The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   จับตาปมร้อนแก้รัฐธรรมนูญ..!!!

จับตาปมร้อนแก้รธน. รบ.มีสิทธิล้มหากเล่นเกมเสียดุลย์อำนาจ

บายไลน์ : เหยี่ยวดง

              สำนักข่าวอะลามี่ : พลันที่วาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ถูกส่งเข้าสู่กระบวนการรัฐสภาสภา ก็กลายเป็นประเด็นฮ๊อตกลบประเด็นร้อนทางการเมืองอื่น

              ขั้นตอนต่อจากนี้ก็อยู่ที่คณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ ... พ.ศ..... ซึ่งมี นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย นั่งแป้นเป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งนายใหญ่ ณ ดูไบ คงดีดลูกคิดรางแก้วอย่างถี่ถ้วนแล้วว่า จะสามารถคุมเกม “เอาอยู่” ในชั้นกรรมาธิการ

              ดังนั้นต่อจากนี้ไปคณะกรรมาธิการฯชุดนี้จะเดินหน้าเร่งเครื่องอย่างเต็มที่ เพื่อจะเข็นร่างแก้ไขนี้ออกมาให้เสร็จก่อนปิดสมัยประชุมรัฐสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติ ในวันที่ 18 เม.ย.2555 นี้ เพราะหากไม่ทันปิดสมัยประชุม ก็ต้องขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญต่อวาระการประชุมออกไปอีก

              ทันทีที่วาระแห่งชาติของฝ่ายนายใหญ่ ถูกโยนลงมากลางกองไฟการเมือง แก๊งค์เจาะยางที่แอบซุ่มอยู่ข้างทาง ก็กระโดดออกมาสู่ที่แจ้ง เปิดหน้าเปิดตาคัดค้านกันเสียงขรม โดยมีทั้งกลุ่มที่อยู่ในและนอกสภา ซึ่งล้วนแต่เป็นเจ้าประจำพวกเตะสกัดระบอบทักษิณทั้งนั้น

                เริ่มตั้งแต่พรรคฝ่ายค้าน “ประชาธิปัตย์” ที่ไม่บอกก็รู้ว่าเล่นเกมคัดค้านอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ทั้งเกมบนดิน เกมใต้ดิน เอากันทั้งในและนอกสภา ดูได้วาทะกรรมปฏิญญาหาดใหญ่ 8 ข้อ 1.ปกป้องและรักษาเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ 2.คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 เพื่อประโยชน์และช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ให้พ้นผิดจาก 4 คดี ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และคำพิพากษาจำคุกในคดีที่ดินรัชดาภิเษก 3.คัดค้านการแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

              4. ต่อต้านการจัดตั้งหมู่บ้านสีแดงเพื่อลดความขัดแย้งแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และความแตกแยกของประชาชน 5. ขจัดการโฆษณาชวนเชื่อที่ทำให้หลงผิดคิดคดทรยศต่อแผ่นดิน บิดเบือนความจริงที่ดำรงอยู่ เพื่อปลุกปั่นสร้างความแตกแยกวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง 6. ต่อต้านการดำเนินการทางการเมืองเพื่อคนใดคนหนึ่งเพื่อผลประโยชน์ทับซ้อน เพื่อพวกพ้องและการจัดสรรงบประมาณให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งโดยเฉพาะ 7. สร้างเครือข่ายและร่วมต่อต้านการทุจริตทุกระดับ ทุกรูปแบบ ทั้งภาครัฐภาคเอกชน และ 8. เสริมสร้างค่านิยม อุดมการณ์และการมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชน และประชาชนในการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

             ซึ่งปฏิญญาทั้ง 8 ข้อนี้ ถือเป็นการตัดสายเบรกกระทืบคันเร่ง พร้อมดับเครื่องชนกับเครือข่ายนายใหญ่ โดยไม่สนใจหลักการในระบอบประชาธิปไตย ที่พรรคเก่าแก่ได้ยึดถือมายาวนานอีกต่อไป 

           ยังมีเครือข่ายแนวร่วมในสภาคือ กลุ่ม  40 ส.ว. ที่พร้อมจะเอาไหนเอากันกับประชาธิปัตย์ โดยยกข้ออ้างตามบทบริกรรมที่ว่า “แก้ไขเพื่อคนคนเดียว” “ทำให้สังคมแตกแยก” “ฟื้นคืนระบอบทักษิณ จ้องจะกินรวบประเทศ” “เอาทักษิณกลับบ้านโดยไม่มีความผิด” 

            ส่วนกลุ่มการเมืองนอกสภา จุดปุ๊บติดปั๊บเดินนำหน้ามาก่อนใครคือ กลุ่มเสื้อหลากสี ภายใต้การกำกับของ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงษ์  ที่นำมวลชนบุกสภายื่นหนังสือคัดค้านกับประธานรัฐสภา บวกเข้ากับเครือข่ายสายฮาร์ดคอร์ของอดีต คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ที่มีทั้งอดีตนายทหารใหญ่ นักวิชาการเจ้าประจำ แตกเหล่าแยกกอกันไปจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปัตย์(พธม.) เป็น กลุ่มสยามสามัคคี นำโดย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา อดีตหัวหน้าสำนักงานเลขาธิการ คมช.นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.

           กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ที่ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการซึ่งได้ดิบได้ดีมาจากเหตุการณ์ปฏิวัติ 19 กันยาฯ49 นำโดย นายบรรเจิด สิงคะเนติ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ นายแก้วสรร อติโพธิ อดีต คตส. “ดอกเตอร์นะจ๊ะ” เสรี วงษ์มณฑา ที่วันนี้ไปนั่งเป็นพิธีกรรายการ “ข่าวแสนกล” ทางช่องบลูสกาย ซึ่งรับรู้ไปทั่วกันว่าเป็นนอมินีของประชาธิปัตย์

            ส่วนกลุ่มเสื้อเหลือง คือกลุ่มพันธมิตรฯเดิม ที่อดีตถือเป็นขาใหญ่ร่วมล้มระบอบทักษิณ ยังคงสงวนท่าทีไม่ออกมาเคลื่อนไหวเต็มตัวเหมือนอดีต เพียงแค่เป่านกหวีดเบาๆ แบบเหนียมๆ เรียกชุมนุมพลเมื่อวันที่ 10มี.ค.ที่ผ่านมา โดยหันไปใช้ห้องลีลาศสวนลุมพินีโชว์พลัง ยังไม่กล้าออกตัวใช้พื้นที่โล่งกว้างด้านนอก เพราะเกรงอาจถูกนำไปเปรียบเทียบกับกลุ่มเสื้อแดง ที่เพิ่งโชว์พลังไฮพาวเวอร์กันที่ โบนันซ่า เขาใหญ่ไปเมื่อเร็วๆนี้

            แต่เพื่อป้องกันการตกขบวนหากเกิดเหตุแอ็กซิเดนท์อะไรขึ้นมา จึงได้ติดติ่งว่าพร้อมจะปกนกหวีดนัดชุมนุมใหญ่ ภายใต้เงื่อนไข 3 ประการ

            คือ  1. การแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือออกกฎหมาย ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบันพระ มหากษัตริย์ หรือบั่นทอนพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.มีการดำเนินการใดๆ หรือออกกฎหมายอื่นใดที่จะนำไปสู่การนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ 3. เมื่อเห็นว่าเหตุการณ์บ้านเมืองกลับสู่สถานการณ์ความเหมาะสม ที่ประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่

             พร้อมกับเลียนแบบรัฐบาลด้วยการตั้ง คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย(ครปร.) วางงานเดินสายสัมมนาพบปะพี่น้องทั่วประเทศ หวังฟื้นแนวร่วมที่หลับใหลไปนานในช่วงรัฐบาลประชาธิปัตย์

              ซึ่งการเคลื่อนไหวของเหล่าบรรดาขาประจำพวกนี้ ถึงจะแยกกันเดิน แต่แน่นอนว่าย่อมมีเป้าหมายเดียวกันคือ หากรัฐบาลนารีนอมินีพี่ชาย รักษาจังหวะก้าวย่างในการแก้รัฐธรรมนูญ คุมเกมอำนาจผิดดุลย์ หรือพลาดพลั้งไป แน่นอนว่าย่อมพบจุดจบก่อนวาระอันควร

             แต่ดูจากบริบทการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านแล้ว ยังอยู่ในภาวะ “เอาอยู่” เพราะกรอบเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่วางไว้ยืดเยื้อยาวนาน ที่คาดว่าน่าจะใช้เวลาอีกเป็นปี และประเด็นการแก้ไขก็ชัดเจนแล้วว่า “ไม่แตะหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์” ส่วนเรื่ององค์กรอิสระ หรือองค์กรศาล ให้ไปว่ากันในชั้นสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)

            การเคลื่อนไหวในช่วงนี้ จึงเป็นแต่การลองของชิมลาง เลี้ยงกระแสไปเรื่อยๆ แต่ถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ถูกทำให้เห็นชัดเจนเมื่อไหร่ว่า ทำเพื่อคนคนเดียว ส่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมอีกครั้ง

           แน่นอนว่าวังวนอุบาทว์ทางการเมือง ย่อมวนกลับมาสู่การเมืองไทยอีกรอบแน่

ตีพิมพ์ครั้งแรก:นสพ.พับลิกโพสต์ ฉบับ 15มีนาคม 2555