Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ? นำพาองค์กรมุสลิมสู่การพัฒนา ?

คอลัมน์ พิเพิ้ล โฟกัส : นิตยสาร อะลามี่ ฉบับเมษายน 2560

 “ นำพาองค์กรมุสลิมสู่การพัฒนา ”

     พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่

     เลขาธิการคณะกรรมกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

 

                สำนักข่าวอะลามี่ :  จากคนพื้นเพครอบครัวค้าขายในตลาดจะนะ จังหวัดสงขลา วันนี้เขาได้ก้าวขึ้นมาเป็นบุคคลสำคัญ และทำหน้าที่เป็นแม่บ้านขององค์กรมุสลิมสูงสุดของประเทศ  

                ผมกำลังกล่าวถึง “ พลตำรวจตรี สุรินทร์  ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

                พล.ต.ต.สุรินทร์ เล่าให้ฟังว่า ในวัยเด็กชีวิตการศึกษาผ่านโรงเรียนปอเนาะมาหลายแห่ง ได้รู้จักกับคนที่หลายหลาก ก่อนจะจบปริญญาตรีและปริญญาโทที่ยะลา เข้ารับราชการเป็นตำรวจตระเวนชายแดน จากนั้นก็ย้ายมาเป็นตำรวจสันติบาล ก่อนจะมาเป็นตำรวจภูธร และตำรวจตรวจคนเข้าเมือง

               ประสบการณ์ชีวิตเขาได้ผ่านมาอย่างโชกโชน เป็นหัวหน้าด่าน สุไหง โก- ลก จังหวัดนราธิวาส ระยะหนึ่ง ก่อนจะย้ายมาเป็นหัวหน้าด่านปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา ประมาณ 4 ปี และขยับมาเป็นหัวหน้าด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา ติดพรมแดนไทย-มาเลเซีย ฝั่งรัฐเคดาห์ จากนั้นก็ขยับขึ้นมาเป็น รองผู้บังคับการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง

              พล.ต.ต.สุรินทร์ กล่าวอีกว่า สำหรับสิ่งที่ภูมิใจในขณะรับราชการมากที่สุดขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้กำกับตรวจคนเข้าเมืองสะเดา “เมื่อปี 2544-2445 ขณะนั้นหาดใหญ่ และสะเดา เศรษฐกิจอยู่ได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวหลักเป็นชาวมาเลเซีย ด้วยความสัมพันธ์ส่วนตัว ผมได้ประสานงานกับผู้ใหญ่ทางมาเลเซีย ในการผลักดันให้มีการขยายเวลาปิดด่าน จาก 21.00 น. เป็นเวลา 23.00 น. เป็นผลสำเร็จ ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจของหาดใหญ่และสะเดา มหาศาล” 

              เส้นทางชีวิตไม่ได้เรียบง่ายสำหรับชายที่ชื่อ สุรินทร์ ปาลาเร่ เขาได้ลาออกราชการ มาสมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในปี 2549 ปรากฏว่าเขาได้รับการเลือกตั้งคะแนนมาอันดับหนึ่งของจังหวัด จากทั้งหมด สว.4 คน หลังจากเลือกตั้ง สว.ไม่นาน เกิดการปฏิวัติ โดยหัวหน้าคณะปฏิวัติในขณะนั้นคือ บิ๊กบัง พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน     

              จากนั้นจึงกลับเข้ารับราชการใหม่อีกครั้ง ในตำแหน่งหัวหน้าตรวจคนเข้าเมืองภาคเหนือดูแลพื้นที่ ตั้งแต่ ตาก เชียงใหม่ เชียงราย น่านและพิษณุโลก ก่อนจะลาออกราชการมาลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อีกครั้ง ในครั้งนี้เขาได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์  

              แต่ดูเหมือนเส้นทางชีวิต พล.ต.ต.สุรินทร์ ไม่หยุดแค่นั้น หลังจากที่ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล อดีตประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา ได้รับฉันทานุมัติจากผู้นำมุสลิมให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เขาก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น เลขานุการจุฬาราชมนตรี

               จากนั้นท่านจุฬาราชมนตรี ก็เสนอให้เป็น กรรมการกลางอิสลาม ในโควตาจุฬาฯ ก่อนจะได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ต่อจากคุณพิเชษฐ สถิรชวาลย์

            ชีวิตการทำงานของผมผ่านระบบราชการ เรารู้ว่าราชการคิดอย่างไร และผ่านระบบการเมือง รู้ว่าการเมืองคิดอย่างไรในระบบการปกครอง แล้วก็ได้เข้ามาอยู่ในองค์กรสูงสุดของศาสนาอิสลาม เราก็ได้รู้ว่าฝ่ายศาสนาอิสลามคิดอย่างไร ” พล.ต.ต.สุรินทร์  กล่าวและว่า

