า 4 พันล้านบาท

                ครั้งนั้น กว่าเจ้าหน้าที่จะติดตามยึดทรัพย์สมบัติที่ได้จากการฉ้อโกงกลับมาได้ เล่ากันว่า ต้องไล่เคาะฝาบ้านกันแทบทั้งหลังกว่าจะพบห้องลับที่เจ้าของบ้านทำไว้อย่างแนบเนียน

                  เท่านั้นยังไม่พอ เพราะยังมีเงินจำนวนหนึ่งที่ผ่องถ่ายไม่ทัน ก็เลยทำเนียนแอบซุกไว้ในปี๊บ แต่ก็ไม่รอดพ้นสายตาของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปได้

                 ตัวอย่างเบาะๆ อีกคดีเมื่อปี 2550 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ที่ติดตามจับกุมเครือข่ายค้ายาเสพติดของ นายมะยากี ยะโก๊ะ ได้ แถมยังสามารถตรวจยึดเงินสดได้อีกกว่า 30 ล้านบาทซึ่งซ่อนไว้ในท่อพีวีซี ที่บ้านหลังหนึ่งใน ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส

                 จึงน่าคิดไม่น้อยว่าบรรดา "เศรษฐีสีเทา" ที่ร่ำรวยขึ้นมาอย่างไม่กระจ่างที่มาที่ไปของเงินนั้น เขาเก็บเงินกันอย่างไร เพราะถ้านำเข้าแบงค์ แน่นอนว่าไม่พ้นการโดนตรวจสอบแน่

ลับ-ลวง-ตา

                "ต่อให้เป็นเศรษฐี รวยขนาดไหน ก็ไม่เก็บเงินสดไว้ที่บ้านมากขนาดนั้นหรอกครับ ยิ่งเป็นเงินบริสุทธิ์ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องเอามาซ่อน ต่อให้เป็นเงินที่เก็บไว้เผื่อฉุกเฉิน ผมให้เต็มที่ก็ล้านนึง ถ้าเกินกว่านั้น ไม่ปกติแล้ว" เอกยุทธ อัญชันบุตร เจ้าของฉายา "จอร์จ ตัน" เซียนหุ้นผู้มีประวัติโชกโชน และยังมีเส้นทางการเงินสีเทาในสายตาของใครหลายคนตั้งข้อสังเกตขึ้น

                 พร้อมกับเจาะจงลงไปเลยว่า "นักการเมือง" นี่แหละ ที่เป็น "ตัวพ่อ" ของการซุกเงิน

                  "นักการเมืองต้องใช้เงินสดเยอะ โดยเฉพาะช่วงเลือกตั้งซึ่งต้องใช้เงินสดเท่านั้น จะให้ใคร ก็ใส่กระเป๋า ใส่ลังส่งให้กันเลย" นั่นคือ คำอธิบายแรกถึง ความจำเป็นที่ต้องเก็บ "เงินสด" ไว้ใกล้ตัว เนื่องจากความคล่องตัวในการจับจ่าย ถ้าเป็นเงินสดจะดีกว่ามาก และ ที่สำคัญคือ ตามจับยาก ถ้าเทียบกับการถอนหรือโอนเงินครั้งละมากๆ ย่อมเป็นที่สังเกตแน่นอน

                  แต่จะเก็บที่ไหน ที่ปลอดภัยทั้งจากโจร และ ตำรวจ นั้น ต้องสุดแล้วแต่ความครีเอทของ ฯพณฯท่าน ทั้งหลาย แต่โดยสรุปแล้ว กลับกลายเป็นว่า ตู้เซฟชนิดแกร่งทนอึดที่ตั้งวางอยู่ในทุกบ้านนั้น เอาเข้าจริงส่วนใหญ่ก็แค่ "ตัวหลอก"

                  "นักการเมืองบางคนซ่อนเงินไว้ที่รั้ว บางคนก็ทำช่องซ่อนไว้บนฝ้า แล้วก็ได้ยินอีกด้วยว่า มีนักการเมืองรายหนึ่ง ใช้ทองคำมาก่อเป็นผนังบ้านด้วยซ้ำ" วงเล็บไว้ด้วยว่า ทองคำ ที่นำไปแปรสภาพมานั้น จะต้องเป็น "ทองคำนอก" ซึ่งสะดวกต่อการยักย้ายโดยสืบสาวหาต้นตอลำบาก

