The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   ไฟใต้ดับได้ที่ใจเรา

ไฟใต้ดับได้ที่ใจเรา

โดย : บันฑิตย์ สะมะอุน

         สำนักข่าวอะลามี่: เมื่อย้อนคิดถึงสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่เกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงหลายระดับ บางช่วงก็รุนแรงน้อยถึงระดับปานกลาง และบางช่วงก็มีความรุนแรงมาก

         เมื่อมองผ่านสถานการณ์ในช่วงต่างๆของระดับความรุนแรง จะพบว่า ช่วงสถานการที่รุนแรงมากมักเกิดจากกระแสการปลุกกระแสแนวคิดทางศาสนาของคนในพื้นที่ออกสู่สาธารณะ

        นั่นหมายถึง การปลุกกระแสแนวคิดทางศาสนาที่ซ่อนเร้นความรุนแรง ซึ่งคนส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นคนมุสลิมที่นับถือศาสนาอิสลาม เช่น การประกาศให้วันหยุดเป็นวันหยุดราชการในพื้นที่ การกล่าวอ้างว่ามีผู้รู้บางคน/บางกลุ่มที่สั่งสอนอุดมการณ์ผิดๆให้แก่เยาวชน เช่น การฆ่าคนต่างศาสนาเป็นความดีงามและได้รับผลบุญจากพระเจ้า การเผา/การวางระเบิด/และความรุนแรงต่างๆในพื้นที่เป็นการกระทำที่ได้รับผลบุญ

         การสื่อให้สังคมรับรู้ถึงปรากฎการณ์ดังกล่าวถือเป็นดาบสองคม ที่ไม่ได้ช่วยให้สังคมดีขึ้นมาเลย เมื่อได้รับฟังเรื่องราวดังกล่าว ตรงกันข้ามกลับจะยิ่งทำให้คนในสังคมที่อยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางศาสนาและเชื้อชาติ ที่เรียกรวมกันว่าคนไทยเกิดความรู้สึกหวาดระแวงต่อกัน หวาดระแวงต่อแนวความคิด/ทัศนคติของกันและกัน และอาจกลายเป็นความปั่นป่วนทางสังคมในที่สุด

         ความมั่นคงทางสังคมคือความรู้สึกที่ดีต่อกันระหว่างคนในสังคม มิตรภาพบนการยอมรับความแตกต่างของคนในสังคมคือสิ่งสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงของชาติ แม้จะเป็นความคิดของคนบางคนที่สื่อออกสู่สาธารณะแต่อาจกลับกลายเป็นการชี้นำให้สังคมเข้าใจแบบเหมารวม

          ความจริงแล้วกระแสข่าวลักษณะดังกล่าวนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในพื้นที่ในอดีต แต่เป็นลักษณะของกระแสข่าวภายในพื้นที่เท่านั้น (local) แต่ในปัจจุบันมีการให้ข่าวลักษณะดังกล่าวออกสู่สาธารณะมากขึ้น หากจะสังเกต สถานการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมาจะเห็นว่า ช่วงใดที่มีข่าวลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นมักจะเกิดเหตุความรุนแรง เหมือนจะบอกเป็นนัยว่า มีความพยายามโหมกระพือข่าวลักษณะดังกล่าวเพื่อให้เกิดเป็นความรุนแรงที่เกิดจากปัญหาขัดแย้งทางศาสนาในพื้นที่อยู่ตลอดมา เหมือนเป็นการอ้างว่าเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นตลอดมาเกิดจากสาเหตุของคน/กลุ่มคนที่คลั่งศาสนา/คลั่งลัทธิ  ทั้งที่มีสาเหตุอื่นที่มีน้ำหนักกว่าที่น่าจะเป็นสาเหตุแห่งปัญหาความรุนแรงในพื้นที่

         หน้าที่สำคัญของผู้ที่รับผิดชอบคือเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ต้องใช้กฎหมายและดำเนินไปตามกระบวนการทางกฎหมายและศาลที่ต้องหาผู้กระทำความผิดดังกล่าวมาสืบสวน/สอบสวน เพื่อไม่ให้เกิดอาชญากรรมที่ไร้กฎหมาย การกระทำความผิดหรืออาชญากรรมในรูปแบบต่างๆถือเป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องต้องห้ามตามบัญญัติในทุกศาสนาอยู่แล้ว ไม่มีศาสนาใดที่สนับสนุนให้ศาสนิกของตนเป็นคนบาป หรือเป็นอาชญากร

         ซึ่งก็สอดคล้องด้วยหลักการปกครองในรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ ที่ต้องดำเนินไปตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ เพราะฉะนั้นเหตุรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้จึงต้องแก้ไขด้วยกระบวนการทางกฎหมายรัฐธรรมนูญของชาติที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจนแล้ว

         การกล่าวอ้างว่ามีแนวคิดดังกล่าวในพื้นที่ ยังจะทำให้เกิดความหวาดระแวงและความสับสนจนถึงขั้นขัดแย้งระหว่างมุสลิมด้วยกันเอง ทำให้ความเป็นพี่น้องมุสลิมห่างเหินด้วยการสร้างความหวาดระแวงระหว่างกันให้เกิดขึ้น ในความเป็นจริงปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องที่ภายในประเทศต้องจัดการกันเอง ปัญหาของพื้นที่คือการไม่สามารถนำขบวนการตัดสินทางกฎหมายและกระบวนการศาลยุติธรรมของชาติมาใช้ให้เป็นมาตรฐานได้

