The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   3 จว.ชายแดนใต้ : กับข้อเสนอใหม่ “ปัตตานีมหานคร”

3 จว.ชายแดนใต้ : กับข้อเสนอใหม่ “ปัตตานีมหานคร”

โดย ชาญวิทยา ชัยกูล

              สำนักข่าวอะลามี่: ความรุนแรงที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บอกให้รู้เป็นนัยว่าการกลับมาอีกครั้งของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการแก้ปัญหา

             ขณะที่ข้อเสนอให้รวมเอา จังหวัดปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส เข้าด้วยกัน ภายใต้ชื่อนครปัตตานี ถูกนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกมายืนยันว่ารัฐบาลนี้ไม่สนับสนุน ขณะที่แนวคิดภายใต้การขับเคลื่อนขององค์กรภาคประชาชนและนักวิชาการบางคนที่ชูประเด็น “จังหวัดจัดการตนเอง” เริ่มมีความชัดเจนและน่าสนใจยิ่ง

               "จังหวัดจัดการตนเอง" คือแนวคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบ "รวมศูนย์อำนาจ" อันเป็นต้นตอของความขัดแย้งทางการเมืองของขั้วอำนาจต่าง ๆ ก่อให้เกิดการพัฒนาแบบกระจุกตัว สร้างความเลื่อมล้ำต่อการพัฒนาเมืองและชนบท จึงต้องมอบอำนาจการบริหารจัดการพื้นที่ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยปรับลดบทบาทของราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคลงไปให้มากที่สุด และหันไปส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาและการบริหารงานท้องถิ่นของตนเองได้อย่างมีอิสระ ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับ กรุงเทพมหานคร และ เมืองพัทยา

              แนวคิดนี้ถูกจุดประกายขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ก็ยังได้ให้สนใจต่อข้อเสนอเรื่องจังหวัดจัดการตนเองเป็นอย่างมาก เพราะเห็นว่าสอดคล้องกับทิศทางการกระจายอำนาจและสามารถจะนำไปใช้เป็นกลไกในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สงบลงได้ โดยพุ่งเป้าไปที่ยังจังหวัดปัตตานี เนื่องจากมีประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ที่เป็นของตนเองอย่างชัดเจน โดยนอกจากจะต้องเข้าไปรับปรุงโครงสร้างบางส่วนของ ศอ.บต.แล้ว อาจจะต้องยกฐานะจังหวัดปัตตานีให้เป็นจังหวัดจัดการตนเองในรูปแบบเมืองพิเศษ ซึ่งประชาชนในพื้นที่มีอำนาจในการปกครองตนเองมากขึ้น

            “ไม่มีใครแก้ปัญหาของท้องถิ่นได้ดีกว่าตัวของคนในท้องถิ่นเอง และไม่มีการปกครองใดที่ดีและยิ่งใหญ่กว่าการปกครองตนเองของประชาชน ผมเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ การสร้างมหานครในพื้นที่ๆ เหมาะสม เพราะจะเป็นตัวชี้วัดให้เห็นว่าการปกครองของประเทศไทยเป็นการปกครองที่ไม่ใช่การรวมศูนย์ แต่เป็นการปกครองแบบกระจายอำนาจ ซึ่งข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปในเรื่องการกระจายอำนาจก็เป็นแนวทางที่ดีอีกแนวทางหนึ่ง” มท.1 กล่าว

           ด้าน ดร.วณี ปิ่นประทีป รองผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูป กล่าวว่า คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปกำลังรณรงค์ให้ผู้คนในจังหวัดต่างๆ เตรียมการในการขับเคลื่อนการปฏิรูปในระดับจังหวัด โดยการจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นขึ้นในแต่ละภาคทั่วประเทศ โดยแต่ละจังหวัดจะเลือกเรื่องประเด็นที่คิดว่าคนในจังหวัดนั้นๆ เห็นตรงกันมากที่สุดมาดำเนินการ พร้อมทั้งเสนอแนวทางแก้ไขปัญหากันเองโดยใช้ประชาสังคมเข้าขับเคลื่อน หากมีปัญหาใดที่ยากเกินกว่าที่จะแก้ไขก็ให้ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากประเด็นใดจำเป็นที่จะต้องไปแก้ไขกฎหมายก็ให้เสนอไปที่คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป เพื่อทำเป็นข้อเสนอจากสมัชชาส่งไปถึงรัฐบาล

          “เวลานี้ได้มีบางกลุ่มเสนอให้จัดตั้งจังหวัดปัตตานีเป็นเขตปกครองพิเศษ เพื่อแก้ปัญหาไฟใต้ ซึ่งในรายละเอียดที่เสนอนี้ เขาใช้คำว่า ปัตตานีมหานคร โดยจะรวมเอา 3 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส กับ 2 อำเภอของจังหวัดสงขลาเข้ามาด้วย แต่แนวคิดนี้ในเชิงปฏิบัติ คิดว่ายังมีประเด็นปัญหาอยู่มาก หากจะให้เป็นเมืองพิเศษอย่างกรุงเทพมหานครหรือพัทยา ก็อาจจะเลือกที่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่งมาทำก่อน เช่น จังหวัดปัตตานี ยะลา หรือจังหวัดนราธิวาส อันนี้มีความเป็นไปได้ เพราะแต่ละจังหวัดมีพื้นฐานและอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน”