                 สำทับด้วยคำบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสายสืบสวนปราบปรามนายหนึ่งซึ่งคร่ำหวอดในการติดตามกวาดล้างธุรกิจผิดกฎหมาย ที่ยืนยันอีกหนึ่งเสียงว่า "บ้าน" คือ ที่ซ่อนสมบัติที่ดีและปลอดภัยที่สุด เพราะจากที่ได้เคยสืบสวน หาข่าว และเห็นเองกับตา พวกนักการเมือง ข้าราชการ นักค้าของเถื่อน หรือผู้ประกอบธุรกิจใต้ดินนิยมเก็บเงินสดจำนวนมากไว้ที่บ้านของตนเอง เพราะ "ใกล้ตัว-ใกล้ตา" มากที่สุด

                   ส่วนใครจะเก็บด้วยวิธีไหนนั้น ก็เข้าทำนอง "สไตล์ใครสไตล์มัน" โดยที่เคยพบบ่อยๆ คือ สร้างห้องใต้ดินหรือห้องลับชั้นใต้ดินไว้เก็บเงิน อีกพวกหนึ่งก็เก็บไว้ในห้องนอน โดยมีช่องลับหัวเตียง เพราะห้องนอนมีความเป็นส่วนตัวสูง

                   หรือถ้าใครหัวใสหน่อย ก็จะสร้างกำแพงหรือฝาบ้านขึ้นมาใหม่ แล้วทำช่องลับซุกเงินไว้ในนั้น ส่วนบางรายก็เก็บไว้ในช่องใต้หลังคาที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษ

                   นอกจากนี้ ยังมีผู้รับเหมารายหนึ่งในเขตกรุงเทพมหานครนี่เอง ที่ได้เผยกับ "จุดประกาย" ว่า เคยรับเหมางานสร้างตู้เซฟขนาดใหญ่ให้กับนักการเมืองชื่อดังคนหนึ่ง โดยระบุถึงความใหญ่ของตู้เซฟดังกล่าวว่า ใหญ่ขนาดที่คนเดินเข้าไปได้ หรือจะเรียกว่า "ห้องลับ" ก็น่าจะเข้าท่ากว่า โดยห้องลับที่ว่านั้น นักการเมืองเจ้าของบ้านยังสั่งติดแอร์คอนดิชั่น มีระบบป้องกันความชื้นอย่างดี เข้าใจว่าสร้างไว้เพื่อเก็บ "เงินสด"

                 ขณะที่ข้อมูลจากนักธุรกิจการค้าที่ต้องคอยวิ่งเต้นรับงานจากบรรดานักการเมือง ก็เล่าในทำนองเดียวกันว่า นักการเมืองชื่อดังบางคนที่ปรากฏตัวบ่อยๆ ในโทรทัศน์เวลามีการอภิปรายในสภา ก็เก็บเงินสดไว้ที่บ้านถึง 100 ล้านบาท

                  ส่วนสาเหตุที่ไม่ยอมนำเงินมากขนาดนั้นไปฝากที่ธนาคาร ก็เข้าตำราสถาบันนักการเมืองไทย คือ ไม่อยากมีหลักฐานให้ติดตามเส้นทางเงินได้ ประกอบกับการเก็บเงินไว้ในบ้าน หากมีความจำเป็นเร่งด่วน หรือเหตุฉุกเฉิน เช่น ทหารปฏิวัติ ก็สามารถขนเงินหนีออกนอกประเทศได้ทันที

 "โพยก๊วน" พร้อมบริการ

                 ย้อนกลับไปที่นายตำรวจนักสืบคนเดิม ซึ่งเล่าเป็นฉากๆ ต่อถึง กองเงินสดที่เก็บไว้ที่บ้านของบรรดานักการเมือง ข้าราชการ หรือนักธุรกิจใหญ่ ซึ่งค่อนข้างเป็นที่แน่นอนว่า ไม่ใช่เงินบริสุทธิ์ โดยอาจจะเป็นเงินสินบน เงินใต้โต๊ะ หรือเงินจากการประกอบกิจกรรมผิดกฎหมายต่างๆ หรือแม้กระทั่งเป็นเงินที่ได้จากการค้ายาเสพติดก็ตามแต่

