Education
Home   /   Education  /   คนชายแดนใต้ตอบรับสื่อวิทยุ-ทีวีมลายู

คนชายแดนใต้ตอบรับสื่อวิทยุ-ทีวีมลายู

             สำนักข่าวอะลามี่: สื่อวิทยุ ภาษามลายู ได้รับความสนใจจากประชาชนในการร่วมค้นหาทางออก เพื่อการยอมรับและให้เกียรติต่อการใช้ “ภาษา”

              หลังจากที่มีการเปิดสถานีวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง ภาษามลายู ที่มหาวิทยาราชภัฏยะลา เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2556 ที่ผ่านมานั้น ทำให้คณะกรรมการดำเนินงานได้จัดประชุมที่ปรึกษาและคณะกรรมการ “สถานีวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงภาษามลายู” ครั้งที่ ๑/๒๕๕๖ ในวันพุธที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๖ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคารเอนกประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยมีพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วย พลตำรวจตรีจำรูญ เด่นอุดม ประธานคณะกรรมการดำเนินงาน นายเด่น โต๊ะมีนา ที่ปรึกษาคณะกรรมการดำเนินงาน พร้อมด้วยคณะกรรมการเข้าร่วมเสนอความคิดเห็นจำนวนกว่า 40 คน

             จากมติที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี มีความเห็นว่า การผลิตสื่อภาษามลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับนักวิชาการ อาจารย์ ผู้นำศาสนา ที่มีความเชี่ยวชาญภาษามลายู ร่วมกันจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง ภาษามลายู คลื่นความถี่ FM 88.75 MHz สำหรับสื่อทางโทรทัศน์ภาษามลายูอยู่ในช่วงทดลองการออกอากาศ ซึ่งรายการต่างๆ ประกอบด้วย 8 กลุ่มสาระ คือ 1. ศาสนา ประวัติศาสตร์อิสลาม ตำนานท้องถิ่น ๒. การเมือง การปกครอง และกระบวนการความยุติธรรม ๓. สุขภาพ อนามัย และการแพทย์ ๔. เศรษฐกิจ อาชีพ การเกษตร การเงิน การธนาคาร ๕. สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ๖. การท่องเที่ยว และการกีฬา การศึกษา ๗. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ๘. ข่าวสารและความบันเทิง ซึ่งรายการทั้งหมดจะนำไปสู่การสร้างสันติภาพร่วมกัน ทั้งนี้การออกอากาศอยู่ภายใต้การตรวจสอบเนื้อหาให้ตรงกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของคณะกรรมการดำเนินงาน เพื่อการใช้ภาษาอย่างถูกต้อง

              พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า ผมรู้สึกดีใจที่วันนี้มีสื่อภาษามลายูเกิดขึ้น เพื่อเปิดเวทีของประชาชนทุกคนได้แสดงความคิดเห็นและร่วมพูดคุยเป็นสื่อ 2 ทางในการสื่อสาร สังเกตได้จากเสียงของประชาชนที่เป็นส่วนสำคัญในการดับไฟใต้ เพราะการยอมรับและให้เกียรติต่อ “ภาษา” ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดีที่สุดถึงพี่น้องมุสลิม ถ้า ศอ.บต.ซื้อโรงแรมชางลี ให้เป็นศูนย์การศึกษาทางวัฒนธรรม จะให้สถานีวิทยุมลายูไปอยู่ที่นั้น เพื่อประชาชนจะได้เกิดความภูมิใจที่มีเวทีเป็นของคนไทยทั้งประเทศที่รักภาษามลายู