The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   คัดค้านพรก.ชายแดนใต้ : กรณี

คัดค้านพรก. ชายแดนใต้ คือชายขอบของการเรียกร้องเมื่อเทียบกับ"คดีอากง"
โดย : อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ ( อับดุลสุโก ดินอะ )
ผช.ผจก.ร.ร.จริรยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา
อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณ

Shukur2003@yahoo.co.uk;
http://www.oknation.net/blog/shukur

                ด้วย พระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ ขอความสันติ  ความจำเริญแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

               ตั้งแต่เดือนตุลาคม การขับเคลื่อนอย่างสันติวิธีขององค์กรภาคประชาสังคม นำโดยนักศึกษาจัดตั้งเป็น เครือข่ายประชาสังคม เพื่อคัดค้านการต่ออายุ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ที่ประกาศใช้อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กว่า 5 ปี แต่แล้วรัฐบาลยิ่งลักษณ์ (ที่ได้คะแนนเสียงจากคนเสื้อแดงอย่างท้วมท้น) ก็ตัดสินใจต่อ อายุ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวอีกสามเดือน

                องค์กรภาคประชาสังคมดังกล่าวได้จัดกิจกรรมอย่างสันติวิธีมากมาย ที่แสดงการคัดค้านการต่ออายุ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน)

                เช่นการจัดกิจกรรมการเล่นฟุตบอล ที่มีชื่อว่า “เตะ พรก.” คาราวานรถโบราณ “ขับไล่ พรก.ฉุกเฉิน” ขับเคลื่อนสู่สันติภาพ และเวทีเสวนา “เวทีสาธารณะ : วาระประชาชนยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน” ซึ่งประชาชนในพื้นที่ให้ความสนใจเข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมาก   กิจกรรมเขียนโปสการ์ดส่งถึงองค์การสหประชาชาติ โดยเครือข่ายฯ ได้เดินทางไปในสี่จังหวัดภาคใต้ โดยเริ่มต้นที่ตลาดสดเทศบาลเมืองปัตตานี หน้ามัสยิดกลางปัตตานี และห้างบิ๊กซี ปัตตานี 

                หลังจากนั้นวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีการเคลื่อนขบวนหรือไปรษณีย์เคลื่อนที่ไปยัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา, ที่ถนนคนเดิน ภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และมัสยิดกลาง จ.ยะลา  (โปรดดู http://www.insouthvoice.com/archives/473)              

            เหตุผลของของการเรียกร้องดังกล่าวนั้นของกลุ่มมีมากมายนัก โดยรัฐอ้างก่อนใช้กฎหมายพิเศษนี้ว่า เพื่อป้องกันมิให้เกิดการยิง ระเบิด ฆ่ากันตาย และก่อเหตุรายวัน…เพื่อรักษาไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยของรัฐ สร้างความมั่นคงของชาติ ปกป้องชีวิต ทรัพย์สินและความปลอดภัยของประชาชน และเพื่อให้สังคมมีความสงบเรียบร้อย…

            ด้วยวาทกรรมดังกล่าว รัฐไทยจึงอ้างความชอบธรรมแก่ ในการคงไว้ซึ่งบังคับใช้ พรก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดมา

          แต่ทว่า ตลอด ๕  ปีกว่า รัฐกลับล้มเหลว….รัฐไทยยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า พรก.ฉุกเฉินจะสามารถสร้างความมั่นคง ปลอดภัย ปกป้องชีวิตและเลือดเนื้อของประชาชนได้ จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเครือข่ายประชาสังคมต้อง…คัดค้าน พรก.ฯ ในประเด็นดังนี้

           1.กรณี นิเซะ นิฮะ ซึ่งเป็นประชาชน(ธรรมดา)และเป็นเหยื่อของการบังคับใช้ พรก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกมาแสดงเจตนารมณ์ด้วยตนเองว่า “ข้าพเจ้า นายนิเซะ นิฮะ ยังมีสติสมัญชญะดี ร่ายกายแข็งแรง หลังจากนี้ถ้าหากมีอะไรในกระบวนการซักถามในชั้น พ.ร.ก.ข้าฯ นายนิเซ๊ะ นิฮะ จะไม่ให้การใดทั้งสิ้น นอกจากจะยืนยันคำให้การเดิม ถ้าหากเกิดอะไรขึ้นแก่ข้าฯ ไม่ว่าร่างกายหรือชีวิต หรือ กรณีใดก็ตาม ข้าฯขอเขียนหนังสือนี้เป็นลายลักษณ์อักษรไว้เป็นหลักฐาน เพื่อดำเนินการต่อไป ตนของคัดค้าน พรก.ฯ”