                   การเก็บเงินเหล่านั้น ส่วนใหญ่จะไม่ใช่การ "เก็บแช่" เป็นเพียงแต่การเก็บเพื่อรอเวลาผ่องถ่ายออกไป เช่น ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ก็เตรียมระดมเงินสดมาเก็บไว้ที่บ้านเพื่อซื้อเสียง หรือแจกจ่ายหัวคะแนน หรือเงินสินบนจากการตัดสินใจอนุมัติโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ บริษัทที่ได้ประโยชน์ก็จะใช้วิธีหิ้วเงินสดๆ ใส่กระเป๋ามาให้ เพราะไม่สามารถโอนผ่านธนาคารให้ปรากฏหลักฐานได้

                 "การถ่ายโอนเงินประเภทนี้ จะต้องโอนกันนอกระบบเพื่อป้องกันการตรวจสอบ โดยวิธีที่นิยมมากที่สุด คือ โพยก๊วน หรือไม่ก็แบ่งบางส่วนถือใส่กระเป๋าเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อนำไปฝากธนาคารต่างประเทศ ซึ่งกฎหมายไทยไม่สามารถล้วงมือเข้าไปตรวจสอบได้"

                   คำว่า "โพยก๊วน" มีความหมายอย่างเป็นทางการคือการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศโดยโอนผ่านระบบใต้ดิน เป็นวิธีโบร่ำโบราณตั้งแต่สมัยชาวจีนที่มาทำมาหากินในประเทศไทยส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวที่บ้านเกิด ซึ่งในยุคนั้นระบบธนาคารยังไม่ทันสมัยเหมือนทุกวันนี้

                  ส่วนโพยก๊วนในความหมายปัจจุบัน หมายถึง การส่งเงินหรือแลกเปลี่ยนเงินตราข้ามประเทศโดย "ไม่ผ่านช่องทางปกติตามกฎหมาย"

                  ทั้งนี้วิธีการทำโพยก๊วนของแต่ละกลุ่มก็จะมีวิธีการที่แตกต่างกันไป ถ้าเป็นของคนจีนจะออกเอกสารคล้ายๆ ตั๋วเงินให้ผู้ถือ ถือไปรับเงินที่ปลายทาง โดยนำตั๋วเงินไปยื่น ส่วนโพยก๊วนที่กัมพูชาจะใช้ธนบัตร 1 ฉบับแทนค่าเงินที่ต้องการแลกเปลี่ยนตามที่ตกลงกัน สมมติธนบัตรกัมพูชา 1 ฉบับเท่ากับ 10,000 บาทไทย ลูกค้าต้องการแลกเงินไทยจำนวนเท่าไร ก็ให้ถือธนบัตรกัมพูชาตามจำนวนที่มีค่าเท่านั้นข้ามแดนไปแลกได้เลย

                  ไม่ว่าวิธียักย้าย ผ่องถ่ายเงินจะทำด้วยวิธีใดก็ตาม ก็ยังคงอยู่บนโจทย์ที่ว่า เงินสดในครอบครองจะต้องเป็น "เงินลับ" ที่ไม่ให้ใครตามเจอได้ และ ประเด็นสำคัญก่อนจะไปถึงเส้นทางการยักย้าย จึงต้องชี้ชะตาที่การ "ซ่อนให้มิด" เสียก่อน ไม่ว่าจะจากโจรมือดี หรือ ตำรวจตาคม

                     แต่ถ้าต้องเลือก ระหว่าง "โจร" กับ "ตำรวจ" แล้วนั้น เจ้าของฉายา "จอร์จ ตัน" ตอบแทนบรรดาเจ้าพ่อทั้งหลายได้เลยว่า ต้องกลัวตำรวจมากกว่าเป็นไหนๆ เพราะเกิดดวงซวยไปเจอตำรวจในคราบโจร เรื่องจะกลายเป็นว่า เงินก็สูญ แถมยังต้องโดนสอบอีกด้วย

ที่มา: จุดประกายกรุงเทพธุรกิจ(http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/lifestyle/20111130/421881/news.html)