             จากประสบการณ์ทั้งหมดเราเอามาหลอมรวมเข้าด้วยกัน เพื่อพัฒนาองค์กร เพื่อช่วยเหลือประเทศชาติ ซึ่งผมคิดเสมอว่าทำอย่างไรให้องค์กรศาสนาได้มีส่วนช่วยเหลือประเทศชาติได้ ยกตัวอย่างเช่น รายได้ของประเทศ มาจากการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการส่งออก มีส่วนเกี่ยวพันกับฮาลาล เราเป็นฝ่ายรับรองฮาลาล เราก็จะต้องไปประสานกับองค์กรศาสนาอิสลามทั้งหมด รวมถึงต่างประเทศด้วย

            “ ปัจจุบันประเทศไทยได้ส่งออกอาหารฮาลาลและเป็นที่ยอมรับ จนกระทั่งเราได้รับความเชื่อถือและได้รับรองจากที่ประชุมองค์กรอิสลามโลก หรือ OIC รับประเทศไทยเข้าไปเป็นสมาชิก นับเป็นประเทศเดียวในโลก ที่เป็นประเทศ Non muslim ที่สามารถเป็นสมาชิกของ OIC ได้ ”


            พล.ต.ต.สุรินทร์ กล่าวถึงเส้นทางชีวิตที่ผ่านทั้งระบบราชการ การเมืองและวันนี้มาทำหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรเบอร์หนึ่งของประเทศไทยว่า การทำงานมีความเหมือนและแตกต่างกันไป การทำงานในระบบราชการ ต้องทำงานตามคำสั่ง แต่บางครั้งยอมรับว่าอาจทำนอกเหนือตำแหน่งแต่สิ่งทำก็คือ“การดูแลประชาชน”

             “ วันนี้หลังจากมานั่งในตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สิ่งที่อยากเห็นและทำสำเร็จบ้างในบางส่วน คือ การนำพาองค์กรไปสู่สังคมในวงกว้าง ให้เป็นที่รู้จักอีกทั้งเป็นที่ยอมรับ ”

ปัจจุบันเรามีมัสยิดที่จดทะเบียนประมาณ 4,000 มัสยิด มีคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด 60,000 คน กรรมการอิสลามประจำจังหวัด 750 คน มีประธานคณะกรรมการประจำจังหวัด 39 จังหวัด แต่คณะกรรมการกลางฯในฐานะองค์กรศาสนาสูงสุดไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐโดยตรง แต่รายได้ส่วนใหญ่มาจากการรับรองฮาลาล

               ในขณะที่กรรมการกลาง ยังมีภารกิจทางสังคมและการศึกษา เช่น โครงการก่อสร้างโรงเรียนเด็กกำพร้า ที่เกาะศรีบอยา จังหวัดกระบี่ ใช้เงินไปแล้ว 20 กว่าล้านบาท เพื่อนำเด็กจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเด็กกำพร้ามาดูแล นอกจากนี้เรายังส่งเด็กไปเรียนปริญญาตรีและการท่องจำกุรอาน(ฮาฟิซ) ที่ประเทศตุรกี 40 คน เมื่อปีที่ผ่านมา และคัดเลือกนักเรียนทุนไปเรียนที่ มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร ประเทศอียิปต์

               อีกทั้งยังมีโครงการการดูแลสตรีมุสลิมหญิงหม้าย ซึ่งได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งที่เรากำลังดำเนินการ เพื่อแสดงเจตจำนงว่าสังคมไทยไม่ทอดทิ้งเขาเหล่านั้น

            “ สิ่งที่มีความเป็นห่วงมากที่สุดในขณะนี้คือ เรื่องของผู้ไม่หวังดีหรือผู้ที่ต้องการให้มีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างพุทธกับมุสลิม โจมตีศาสนาอิสลามก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างศาสนา ซึ่งตรงจุดนี้เราก็จะต้องสร้างความเข้าใจ ถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม พล.ต.ต.สุรินทร์ กล่าวและว่า

               วันนี้เรามีความพร้อมซึ่งเป็นไปตามเจตนาของท่านจุฬาราชมนตรี ที่ได้มอบหมายไว้คือ “ อยากเห็นมุสลิมในสังคมของเราได้มีการพัฒนา ” ดังนั้นอยากเรียกร้องให้เราคิดและมองมุมบวก ปรับวิธีคิดใหม่ อีกทั้งเปิดรับการพัฒนา ในฐานะกรรมการกลางฯ เราพร้อมที่จะเป็นตัวกลางในการเจรจากับรัฐบาล และพร้อมที่จะดูแลมุสลิมทุกภาคส่วน