Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   บทเรียน "ถวิล เปลี่ยนศรี" สู่ยุทธวิธี "ถุงมือกำมะหยี่" รัฐบาลปู

 บทเรียน "ถวิล เปลี่ยนศรี" สู่ยุทธวิธี "ถุงมือกำมะหยี่" รัฐบาลปู

โดย ผึ้งหลวง

            สำนักข่าวอะลามี่:  หลังการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 ผ่านมาไม่ถึง 1 เดือน แต่ดูเหมือนรัฐบาลได้ทำงานมานานนับเดือน เพราะสิ่งที่รัฐบาลกำลังในขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหา "การเมือง" มากกว่าการแก้ปัญหา "บ้านเมือง"

            หลายคนตั้งข้อสังเกตุว่าสิ่งที่รัฐบาลประกาศจะทำทันทีขณะนี้ได้ถูกมองว่าไม่ใช่ทำเพื่อประชาชนส่วนใหญ่แต่เป็นการกระทำเพื่อคนเพียงคนเดียว

            เพราะแต่ละเรื่องที่รัฐบาลทำล้วนสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมทั้งสิ้น ทั้งที่ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ถือเป็นรัฐบาลที่โชคดี เนื่องจากไม่มีกลุ่มต่อต้านทางการเมืองจากกลุ่มต่างๆ ออกมาเดินขบวนขับไล่เหมือนสมัยรัฐบาลในอดีตตั้งแต่ยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนนตรี เรื่อยมาจนถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

            ดังนั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จึงน่าใช้โอกาสนี้เร่งการแก้ไขปัญหา "บ้านเมือง" โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมที่หลายจังหวัดกำลังประสบอยู่ เพิ่มคะแนนนิยมให้กับรัฐบาลมากกว่า

            เพราะการ “จัดทัพ” เพื่อเป็นเครื่องมือก่อนการทำงานของรัฐบาลแม้จะอยู่ในช่วงฤดูกาลโยกย้ายแต่ทำให้สังคมเกิดข้อกังขา โดยเฉพาะตำแหน่งของ “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” (ผบ.ตร.) ที่ไปกระทบกับเก้าอี้ "เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ" (สมช.)

          เนื่องจากผู้ที่จะมานั่งเก้าอี้ “ผบ.ตร.” แทน “พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี” ชื่อ “พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงษ์” เป็นพี่ชายของ “คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร” อดีตภรรยาของ “พ.ต.ท.ทักษณิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี

           ประกอบกับนายกฯยิ่งลักษณ์ ได้มอบหมายให้ “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” รองนายกรัฐมนตรี ที่มีบุคลลิกโฉ่งฉาง เป็นผู้รับผิดชอบในการโยกย้ายในครั้งนี้ ได้เกิดแรงกระเพื่อมมากกว่าการโยกย้ายข้าราชการกระทรวงอื่นๆ

            แม้ว่า “สารวัตรเฉลิม” มีอำนาจเต็ม และมีความชอบธรรมในการ “จัดทัพ” ครั้งนี้ เพราะกำกับดูแลรับผิดชอบ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” โดยตรง แต่บุคลิกที่ตรงไปตรงมาพูดจาเสียงดัง ทำให้ดูเหมือนข้าราชการกำลังถูกนักการเมืองรังแก

          ที่สำคัญไปกระทบกับตำแหน่ง "เลขาธิการสมช." ของ "ถวิล เปลี่ยนศรี" ที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของ "พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ" รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ที่กำกับดูแล "สมช." ได้ลุกลามถึงขั้นมีการฟ้องร้อง "คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม"

          แต่ผู้ที่เป็น "คู่กรณี" ในการถูกฟ้องร้องครั้งนี้กลับไม่ใช่ "สารวัตรเหลิม" ทั้งที่เป็นผู้เสนอย้าย "วิเชียร" จนไปกระทบกับเก้าอี้ของ "ถวิล" แต่กลับเป็น "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บังคับบัญชาโดยตรง

            ภาพความแข็งกร้าวของ "สารวัตรเหลิม" ได้ส่งผลลบต่อรัฐบาลโดยเฉพาะ "นายกฯยิ่งลักษณ์" ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลที่มอบหมายให้ "สารวัตรเหลิม" เป็นผู้รับผิดชอบ

            จะเห็นว่า "นายกฯยิ่งลักษณ์" มีความเครียดปรากฎให้สื่อเห็นตลอดเวลาหลังมีข่าวการโยกย้าย "วิเชียร" ที่ไปกระทบกับเก้าอี้ของ "ถวิล"