             เมื่อเป็นเช่นนั้น เครือ ข่ายประชาสังคม ก็มีความชอบธรรมที่จะออกมาเคลื่อนไหวเพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่า ไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ

             2.ข้อมูลจากศูนย์ทนายความมุสลิม ระบุว่า คดีที่เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบฯ เป็นคดีความมั่นคงมากกว่า 8,000 คดี ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วจำนวน 262 คดี พิพากษายกฟ้อง 119 คดี คิดเป็นร้อยละ 45.42 ของคดีที่พิพากษาทั้งหมด เพราะไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ สะท้อนให้เห็นว่า ขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมายไร้ประสิทธิภาพ

             3.ผลพวงจากการบังคับใช้ ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยชนของประชาชนอย่างร้ายแรง

             3.1เกิดการซ้อมทรมานระหว่างการสอบสวน เช่น การเสียชีวิตของสุไลมาน แนแซ ในค่ายทหาร(อิงค ยุทธบริหาร)การซ้อมทรมานนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎ ยะลา(กรณีนายอับดุลเลาะ ดอเลาะ และเพื่อน )ฯลฯ

           3.2  ฐานะผู้ถูกจับ เป็นเพียงผู้ต้องสงสัย แต่กลับได้รับสิทธิน้อยกว่าผู้ต้องหา คือ 1. ทนายความไม่มีสิทธิเข้าร่วมรับฟังระหว่างการสอบสวน ทำให้อาจมีการยัดข้อหาเป็น จำนวนมาก(บทพิสูจน์ คือ คดีความมั่นคง ได้รับการพิพากษาให้ยกฟ้องเมื่อต่อสู้คดี) 2. การถูกควบคุมตัวกว่า 30 ทำให้ครอบครัวขาดรายได้ แต่กลับไม่ได้รับการเยียวยาจาก ภาครัฐ แต่อย่างใด

           4.อำนาจของเจ้าหน้าที่มากเกินไป ทำให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ ทำได้ยาก
              • ทหารสามารถจับกุม-ควบคุมตัวได้30วัน เพียงเพราะสงสัยว่าน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ฯโดยไม่จำเป็นต้องมีพยานหลักฐานแต่อย่างใด(มาตรา 12)
              • ทหารสามารถออกคำสั่ง เรียกให้คนมารายงานตัว/มาให้ถ้อยคำ/โดยไม่จำเป็นต้องมีหมายศาล(มาตรา 11 วรรค 2)
              • ทหารสามารถตรวจค้น รื้อ ถอน ทำลายสิ่งปลูกสร้าง อาคารบ้านเรือนได้(มาตรา 11 วรรค 4)
              • ทหารสามารถห้ามไม่ให้ประชาชนออกจากบ้าน ภายในระยะเวลาที่กำหนด(มาตรา 9)
              • ห้ามไม่ให้มีการรวมตัว เกิน 5 คน ได้(มาตรา 9)
              • ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม(ถนน)ได้(มาตรา 9)
              • ห้ามใช้อาคารหรือสถานที่ใดๆ(มาตรา 9)
              • สามารถสั่งให้ประชาชนออกจากแผ่นดินบ้านเกิดของตนเองได้ เช่น กรณีที่แม่ทัพภาคที่ 4 ห้ามไม่ให้ประชาชนเข้าพื้นที่ได้(มาตรา 9)        

          แต่ก็มีประเด็นคำถามจากบทบรรณาธิการ อิสราเช่นกันว่า ทำไมกลุ่มดังกล่าวไม่เรียกร้อง คัดค้านการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบจากฝ่ายก่อการหรือใครก็แล้วแต่เช่นกัน เพื่อหยุดยั้งความสูญเสียของผู้บริสุทธิ์  ซึ่งเรื่องนี้ผู้เขียนได้รับข้อความชี้แจงว่า ทางกลุ่มได้เคยออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบที่ทำให้ผู้บริสุทธิเสียชีวิตเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา (โปรดดูในhttp://www.fatonionline.com/news/detail/176)

           สิ่งที่ชาวเครือข่ายและคนทำงานสันติวิธีรู้สึกว่าการเรียกร้องของเขาเป็นชายขอบด้านสันติวิธีและสิทธิมนุษยชนคือ ไม่ได้รับการตอบรับจากสื่อกระแสหลักในการเสนอข่าวสักเท่าไรซึ่งต่างจากคดี  อากง

              กล่าวคือ คดีอากง นั้นหลังจาก ′อากง′ ถูกตัดสินต้องโทษจำคุก 20 ปี ด้วยข้อหาว่าส่งข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  ทำให้นักวิชาการสายเสรีประชาธิปไตยนำโดย  ดร. ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิจัยจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ออกมาเรียกร้องในสื่อออน ไลน์ให้ปล่อยตัวอากง (ความจริงผมรู้จักท่านเมื่อปี 2550 ตอนที่ท่านทำงานที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ประเทศสิงคโปร์)

