Education
Home   /   Education  /   สสม. เร่งขยายฐานกองทุนซากาตชุมชน

สสม. เร่งขยายฐานกองทุนซากาตชุมชน

หลังการขับเคลื่อนจัดตั้ง พรบ. ล้มเหลว

 

            สำนักข่าวอะลามี่ : แม้ความพยายามขับเคลื่อนผลักดันให้มีการจัดตั้ง พรบ. ซากาต จะดูเหมือนไร้อนาคต แต่ สสม. ยังคงเดินหน้าสร้างกองทุนซากาต โดยผ่านระบบชุมชนแทน ด้าน “ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์” นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ วอนรัฐบาลเข้าใจเจตนา การจัดตั้ง พรบ. ซากาต ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และจะช่วยประหยัดงบรัฐบาลแก้ปัญหาสังคมได้มหาศาล


           ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ในฐานะผู้จัดการแผนงานสร้างสุขมุสลิมไทย  กล่าวถึงการพยายามขับเคลื่อนจัดตั้ง พรบ.กองทุนซากาต ว่า ที่ผ่านมาได้มีการจัดทำงานวิจัยพร้อมๆ กับการพยายามผลักดัน ด้วยการสนับสนุนให้เกิดการเสวนา เพื่อให้แต่ละจังหวัดตั้งกองทุนซากาต ให้สำเร็จให้ได้ ทั้งนี้จากข้อมูลงานวิจัยของ อาจารย์อับดุลเลาะห์ หนุ่มสุข เป็นหัวหน้าทีมเมื่อประมาณ10 ปี ที่ผ่านมา มีการจัดตั้งเป็นกองทุนซากาต ไม่มากนัก แต่เชื่อว่า หากมีการจัดตั้งกองทุนซากาตมากขึ้น ก็จะสามารถลดปัญหาด้านเศรษฐกิจ และความยากจนของชุมชนได้

            “ ในส่วนของ สสม. วันนี้ เราได้จัดตั้งหลักสูตรโรงเรียนผู้นำ ด้วยการดึงตัวแทนชุมชนเข้ามาร่วมการอบรม เป็นการสร้างความเข้าใจ และสร้างคนไว้รองรับก่อน อย่างไรก็ตามหากเรามีบุคลากรที่เข้มแข็ง คาดว่าจะสามารถจัดตั้งกองทุนได้ง่ายขึ้น ”

            อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.อิศรา ยอมรับว่า การผลักดันจัดตั้ง พรบ.กองทุนซากาต ณ วันนี้ เป็นไปได้ยากมาก เพราะเมื่อวันที่ 23 พ.ย.2559 ที่ผ่านมา สภาขับเคลื่อนประเทศ เพิ่งถอนเรื่องนี้ออกจากการพิจารณา ด้วยเหตุผลของความไม่เข้าใจและเรื่องโรคกลัวอิสลาม แต่กระนั้นในเวลาไล่เลี่ยกัน นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งการให้นำเรื่องนี้มาพิจารณาใหม่ แต่ก็คงไปได้ยาก

            สำหรับแนวทางการจัดตั้งกองทุนซากาต ในวันนี้หากให้เป็นการออกโดยมีกฎหมายรองรับคงเป็นไปได้ยาก ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดจะต้องเร่งผลักดันให้เกิดในระดับชุมชน และสิ่งที่จำเป็นที่สุดในวันนี้ คือการทำความเข้าใจกับสังคมไทยว่า ซากาตคืออะไร และมีความสำคัญต่อสังคมมุสลิม รวมถึงสังคมภาพรวมของประเทศอย่างไร ศ.ดร.อิศรา กล่าวและว่า

           “หัวใจสำคัญของการจัดตั้งกองทุนซากาต คือ จะต้องสร้างกระบวนการจัดการ อันนี้คือหัวใจครับ อันนี้คือหัวใจจริงๆ ต่อให้มี พรบ. เกิดขึ้น แต่หากในระดับชุมชนยังไม่เข้าใจก็จะไม่เกิดประโยชน์ แต่ถ้าระดับชุมชนทำแล้วเกิดประโยชน์ การมี พรบ. ซากาต ตามมาภายหลัง เป็นส่วนประกอบที่อาจทำให้ระบบกองทุนซากาต มีประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น”


