Food & Healhty
Home   /   Food & Healhty  /   ชำแหละระบบการเงินอิสลาม:

 ชำแหละระบบการเงินอิสลาม :   ชี้ "ขาดความเชื่อมั่น-รัฐไม่เข้าใจ"

           สำนักข่าวอะลามี่:  เวทีระดมความเห็น " แนวทางการพัฒนาสถาบันการเงินอิสลาม " ชี้ระบบการเงินอิสลามในไทยยังไม่ขยายตัว เพราะขาดความเชื่อมั่น รัฐไม่เข้าใจ

            ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู ในฐานะรองประธานกรรมาธิการศึกษาและติดตามการบริหารงบประมาณขององค์กรมุสลิม และนโยบาบายสนับสนุนด้านกิจการฮาลาล ในคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภากล่าวถึงการเสวนาเชิงวิชาการ เรื่อง แนวทางการพัฒนาสถาบันการเงินอิสลาม" เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์  2557 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นอีกเวทีของระดมความเห็น ของผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินอิสลาม และกิจการด้านฮาลาล เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงปัญหา และความสำคัญของการสนับสนุนด้านกิจการฮาลาล

            ด้าน ศ.พลโท สมชาย วิรุฬหผล อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาพยายามผลักดันแก้ไขกฎหมาย ในรูปคำจำจัดความให้ตรงตัว และให้สอดคล้องกับ พรบ.การเงินแบบทั่วไป เพราะเวลาตีความอาจความเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้แนวโน้มการเติบโตของระบบการเงินอิสลาม ได้ขยายตัวและเติมโตอย่างต่อเนื่องปีละไม่น้อยกว่า 10% โดยมีศูนย์ลางการเงินแบบอิสลาม ที่ประเทศอังกฤษ

            " อย่างไรก็ตามการกำเนิดของธนาคารอิสลาม ฯ แม้ว่าอาจตั้งขึ้นแบบไม่ได้ตั้งใจจากภาครัฐ ซึ่งยังขาดการเอาใจใส่เท่าที่ควร บนความต้องการของสังคมมุสลิม ทั้งนี้ในระยะแรกการดำเนินการของธนาคารอิสลามพบว่าขาดทุนเนื่องจากการมีทุนจัดตั้งน้อย "

            ศ.พลโท สมชาย  กล่าวอีกว่า อีกประเด็นที่ทำให้การบริหารธนาคารอิสลามฯ ไม่บรรลุไปตามวัตถุประสงค์คือ ยังขาดความยอมรับจากสังคมมุสลิมที่หลากหลาย ขณะเดียวกันมีความคาดหวังจากสังคมมุสลิมว่า ให้เป็นธนาคารอิสลามแบบ100 %  และปัจจัยสำคัญที่ทำให้การบริหารธนาคารอิสลามไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากระยะหลังการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวของนักการเมืองในระบบธนาคารมากผิดปกติ

           
           ด้าน ดร.อณัส อมาตยากุล ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ บอร์ดชาริอะห์ กล่าวว่า การจะแก้ปัญหาธนาคารอิสลามฯ จะต้องเข้าใจรากของปัญหา และต้องเข้าใจเศรษฐศาสตร์อิสลาม ซึ่งรวมถึงคนที่ทำงานในธนาคาร ทั้งพนักงานที่เป็นมุสลิมกับพนักงานที่ไม่ใช่มุสลิม

            ทั้งนี้หากดูการเติบโตของสถาบันการเงินอิสลามในกลุ่มประเทศอ่าว หรือกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ขยายตัวกว่าหมื่นห้าพันล้านดอลล่าร์/ปี ขณะนี้ระบบการเงินอิสลามเป็นระบบการการเงินของโลก ซึ่งต้องหันมาดูว่าเรารับมือกับการเติบโตทันหรือไม่

            " ปัญหาในวันนี้คือ เราขาดความเข้าใจเรื่องการเงินอิสลาม ขณะเดียวกันสถาบันการสอนศาสนา ไม่มีการพัฒนาการเรียนรู้เรื่องการเงินอิสลามสมัยใหม่ เราจะต้องปรับเรื่องหลักสูตร ซึ่งเป็นปัญหาสังคมที่ทุกฝ่ายต้องเข้ามาช่วยแก้ไข "

            ขณะที่ ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายโลกมุสลิม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สำหรับพัฒนาการของระบบการเงินอิสลามในประเทศไทย ปัจจุบันถือว่าอยู่ในเฟสหนึ่ง ขณะที่ มาเลเซีย ก้าวหน้าไปในระดับเฟส 4 แล้ว ขณะเดียวกันคำ ฟัตวาของบอร์ดชาริอะห์ จะต้องสามารถตรวจสอบได้

            ทั้งนี้ รัฐบาล ภาครัฐและสังคม ต้องตระหนักในการพัฒนาบุคลากร เพิ่มบรรยากาศการแข่งขัน เพราะเชื่อว่าระบบการผูกขาดธนาคารไว้หนึ่งเดียวคงไม่ได้

            ขณะที่ นายเด่น โต๊ะมีนา  อดีตผู้ผลักดันและก่อตั้งธนาคารอิสลาม กล่าวว่า ปัจจุบันภาพลักษณ์ของธนาคารอิสลาม ตกต่ำลง เพราะพนักงานของธนาคารอิสลาม ไม่เข้าใจระบบธนาคารอิสลาม ซึ่งปัจจัยที่มีคนเข้ามาใช้บริการธนาคารอิสลามน้อยเพราะ เขาไม่รู้จักธนาคารอิสลาม และอีกปัจจัยคือ การไม่เข้าใจหรือการไม่ยอมรับ

            " อยากให้ธนาคารอิสลามฯ พยายามเชื่อมโยงกับสหกรณ์อิสลาม เพราะสหกรณ์คือแหล่งเงินทุนสำคัญ และที่สำคัญรัฐบาลเองต้องหันมาศึกษา และเข้าใจระบบธนาคารอิสลาม ให้มากขึ้นด้วย " เด่น กล่าว.


ตีพิมพ์ ครั้งแรก : นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับมีนาคม 2557