         ท่านเป็น ผู้ริเริ่มรณรงค์กิจกรรมโครงการ "ฝ่ามืออากง"  แถลงผ่านเฟซบุ๊ก Pavin Chachavalpongpun

           การริเริ่มโครงการของท่านได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้เล่นสื่อออนไลน์ ถึงแม้จะมีผู้ไม่เห็นด้วยมากเช่นกันต่อท่าน

           ที่ฮือฮาเป็นที่สุด คือ การเรียกร้องผ่านสื่อออนไลน์ ของนักจัดรายการและนักเขียนชื่อดัง "คำ  ผกา" แบบเปลือย(หน้า)อก และ (หน้า)ใจ ส่งข้อความเรียกร้องปล่อยตัวอากง ชี้สังคมไทยต้องก้าวข้ามความกลัว ถอดทิ้งอคติ และสำรวจจิตใจตัวเองในฐานะเพื่อนมนุษย์

           ‘คำ ผกา’ ให้เหตุผลต่อสังคมว่า  งานชิ้นนี้ เปรียบเสมือนงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่ใช้ร่างกายประท้วงต่อความไม่เป็นธรรมใน สังคม ซึ่งการกล้าเปิดกาย-ใจ และการกล้าเปิดเผยตัวตนนี่เอง ที่เป็นการเผชิญหน้าและเอาชนะความกลัวได้อย่างแท้จริง

 

            แนวคิดการประท้วงอย่างสันติวิธีในสื่อออนไลน์ได้รับการตอบรับและสู่การแสดงออก บนถนนท้องถนน กล่าวคือ 10 ธ.ค.54 เวลาประมาณ 16.00 น. บริเวณลานอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีการจัดกิจกรรม “อภยยาตรา” หรือ Fearlessness walk โดยมีประชาชนทยอยเข้าร่วมกว่า 100 คน ส่วนใหญ่ใส่เสื้อสีดำ และมีการเตรียมป้ายที่เขียนข้อความต่างๆ เกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 และข้อเรียกร้องต่างๆ รวมถึงกรณีของนายอำพล หรือ “อากง” งานนี้ได้รับความสนใจจากผู้สื่อข่าวต่างประเทศจำนวนมาก

             กิจกรรมดังกล่าวนำโดยนักวิชาการจากหลายสถาบัน เช่นกลุ่ม Article 112 กลุ่ม “เราคืออากง” กลุ่มกวีราษฎร กลุ่มอาสากู้ภัยน้ำตื้น และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) รวมทั้งคนดังอย่างนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์, นายสุรพศ ทวีศักดิ์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาหัวหิน และวันรัก สุวรรณวัฒนา อาจารย์จากคณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

             หลังจากวันนั้นสื่อกระแสหลักจากส่วนกลางทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์มีการนำเสนอข่าวเชิงวิเคราะห์อย่างกว้างขวาง  ซึ่งเป็นหนังคนละม้วนกับการเรียกร้องอย่างสันติวิธี ของเครือข่ายประชาสังคมคัดค้านการต่ออายุ พระราชกำหนดฉุกเฉินที่ประกาศใช้อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กว่า 5 ปี ซึ่งเป็นต้นเหตุให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยการซ้อมทรมาน (เช่น คดีศาลปกครองสงขลาสั่งกระทรวงกลาโหม จ่ายค่าเสียหาย 5 แสน  และ จ่าย 5.2 ล้าน ให้ครอบครัว 'อิหม่ามยะผา' ถูกที่ซ้อมจนตาย http://www.isranews.org; http://www.deepsouthwatch.org/node/2597; http://thaienews.blogspot.com/2011/07/92_25.html)

               ทั้งๆการขับเคลื่อนอย่างสันติวิธีของเครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พรก.ฉุกเฉิน ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ก่อนคดีอากง ในหลากหลายรูปแบบรวมทั้งสื่อ ออนไลน์ เสียอีก 

               ท้ายนี้ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจ ในการต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมและความเมอภาคอย่างสันติวิธี ซึ่งเป็นเรื่องดีที่จะไม่ผลักพวกเขา ให้ทำงานใต้ดิน ในอุดมการณ์ทางการเมืองที่เขาศรัทธา            

             คัมภีร์กุรอานได้กล่าวถึงความเสมอภาคของมนุษย์ไว้ว่า :   โอ้ มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชาย และเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่า และตระกูลเพื่อจะได้รู้จักกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮ์นั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน.  
(คัมภีร์กุรอาน, 49:13)