           ดร.วณี กล่าวอีกว่าแนวคิดนี้จะสอดคล้องกับข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจที่เสนอให้ปรับลดบทบาทของราชการส่วนภูมิภาคให้เป็นกลไกเชิงวิชาการ เชิงประสานนโยบายและตรวจสอบติดตาม โดยให้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหลือแค่ 2 ระดับ คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาล ซึ่งเรื่องการปกครองพิเศษของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรจะต้องมีเวทีในการระดมความคิดเพื่อหารายละเอียดที่ชัดเจนมากกว่านี้

           “ขณะนี้อาจารย์หมอประเวศ ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่อรวบรวมว่า เรื่องของ 3 จังหวัดชายแดนภาตใต้มีคนเสนอทางเลือกเอาไว้กี่ทางเลือก แล้วเอาประเด็นต่างๆ มาพิจารณาร่วมกันว่ามีข้อดี ข้อเสียอย่างไร และควรจะใช้รูปแบบไหน แล้วจะต้องเอาข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้ไปรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เขามีทางเลือกว่า ถ้าเขาจะเลือกแบบนี้ต้องเสียอะไรและได้ประโยชน์อะไรบ้าง”

           ทั้งนี้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีคนเสียชีวิตไป 4,000 กว่าคน มีคนที่ต้องกำพร้า หญิงหม้าย และคนบาดเจ็บอีกนับหมื่น โดยยังไม่รู้จะไปสิ้นสุดเมื่อไหร่ ?!

           ดร.วณี กล่าวว่า ในการประชุมสมัชชาปฏิรูปของพื้นที่จังหวัดภาคใต้ 14 จังหวัด ซึ่งจะจัดขึ้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันที่ 3-4 ตุลาคมนี้ ได้มีข้อตกลงร่วมกันแล้วว่า 3 จังหวัดชายแดนใต้จะต้องมาพูดคุยกันในเรื่องการแก้ไขปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกำหนดไว้ 3 ประเด็น คือ 1. เรื่องยุติธรรมสมานฉันท์ 2. เรื่องของจังหวัดจัดการตนเอง 3. เรื่องของความหลากหลายทางวัฒนธรรม

            “ขณะนี้ชาวบ้านถูกจับคุมคุมขังทั้งตัวจริง ตัวปลอม ปนกันไปหมด เราต้องคืนความยุติธรรมให้แก่ประชาชนเหล่านั้น รวมถึงการเยียวยาผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว เนื่องจากหลายคนหัวหน้าครอบครัวเสียชีวิต ผู้อยู่เบื้องหลังต้องอยู่อย่างยากลำบาก ฉะนั้นเรื่องของการเยียวยาเป็นเรื่องที่จำเป็น ส่วนเรื่องจังหวัดจัดการตัวเองจะเป็นประเด็นที่ให้แต่ละจังหวัดต้องกลับไปคิด จังหวัดปัตตานีจะตกลงเอาหรือไม่ ถ้าต้องไปรวมกับจังหวัดอื่นอีก 2 จังหวัด โดยมี อ.สะบ้าย้อย กับ อ.นาทวี จังหวัดสงขลามาร่วมด้วย จังหวัดยะลาคุณอยากจะเลือกทิศทางนี้หรือไม่ เพราะยะลาก็มีอัตลักษณ์ของคุณเอง นราธิวาสก็เช่นเดียวกัน ประเด็นเหล่านี้ประชาชนในพื้นที่ต้องหาทางออกร่วมกัน” ดร.วณี ปิ่นประทีปกล่าว

           ด้าน นายถวิล ไพรสณฑ์ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ออกมาสนับสนุนแนวคิดจังหวัดปกครองตนเอง เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่นายถวิลเสนอว่ายังไม่จำเป็นที่จะต้องจัดตั้งเป็นเขตปกครองพิเศษที่รวมเอายะลา นราธิวาสและปัตตานีเข้าด้วยกัน เพียงแต่ไปแก้กฎหมายองค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้อบจ.มีอำนาจและมอบหมายงานในภารกิจต่างๆ ให้มากขึ้น ตามสภาพปัญหาของพื้นที่จังหวัดนั้นๆ ในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งเป็นไปตามมิติของคณะกรรมการกระจายอำนาจที่ระบุว่าต้องถ่ายโอนและมอบภารกิจ 425 ภารกิจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

          “นอกจากการให้อำนาจกับอบจ.ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มเติมแล้ว ยังสามารถให้อำนาจกับอบจ.บางจังหวัดที่มีลักษณะพิเศษได้อีกด้วย เพื่อให้เป็นจังหวัดจัดการตัวเอง แต่ก็ต้องมาพิจารณาให้ชัดเจนว่าตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพิเศษเหล่านี้จะยกเลิกไปเลยเช่นเดียวกับกรุงเทพมหานครหรือไม่ ซึ่งจะต้องศึกษาให้รอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจ” นายถวิล ไพรสณฑ์ กล่าว