Education
Home   /   Education  /   ม.อ.ปัตตานี เปิดเวทีสัมมนาครูผู้สอนภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษาทั่วประเทศ

ม.อ.ปัตตานี เปิดเวทีสัมมนาครูผู้สอนภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษาทั่วประเทศ
 
            สำนักข่าวอะลามี่: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ร่วมกับมูลนิธิเกาหลี เปิดเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษา ให้แก่นักวิชาการ ผู้สอนภาษาเกาหลี ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในประเทศไทย 

            ศาสตราจารย์ ดร.ปริศวร์ ยิ้นเสน คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า การศึกษาภาษาเกาหลีในประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรกในระดับอุดมศึกษา ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อปี 2529 ได้ขยายการศึกษาภาษาเกาหลี สู่โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเกาหลี ในการสาธิตการจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลี ให้แก่นักเรียนในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาของภาคใต้

         และจัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเกาหลีศึกษาขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เมื่อปี 2552  จนทำให้ภาษาเกาหลี มีความสำคัญในฐานะภาษาต่างประเทศที่ได้รับการบรรจุให้เป็นรายวิชาที่ใช้ในการสอบคัดเลือกของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ทำให้ผู้สอนมีความต้องการข้อมูลความรู้ด้านภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษา เพื่อให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพสูงสุด

         “ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับมูลนิธิเกาหลี  กำหนดจัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษาระหว่างวันที่ 19-21 กันยายน 2562  ณ โรงแรมแมนดาริน เมนเนจ บาย เซ็นเตอร์ พ้อยท์ กรุงเทพฯ ให้แก่นักวิชาการ ผู้สอนภาษาเกาหลีระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย “

          พร้อมเปิดประเด็นนำเกาหลีศึกษาเข้าสู่ระดับอาชีวศึกษา เพื่อระดมความคิดเห็นระหว่างผู้เชี่ยวชาญชาวไทยกับชาวเกาหลีในด้านประวัติศาสตร์ สังคม และเศรษฐกิจ ตลอดจนร่วมกันหาแนวในการพัฒนาการศึกษาภาษาเกาหลีในประเทศไทย ทั้งระดับมัธยมศึกษาและระดับอาชีวศึกษา  โดยมี นายลี อุค-ฮอน  เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี ประจำประเทศไทย  เป็นประธานในพิธีเปิด  

           สาระสำคัญของการสัมมนาประกอบด้วย การประชุมเชิงปฏิบัติการกลุ่มผู้สอนภาษาเกาหลี และกลุ่มคณาจารย์ผู้สอนสังคมศึกษา การเสวนาทางวิชาการเรื่อง การเปลี่ยนแปลงและอนาคตของสังคมการเมืองเกาหลี 2019 , เศรษฐกิจสร้างสรรค์เกาหลีสไตล์กับเศรษฐกิจการท่องเที่ยววิถีไทย ,

            การบรรยายทางวิชาการ ได้แก่ บทบาทและหน้าที่ของสื่อมวลชนกับการพัฒนาประเทศเกาหลีใต้ , บทวิเคราะห์และประเด็นความสนใจเกี่ยวกับประเทศเกาหลีใต้ในสื่อไทย , แนวโน้มนโยบายและลักษณะพิเศษของการจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีระดับมัธยมศึกษาในประเทศไทย , นักศึกษาต่างชาติทางรอดของมหาวิทยาลัยในเกาหลีใต้ , อิทธิพลของสังคมและวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงความเชื่อและค่านิยมของชาวเกาหลี ,

           การเรียนการสอนภาษาเกาหลี : สภาพการจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในโรงเรียนมัธยมศึกษากับปัญหาการสอบเข้ามหาวิทยาลัย , การเรียนการสอนภาษาเกาหลี : วรรณคดีเกาหลี , การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่ส่งผลกระทบต่อสังคมเกาหลีใต้ในปัจจุบัน , เกาหลีใต้กับการพัฒนาประเทศ ภาวะเศรษฐกิจของเกาหลีใต้หลังสงครามเกาหลี เป็นต้น

            ศาสตราจารย์ ดร.ปริศวร์ ยิ้นเสน  กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในประเทศไทย ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการ สถาบันการศึกษา รัฐบาลเกาหลี ส่งผลให้โรงเรียนมัธยมศึกษาในประเทศไทยจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลี ปัจจุบันมีโรงเรียนมัธยมที่เปิดสอนวิชาภาษาเกาหลี จำนวน 80 แห่งทั่วประเทศ และมีจำนวนนักเรียนประมาณ 25,000 คน และปัจจุบันมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศได้มีการสร้างความร่วมมืออย่างจริงจังในการดำเนินกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในรูปแบบต่างๆ ทั้งการพัฒนาปรับปรุงตำราเรียนและการอบรมครูผู้สอน  

             อย่างไรก็ตาม ผลจากการจัดสัมมนาเกาหลีศึกษา เมื่อปี 2561 พบว่าคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้นำเสนอมาตรการเพื่อพัฒนาการศึกษาภาษาเกาหลีในโรงเรียนมัธยมศึกษา คือ การจัดการเรียนการสอนแบบมีส่วนร่วมด้วยการจัดพื้นที่ภาษาเกาหลี  การสนับสนุนของผู้ปกครองในการศึกษาภาษาเกาหลี  เพิ่มสัดส่วนครูผู้สอนภาษาเกาหลีชาวไทยให้มากขึ้น  ขยายช่องทางระบบทุนการศึกษา  ส่งเสริมการศึกษาในการเตรียมสอบวัดระดับภาษาเกาหลี พัฒนาคู่มือการเรียนการสอน  สนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับการสอบวัดระดับภาษาเกาหลีเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ขยายการฝึกอบรมภาษาเกาหลีระยะสั้นในสาธารณรัฐเกาหลี   

          สำหรับผู้สอนภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษาในระดับมัธยมศึกษาได้มีการนำเสนอแนวคิดเกาหลีศึกษาในประเทศไทยยังต้องการสิ่งสนับสนุนทุนการศึกษา ทุนจากหน่วยงานในเกาหลี และผู้สอนต้องมีความตื่นตัวพร้อมที่จะพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษา อีกทั้งมีบทบาทในการกำหนดขอบเขตของเนื้อการในการจัดการเรียนการสอนและการออกข้อสอบเพื่อสอบเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษา  นับเป็นเวทีที่เห็นความสำคัญการจัดระบบการศึกษาเกาหลีศึกษาเพื่อรองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล  ทำให้รัฐบาลเกาหลีจัดส่งครูผู้สอนภาษาเกาหลีให้แก่วิทยาลัยอาชีวศึกษาที่เปิดสอนวิชาภาษาเกาหลีจำนวน 5 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดต่างๆ เช่น จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดปทุมธานี เป็นต้น

          ในการนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ดำเนินการเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาการศึกษาภาษาเกาหลีในประเทศไทย ได้แก่ จัดทำนโยบายการศึกษาภาษาเกาหลี จัดเตรียมหลักสูตรการศึกษา สนับสนุนและจัดทำแนวทางฝึกอบรมครูผู้สอน แผนกิจกรรมการศึกษา  จัดทำตำราเรียนภาษาเกาหลี  และจัดทำรูปแบบและวิธีการประเมินผลภาษาเกาหลี สำหรับผลการสัมมนาในครั้งนี้ คาดหวังว่าผู้ร่วมสัมมนามีความเข้าใจด้านเกาหลีศึกษาที่เป็นปัจจุบันรวมทั้งแนวทางการจัดการเรียนการสอนต่อไป.