            โดยเฉพาะกรณีของ "ถวิล" ซึ่งไม่ยอมลุกจากเก้าอี้ "เลขาธิการ สมช." ง่ายดายเหมือนกรณีของ "วิเชียร"

           เมื่อ "นายกฯยิ่งลักษณ์" เจอคำถามของสื่อที่ถามว่า "คุณถวิลมีความผิดอะไรถึงได้ปรับย้าย" นายกฯ ยิ่งลักษณ์เองก็ยังตอบว่า “ไม่ได้มีความผิด แต่งานทั้งหมดเป็นงานที่ต้องการผู้ช่วยเหลือ”  

            คำตอบของนายกฯ ดูเหมือนจะช่วยเสริมความชอบธรรมในการอยูในตำแหน่ง "เลขาฯ สมช." ของ "ถวิล" มีมากขึ้น!

          ถ้อยแถลงเปิดใจของ "ถวิล" บางช่วงบางตอนที่บอกว่า "ฝ่ายการเมืองบางท่าน บางส่วนมีอคติ ลุแก่อำนาจ ท่วงทำนองก็เป็นไปอย่างเยาะเย้ยถากถางต่อผม ตรงนี้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง มีไม่กี่ตำแหน่งที่ขึ้นตรงกับนายกฯ ตลอดระยะเวลาที่มีการดำเนินการอย่างเช่นที่ว่านี้ ท่านนายกฯก็ไม่ได้ออกมาปกป้องหรือดูแลผมทั้งที่ผมเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านโดยตรง อันนี้ผมก็รู้สึกเสียใจ

           ส่วนหนึ่งเป็นการชี้ให้เห็นถึง "วุฒิภาวะ" ความเป็นผู้นำของ "นายกฯยิ่งลักษณ์" ที่ถูกผู้ใต้บังคับบัญชาตัดพ้อดังนั้นเมื่อนายละทิ้งลูกน้องในยามทุกข์ก็อย่าหวังได้ "ใจ" ที่จงรักและภักดี

           เมื่อการเมืองใช้วิธีหักด้ามพร้าด้วยเข่าขณะที่ข้าราชการก็รู้สึกเหมือนถูกการเมืองรังแกจึงไม่ยอมอ่อนข้อเช่นกรณีของ "ถวิล" จึงต้องจบด้วยการฟ้องร้อง

            การมอบหมายงานให้ "สารวัตรเหลิม" ที่มีบุคลลิกโฉ่งฉ่างจึงเป็นเป็นเป้าให้สังคมโจมตีเหมือนรังแกข้าราชการมากกว่าถือว่าคิดผิดที่ไม่ดูบุคลิกคนก่อนใช้ไปทำงาน

           ต่างกับกรณีของ “วิเชียร” ที่ช่วงแรกเสียงแข็งพร้อมกับประกาศให้สังคมรู้ว่าถูกบีบให้ออกจากตำแหน่ง และจะสู้เพื่ออยู่ในตำแหน่งให้นานที่สุด เนื่องจาก “วิเชียร” จะเกษียณอายุราชการในปี 2556 ขณะที่ “เพรียวพันธ์” จะเกษียณอายุราชการในปีหน้า

           หาก “วิเชียร” ไม่ยอมลุกจากเก้าอี้ และยังคงยื้อที่จะนั่งอยู่ที่เดิม หากรัฐบาลยังยืนยันจะให้ “เพรียวพันธ์” มานั่งในตำแหน่ง “ผบ.ตร.” แทน “วิเชียร” ก็จะทำให้ “เพรียวพันธ์” มีตำแหน่งต่อท้ายเพียงแค่ “รักษาราชการผบ.ตร.” เท่านั้น

           จึงเกิดข่าวลือก่อนที่จะมีข่าวการโยกย้าย “วิเชียร” ได้มีการเรียก “วิเชียร” ไปพบพร้อมกับถามว่า ำแหน่ง "่ประกาศสู้ไม่ยอมออกจากตำแหน่งมีการร้อง"จะย้ายตัวเองหรือจะให้ผมเป็นคนย้าย"

           ประโยคนี้เองทำให้ "วิเชียร" รู้สึกว่าไม่ให้เกียรติจึงออกมาเปิดเผยต่อสังคมว่า กำลังถูกบีบให้ออกจากตำแหน่ง ผบ.ตร.และประกาศสู้เพื่ออยู่ในตำแหน่งต่อ จึงได้เห็นภาพ "วิเชียร" กับ "สารวัตรเหลิม" ดูห่างเหินกันแม้ยามมีภารกิจร่วมกัน บ่อยครั้งจะมีเสียงกระทบกระเทียบทำนองว่า "ไม่ได้เชิญมาทำไม" สร้างความอึดอัดใจให้กับ "วิเชียร" อย่างมาก

          แต่อะไรคือสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ “วิเชียร” ยอมทิ้งเก้าอี้ “ผบ.ตร.” อย่างง่ายดาย ไม่เดินหน้าชน แต่กลับยื่นเงื่อนไขขอนั่งในตำแหน่งที่เหมาะสมและสุดท้ายไปจบที่ตำแหน่ง "เลขาธิการ สมช."

