The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   ฐากูร บุนปาน : เจรจา-ผิดตรงไหน?

ฐากูร บุนปาน : เจรจา-ผิดตรงไหน?

           สำนักข่าวอะลามี่ :  ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะปรากฏเป็นข่าวรับรู้ของคนในส่วนอื่นๆ ด้วยเหตุและปัจจัยหลัก 2 ประการ

            ประการหนึ่ง คือ เมื่อเกิดเหตุก่อความไม่สงบร้ายแรง เช่น การลอบวางระเบิดหรือการสังหารหมู่

            ประการหนึ่ง คือ เมื่อถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือกล่าวหากันทางการเมือง

            เหมือนกรณีล่าสุด ที่ผสมทั้งสองเรื่องเข้ามาเป็นเนื้อเดียวกัน

          หลังคาร์บอมบ์ครั้งใหญ่ในยะลาและหาดใหญ่ พรรคฝ่ายค้านนำเสนอข้อมูลออกมาเป็นชุดๆ ว่า 1.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าประเทศมาเลเซียไปเจรจากับประธานกลุ่มพูโลแต่ล้มเหลว

           2.นายนัจมุดดีน อูมา อดีต ส.ส.นราธิวาส สมาชิกพรรคมาตุภูมิ ไปถ่ายภาพร่วมกับ นายมะแซ อุเซ็ง หนึ่งในแกนนำคนสำคัญของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ

และ 3.พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เดินทางเข้าไปเจรจากับหัวหน้ากลุ่มบีอาร์เอ็น ในประเทศมาเลเซีย

ซึ่งเป็นการเจรจาผิดฝาผิดตัว

           แล้วฝ่ายที่เสนอข้อมูลข้างต้นทั้ง 3 เรื่อง ก็สรุปเปรี้ยงได้ทันที ว่านี่คือการจัดการปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้อย่างไม่ถูกจุด

และทำให้ปัญหาความไม่สงบรุนแรงยิ่งขึ้นจริงหรือ?

             เริ่มต้นจากในแง่ข้อเท็จจริงก่อนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไปเจรจากับพูโลในมาเลเซียจริงหรือไม่

            พอถูกคนใกล้ชิดอดีตนายกรัฐมนตรีตอบโต้อย่างเต็มปากเต็มคำผู้กล่าวหาก็เริ่มอ่อนเสียงลงมา

            กรณีนายนัจมุดดีน เจ้าตัวบอกว่า ภาพที่ถ่ายร่วมกับนายมะแซนั้นเป็นภาพถ่ายเมื่อ 18 ปีที่แล้ว ที่ป่าตอง จ.ภูเก็ต สมัยที่นายมะแซเป็น อบต. ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี ยืนยันว่า ทั้งตนเองหรือ ศอ.บต.ไม่เคยพูดคุยกับกลุ่มก่อความไม่สงบหรือแกนนำบีอาร์เอ็น

            ภาพถ่ายที่ปรากฏออกมา คือ ภาพการเดินทางไปพบกับประธานชมรมต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นคนใน 3 จังหวัดที่ไปประกอบอาชีพเปิดร้านอาหารในมาเลเซีย เพื่อช่วยเหลือให้ทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย

              ไฟการเมืองที่ถูกจุดขึ้นมาทับซ้อนไฟใต้ ก็ราลงไปด้วยข้อเท็จจริงดังนี้

              แต่ถ้ายกเรื่องข้อเท็จจริงออกไป ว่าด้วยเรื่องแนวคิดหรือปรัชญาการแก้ปัญหาล้วนๆ ถามว่า ถ้าไปเจรจาจริงแล้วผิดตรงไหน มีปัญหาอะไร จะยิ่งทำให้สถานการณ์ร้ายแรงขึ้นจริงอย่างที่กล่าวหา หรือ ว่าจะเริ่มเห็นทางแก้ไขปัญหาได้หลากหลายขึ้น?

              ถ้าไม่อยากให้เจรจา แปลว่า อยากให้รบกันไปเรื่อยๆ ให้ชาวบ้านผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ล้มตายเสียหายมากกว่านี้ ?

              ถ้าไม่เจรจา ท่านผู้คัดค้านการเจรจาเสนอทางเลือกอะไรที่ดีกว่า?

              หรือจะให้เข้าใจว่า คนที่ค้านการเจรจาได้ประโยชน์จากความไม่สงบในภาคใต้ถึงไม่อยากให้เรื่องยุติ ?

    

ที่มา: คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 11 เมษายน 2555)