    ผู้จัดการแผนงานสร้างสุขมุสลิมไทย ยังได้วิเคราะห์หาก พรบ.กองทุนซากาตเกิดขึ้น โดยมองว่า จะมีประโยชน์ในระดับชาติ เช่น เงินที่เป็นซากาต จะมากขึ้น และจะมีการไหลเวียนของเงินซากาต จากบางจุดที่มีซากาตเหลือใช้ ก็จะนำไปยังจุดที่ขาดแคลนได้มากขึ้น ทั้งนี้เพราะว่าชุมชนมุสลิมแต่ละชุมชนมุสลิม มีฐานะไม่เหมือนกัน บางชุมชนรวยมากซากาตเหลือเฟือ ไม่มีคนรับซะกาต แต่บางชุมชนมีคนจนมาก ซากาตมีน้อย เราก็สามารถที่จะโยกย้ายซากาต มาช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้

             นอกจากนี้สิ่งที่จะตามมาคือจะทำให้รัฐบาลสามารถประหยัดงบประมาณได้จำนวนมหาศาล ทั้งนี้พบว่าคนจนในประเทศไทยประมาณ 20% เป็นมุสลิม รัฐบาลจะประหยัดงบประมาณไปได้จำนวนมาก เพียงแต่รัฐบาลจะต้องสนับสนุน  พรบ.กองทุนซะกาต คนจนหายไป

            “ ซากาต เป็นการช่วยให้คนจนหายไป ไม่เพียงเท่านั้น ยังช่วยแก้ปัญหาการศึกษา จะทำให้รัฐบาล มีกำลังแรงงานที่มีคุณภาพมากขึ้น แก้ปัญหาคนตกงาน และยังสามารถแก้ปัญหาสารพัดอย่างที่รัฐบาลกังวล ขอเพียงอย่างเดียว ขอให้รัฐบาลเข้าใจว่า การขับเคลื่อนเรื่องซากาต นั้น มีเจตนาดีและทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ได้ทำเพื่อเจตนาร้ายเท่านั้นเอง ” ศ.ดร.อิศรา กล่าว.

            ด้าน ผศ.ดร. วิศรุต เลาะวิถี นักวิชาการด้านอิสลามศึกษา ในฐานะรองประธานกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า  คณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร ตระหนักเป็นอย่างดีว่าอยากจะให้มัสยิดมีบทบาทสำคัญ และมีความแข็งแรง ในการจัดตั้งกองทุนซากาต จึงจับมือกับ สสม. ในการระดมความคิดความเห็นในเรื่องการจัดตั้งกองทุนซากาตในระดับชุมชน โดยเฉพาะให้มัสยิดจะเป็นแกนกลางสำคัญ

            “ เรามองว่า กองทุนซากาต เป็นเรื่องสำคัญ รองจากเรื่องการละหมาด แต่ว่าสังคมมุสลิมไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร จึงเป็นการจุดประกายให้ผู้บริหารมัสยิดได้ตระหนักรู้ว่าจะต้องดำเนินในเรื่องของการจัดตั้งกองทุนซากาต และ สวัสดิการของสังคม ให้เป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง ”

            อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาเราได้ดำเนินการด้านหลักการ โดยเฉพาะรวบรวมมุสลิมที่มีสิทธิ์จ่ายซากาต ให้มามอบกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และเราก็จะจัดสรรปันส่วน เพื่อเป็นการช่วยเหลือในเรื่องของทุนการศึกษา เด็กกำพร้า ส่วนหนึ่ง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่จะช่วยเหลือกับคนที่ขาดแคลนยากไร้จริงๆ ซึ่งยังเข้าไม่ถึง

            ดังนั้นจึงได้นำมัสยิดที่มีความพร้อมในกรุงเทพหานคร จำนวน 50 มัสยิด จากทั้งหมด 189 มัสยิด ในกรุงเทพมหานคร เพื่อจัดตั้งให้เป็นมัสยิดนำร่อง ให้มีการบริหารจัดการ มีการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม เพื่อที่จะได้ขยายผลอีก 50 มัสยิด ในปีต่อไป ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้เกิด กองทุนซากาต ในวงกว้าง ต่อไปในอนาคต