Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   โรงแรมหาดใหญ่รุก"ครัวฮาลาล"รับนักท่องเที่ยวมุสลิม

โรงแรมหาดใหญ่รุก"ครัวฮาลาล"รับนักท่องเที่ยวมุสลิม

           สำนักข่าวอะลามี่ :โรงแรมหาดใหญ่แห่ขอขึ้นทะเบียนครัวฮาลาล รองรับลูกค้ามุสลิมทั้งใน3 จังหวัดชายแดนใต้และมาเลย์ ขณะทีประธานกรรมการอิสลามสงขลาเผยยอดผู้ขึ้นทะเบียนสินค้าฮาลาลขยายตัวต่อเนื่อง

             นายสมชาติ  พิมพ์ธนะพูนพร  เจ้าของโรงแรมซากุระกรีนวิว โฮเต็ล นายกสมาคมโรงแรมหาดใหญ่สงขลา และประนสภาอุตสาหกรรมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา เปิดเผยกับ “สำนักข่าวอะลามี่" ว่า ขณะนี้อาหารฮาลาลที่ผลิตโดยชาวมุสลิมได้ขยายตัวเติบโตเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะครัวอาหารอาลาลตามโรงแรมชั้นนำของหาดใหญ่ และ มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเติบโตเพิ่มขึ้นตามลำดับ นอกนั้นยังมีร้านอาหารมุสลิมที่มีจำนวนมากขึ้น

             “ปัจจัยสำคัญสืบเนื่องมาจากมีคนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มาอาศัยประกอบอาชีพในจังหวัดเพิ่มมากขึ้น และ คนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เข้ามาอบรมสัมมนาตามโรงแรมในหาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น "

             สำหรับโรงแรมซากุระ ก็จัดทำอาหารฮาลาลเช่นกัน ในส่วนนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย ที่เข้าไปใช้บริการอาหารฮาลาล ยังเป็นส่วนน้อยกว่าคนไทยพวกเขายังนิยมไปใช้บริการร้านอาหารอิสลามกันมากกว่า ส่วนราคาก็ไม่ต่างกันกับอาหารไทย อาหารจีน ครัวฮาลาลที่ขึ้นชื่อก็จะเป็นโรงแรมหาดใหญ่ พาราไดซ์ โรงแรมเปรสสิเด้นท์ เป็นต้น”นายสมชาติ กล่าว

                นายวิทยา ลิ่ม มัคคุเทศก์อาชีพจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า  ครัวอาหารฮาลาลได้ขยายตัวเติบโตมาเป็นเวลาประมาณ 3 ปี ในโรงแรมหาดใหญ่ ซึ่งขณะนี้ได้ขยายตัวตามโรงแรมระดับชั้นนำประมาณ 20 โรงแรม  กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ จาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ส่วนจากชาวมาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านยังมีจำนวนไม่มาก

              “ครัวฮาลาล มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นตามลำดับ เนื่องจากชาวมาเลเซียมุสลิม ก็เข้ามาเป็นจำนวนมากเพิ่มมากขึ้น และในส่วนชาวมุสลิม ก็ได้เข้ามาประกอบอาชีพในจังหวัดสงขลาเพิ่มขึ้น นอกนั้นก็มีงานประชุมสัมมนาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ทะลักเข้ามาร่วมประชุมสัมมนาที่หาดใหญ่ในแต่ละปีเป็นจำนวนมากขึ้น”

            นายศักดิ์กริยา บิลแสละ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา  เปิดเผยว่า ขณะนี้กิจการอุตสาหกรรมฮาลาล ในจังหวัดสงขลา ค่อนข้างที่จะขยายตัวเติบโตที่ดี มีทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ปัจจุบันที่มาขึ้นทะเบียน มีทั้งโรงงานอุตสาหกรรมส่งออกออก จนถึงผลิตภัณฑ์ภายในหมู่บ้าน ส่วนผลิตภัณฑ์ส่งออก มีผลิตภัณฑ์ปลากระป๋อง ผลิตภัณฑ์อาหาร และผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม

           “ที่ผ่านมามีการขออนุญาตฮาลาลทุกปี ขณะนี้เป็นโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 50 แห่ง ทั้งขนาดเล็ก กลาง และขนาดใหญ่ โดยผลิตภัณฑ์ส่งออกไปยังประเทศตะวันออกกลาง เกาหลี และญี่ปุ่น เป็นต้น  ในส่วนโรงแรมต่าง ๆ  ในจังหวัดสงขลา ก็มีการขอนุญาตครัวฮาลาลเพิ่มขึ้น เช่นกัน”

            นายสุบหยาน  ยีหรีม  ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า รายได้จากการจดทะเบียนฮาลาลของพัทลุงได้ไม่มาก เพราะเป็นรายขนาดเล็ก และเป็นสินค้าโอทอป   ซึ่งมีอยู่ประมาณ 80 รายของพัทลุง  ต่างกับจังหวัดตรัง  สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล  ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมฮาลาล เป็นจำนวนมาก บางจังหวัดมีรายได้ถึง 2-3 ล้านบาท / ปี

“ฮาลาล”ไทย 10 ปีมีแต่คุย แพ้มาเลย์ ฉลุย

            ด้าน นายปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช  สมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.)  ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า  จาการประชุม สปต. ร่วมกับ ศอ.บต.  เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมา  โดยที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้การพัฒนายังไม่เป็นไปตามที่กำหนด สาเหตุสำคัญคือปัจจัยทางการเมืองเป็นหลักโดยเฉพาะนโยบายของรัฐบาลที่จะเข้ามาส่งเสริมผลักดัน แต่เนื่องจากรัฐบาลไทยบางสมัยขาดเสถียรภาพ หรือมีเสถียรภาพ แต่ไม่มีนโยบายที่ชัดเจนต่อนโยบายการแก้ไขปัญหา และพัฒนา  ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายราย  ไม่มีความมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุน

             “ทุกวันนี้อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ที่มีการพูดคุยมามากกว่า 10  ปี  ยังไม่มีความเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ และส่งผลต่อการพัฒนาประชาชนอย่างแท้จริง  เมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลชายแดอย่างประเทศมาเลเซีย มีความก้าวหน้ามากกว่าหลายเท่าตัว โดยเฉพาะโครงการ ECER และ NCER โครงการเร่งด่วน   รวมถึงโครงการ Halal HubและHalalPark ที่กำลังทำรายได้ให้กับคนในพื้นที่อย่างมาก  ถ้าไม่ทำประเทศไทย จะไม่สามารถแข่งขันกับมาเลเซียได้”

            นายปกรณ์  ยังกล่าวอีกว่า จากที่ประชุมได้ระบุว่า หากรัฐบาลมีความสนใจและต้องการจะใช้ต้นทุนที่ดีของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อเป็นฐานสำคัญในการเปิดประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558  นี้ รัฐบาล ส่วนราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ที่เกี่ยวข้อง จะต้องดำเนินการภายใต้ข้อเสนอ

           " รัฐบาลจะต้องสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ทั้งระบบในทุกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  กำหนดเป็นนโยบายชัดเจน และดำเนินการอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง ให้มีการจัดตั้งจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตพัฒนาพิเศษด้านเศรษฐกิจ  และจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนในเรื่องให้มีการศึกษากฎหมาย BOI และ การนิคมฯ   ร่างข้อเสนอจูงใจและมาตรการดูแลทุกเรื่องเพื่อความมั่นใจให้กับผู้ลงทุน และบริหารจัดการด้านความมั่นคงประกันการลงทุน  และให้ความช่วยเหลือหลังเกิดเหตุการณ์ทั้งในระยะสั้น กลาง ยาว."นายปกรณ์ กล่าว.