         สมมุติฐานแบบเดิมๆที่มุ่งเน้นไปที่เรื่องของกลุ่มความคิดอุดมการณ์ เช่น กลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน กลุ่มแนวคิดการสถาปนารัฐปัตตานี กลุ่มขบวนการก่อการร้าย กลุ่มเรียกร้องการปกครองตนเอง หรือ กลุ่มอื่นๆล้วนเป็นสมมุติฐานที่ไม่สามารถมองเห็นความหวังที่จะทำให้เหตุการณ์ในพื้นที่สงบลงหรือดีขึ้นแต่ประการใด

       การตั้งข้อหาให้กับคนในพื้นที่ด้วยประเด็นดังกล่าว ยังไม่สามารถหาผู้กระทำผิดจริงตามที่ตั้งข้อหาไว้ได้เลย มีแต่ผู้ต้องสงสัยที่ไม่ได้มีส่วนร่วมจริงกับการก่อเหตุที่รุนแรง เรื่องการใช้งบประมาณที่จัดสรรลงไปในพื้นที่จำนวนมากมายน่าจะเป็นประเด็นน่าสนใจมากกว่าเรื่องของกลุ่มแนวคิดขบวนการ

         เรื่องความมีอคติระหว่างคนในชาติก็เป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญที่จะต้องได้รับการแก้ไขเป็นพิเศษ การเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของความเป็นคนไทยยังต้องเปิดใจให้กว้างระหว่างผู้ปกครองกับประชาชน ผู้ปกครองต้องให้สิทธิเสรีภาพในกรอบที่กฎหมายรับรอง และประชาชนก็ต้องเรียนรู้ในเรื่องสิทธิหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด

         แต่สำหรับประชาชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ซึ่งดูจะมีความแตกต่างเฉพาะตัวทางประวัติศาสตร์/ศาสนาวัฒนธรรม/วิถีชีวิต/เชื้อชาติ ทฤษฎีที่ในหลวงเสนอในเรื่องการแก้ไขปัญหานี้คือ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา

          บทสรุปที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้ผู้กระทำผิดตัวจริงได้รับการตัดสินลงโทษต่อการกระทำของตนตามกระบวนการทางกฎหมายและศาลยุติธรรม เป็นทางออกเดียวที่จะทำให้เกิดมาตรฐานทางสังคม การกล่าวอ้างหรือการจะลงโทษด้วยความผิดของคนในสังคม ไม่สามารถจะจัดการกันด้วยอารมณ์และความรู้สึก แต่การตัดสินว่าใครผิดใครถูกต้องเกิดจากกระบวนการทางกฎหมายและศาลยุติธรรมของชาติ แม้แต่ในทางกฎหมายอิสลามก็ต้องมีผู้พิจารณาคดี(กอฎี) เมื่อเกิดเป็นคดีความต่างๆ ไม่ใช่พิจารณากันเองโดยละทิ้งตัวบทบัญญัติทางกฎหมายในลักษณะที่เรียกว่าศาลเตี้ย

         การกล่าวหาผู้อื่นโดยไร้หลักฐานในหลักการของอิสลามถือเป็นบาปใหญ่ เพราะการกล่าวหามีผลเสียร้ายแรงกับชีวิตของผู้ที่ถูกกล่าวหาและชีวิตทางสังคมก็เกิดความสับสนและเกิดความหวาดระแวงต่อกัน เป็นฟิตนะห์ที่ร้ายแรงที่ต้องขจัดออกไปด้วยหลักฐานที่ถูกต้องชัดเจน อัลกุอานได้มีบทบัญญัตว่า "ฟิตนะห์(ความสับสน/ความหวาดระแวง/ความวุ่นวาย)นั้น รุนแรงกว่าการฆ่า" (อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 191)

         คดีความเกี่ยวกับปัญหาความมั่นคงเฉพาะของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย จะต้องทำให้เกิดความกระจ่างชัดแก่สังคม เพราะที่ผ่านมาผู้ที่ถูกจับกุมด้วยเพียงข้อหาสงสัยได้ถูกฝากขังลืมจนเสียขวัญเสียกำลังใจกันมากมาย ความรู้สึกของชาวบ้านในพื้นที่ที่เสียไปกับผลของการจัดการจากผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเป็นฝันร้ายที่วนเวียนอยู่ในชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่

          วันนี้ คงต้องกลับมาพูดสิ่งดีๆที่มีอยู่มากมายในพื้นที่และช่วยกันสื่อสารออกไปยังสาธารณะ สร้างวัฒนธรรมในการยอมรับความแตกต่างทางศาสนาวัฒนธรรม สร้างความเข้มแข็งของชาวบ้าน/ชุมชนขึ้นมาให้สามารถพึ่งตัวเองให้ได้ (ไม่ใช่แค่เพียงรองบประมาณและการช่วยเหลือจากภายนอก)

ภายในพื้นที่ต้องเข้มแข็งด้วยการสร้างฐานการศึกษา ฐานวัฒนธรรม ฐานอาชีพของคนในพื้นที่ให้พร้อมให้สามารถพึ่งตัวเองได้ ซึ่งรัฐต้องให้ความสำคัญ/ส่งเสริมและวางแผนอย่างสอดคล้องกับพื้นที่และวัฒนธรรมในท้องถิ่น อย่าท้าทายกัน อย่าตอบโต้กันด้วยอำนาจที่มองไม่เห็น

         ซึ่งสุดท้ายแล้วความทุกข์/ความเจ็บปวดจะไปตกอยู่กับชาวบ้านและสังคมไทยในที่สุด ผู้ใหญ่ในสังคมต้องไม่พูดในสิ่งที่ไม่มีหลักฐานที่ถูกต้องชัดเจน และคำพูดนั้นต้องไม่ทำให้เกิดประเด็นชี้นำให้เกิดความขัดแย้ง/สับสน/หวาดระแวงขึ้นกับคนในสังคม

.