          นั่นเป็นเพราะการเมืองปรับเปลี่ยนเกมในการเจรจานั่นเอง!

           เมื่อใช้ "กำปั้นเหล็ก" ไม่ประสบความสำเร็จ และดูเหมือนจะเป็นปัญหาบานปลายเหมือนกับสมัยที่เคยใช้แก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีใหม่มาใช้ "ถุงมือกำมะหยี่" แทน

          จึงมีข่าวเล็ดรอดออกมาว่า มีโทรศัพท์จากแดนไกลทั้งขอร้องแกมบังคับทำนองว่า "เพรียวพันธ์ เหลือเวลาทำงานในราชการอีกแค่ปีเดียวก็เกษียณแล้ว แต่คุณวิเชียร ยังมีเวลาอีกตั้ง 1 ปี" สุดท้ายเรื่องจึงไปจบลงโดยให้ "วิเชียร" ไปนั่งในตำแหน่ง "เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ"

           เพราะการนั่งในตำแหน่ง "เลขาธิการ สมช." ก็ยังดีกว่าการไปนั่งในเก้าอี้ "ปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี" หรือ "ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี"

            นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ "วิเชียร" ยอมเดินจากกำลังอี้ "ผบ.ตร." ท่ามกลางความผิดหวังของ "กองเชียร์" เพราะดูเหมือนเป็นการยอมอ่อนข้อให้กับการเมืองมากเกินไป

            แถมสุดท้ายยังได้เห็นภาพการชนแก้วไวน์ระหว่าง "สารวัตรเหลิม" กับ "วิเชียร" และ "เพรียวพันธ์" ท่ามกลางบรรยากาศชื่นมื่นที่ปรากฎตามหน้าสื่อหลายฉบับ

            ความสำเร็จในการเจรจาไม่ใช่เพราะฝีมือ "สารวัตรเหลิม" แต่เป็น "นายใหญ่" ที่ปรับเปลี่ยนวิธีและเงื่อนไขในการเจรจา

            จะเห็นว่าระยะหลัง "สารวัตรเหลิม" เริ่มปรับเปลี่ยนบุคคลิกการให้สัมภาษณ์ใหม่หลังจาก "ถวิล" ประกาศยื่นฟ้องเห็นได้จากคำให้สัมภาษณ์ที่บอกว่า “อะไรที่ทำให้ไม่สบายใจต้องขอโทษด้วยก็ไม่มีเจตนาเยาะเย้ยถากถาง ผมเป็นนักการเมืองมาแล้วก็ไป แต่ข้าราชการเป็นหลัก ข้าราชการเหมือนท่าเรือ นักการเมืองเหมือนเรือ มาแล้วก็ไป เรือไปแต่ท่าอยู่ ฉะนั้นคุณถวิลต้องอยู่ต่อไป”

          จากนี้ไปให้จับตาการปรับเปลี่ยนตำแหน่งสำคัญในหลายหน่วยงานเริ่มตั้งแต่ "ตำรวจ-ทหาร และข้าราชการประจำกระทรวง" โดยทำควบคู่ไปกับการจัดตำแหน่งทางการเมือง เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงานให้กับเจ้าของกระทรวงที่พรรคเพื่อไทยกำกับดูแล

            หากตำแหน่งไหนที่เป็นเป้าทางสังคมเมื่อเจรจากันเข้าใจยอมให้ความร่วมมือในการทำงานก็ยังสามารถอยู่ในตำแหน่งเพื่อทดลองงานตามแนวทางของเจ้ากระทรวงต่อไปได้อีก แต่ถ้ายังดึงดันไม่สามารถปรับแนวทางการทำงานไปในทิศทางเดียวกันได้ก็จะถูกปรับเปลี่ยน

            แต่การปรับเปลี่ยนจะไม่ใช่วิธี "ปะ-ฉะ-ดะ" แต่ใช้วิธี "ถุงมือกำมะหยี่" แทน เพราะวิธีของ สารวัตรเหลิม" นอกจากการเจรจาจะไม่สำเร็จแล้วรัฐบาลจะยิ่งกลายเป็นเป้าของสังคมมากขึ้น!