Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   คนย้ายถิ่นหนีไฟใต้แล้วกว่า1ล้านคน

คนย้ายถิ่นหนีไฟใต้แล้วกว่า1ล้านคน

ชี้กระทบความสมดุลประชากรศาสตร์

              สำนักข่าวอะลามี่ : นักวิชาการเผยผลการวิจัยหลังเกิดเหตุความรุนแรงในชายแดนใต้ตั้งแต่ปี 47 มีประชากรย้ายถิ่นเฉลี่ย 13 % ต่อปี ขณะที่ผลวิจัยพบว่าตั้งแต่ 2545-2551 มีผู้ย้ายถิ่นแล้วกว่า1ล้านคน ส่งผลให้ขณะนี้แทบไม่มีความสมดุลทางประชากรศาสตร์ในพื้นที่แล้ว

               ดร.ไกรยศ ภัทรวาท นักวิชาการอิสระ ได้เปิดเผยผลการวิจัย เรื่องความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการย้ายถิ่นของประชากร  : การวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์  ซึ่งจัดโดย ศูนย์นโยบายโลกมุสลิม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า มีแรงจูงใจจากการศึกษาเชิงปริมาณเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ อีกทั้งผลการวิจัยข้อมูลเชิงประจักษ์จะสามารถสนับสนุนการดำเนินนโยบายเยียวยาและแก้ไขปัญหาความรุนแรงได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน  นอกจากนี้จะส่งเสริมการสร้างเครือข่ายศึกษาวิจัยปัญหาความรุนแรงฯและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจจากข้อเท็จจริงแก่สาธารณะชนทั้งในและต่างประเทศ

              อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยของประชาการย้ายถิ่นไม่ระบุว่าศาสนาใด มากถึง 53 % ขณะที่ตัวเลขของประชากรย้ายถิ่น ที่เหลือ เป็นชาวมุสลิมและชาวไทยพุทธ ในอัตราที่ใกล้เคียงกัน

              ดร.ไกรยศ  บอกว่า ผลการวิจัยพบว่า ประชาการที่ย้ายถิ่นมากที่สุด มีต้นทางที่อำเภอเมืองยะลา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา  และ อำเภอเมืองปัตตานี   ที่มีผลกระทบจากความรุนแรงตั้งแต่รอบปี 2545  -2551( 84 เดือน)  มีประชากรย้ายถิ่น1,138,596 ล้านคน โดยส่วนใหญ่ย้ายออกมาอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงแต่ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก แม้ว่าต้นทุนในการเคลื่อนย้ายจะสูงก็ตาม

             “สาเหตุที่ประชากรย้ายถิ่นไม่ไกลจากพื้นที่มากนักอาจมาจากรายได้ของประชากรใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ค่อนข้างต่ำ ไม่มีทักษะด้านอาชีพ หากจะย้ายข้ามพื้นที่ แต่อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาวิจัยในครั้งยังไม่รวมถึงการย้ายถิ่นไปมาเลเซีย ซึ่งทราบว่ามีจำนวนมาก แต่คณะผู้วิจัยยังไมมีข้อมูลในเรื่องนี้” ดร.ไกรยศ กล่าวและว่า

             เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ การย้ายถิ่นของประชากร ยังส่งผลกระทบทางสังคม ทางเศรษฐกิจ ทำให้ไม่เกิดความสมดุล ทางสังคม จะเห็นได้ว่า เมื่อเกิดเหตุความรุนแรงทำให้คนลดลง รวมถึงการย้ายถิ่น ทำให้ไม่มีความสมดุลในพื้นที่ และการขาดโอกาส  แต่ไม่สามารถระบุเป็นตัวเลขได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องศึกษาวิจัยในเชิงลึกต่อไป

             นักวิชาการอิสระ ผู้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้ ยังสรุปว่า การเปลี่ยนแปลงและพฤติกรรมการย้ายถิ่นของประชากร ระหว่าง ปี2545-2551 มีวามสัมพันธ์กับความรุนแรงในสามจังหวัดชายเดนภาคใต้ เนื่องจากพบว่าหลังจากเกิดเหตุการณ์เมื่อปี 2547 พบว่า มีประชากรย้ายถิ่นออกจากพื้นที่เพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 13%ต่อปี โดยผู้อพยพส่วนใหญ่ยังย้ายถิ่นอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ แต่มีราว 1/3  ที่ย้ายถิ่นออกนอกพื้นที่

             นอกจากนี้ยังได้เสนอแนะ ว่า ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องความการจัดเก็บข้อมูลการย้ายถิ่นประชากรและความรุนแรงในพื้นที่3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งข้อมูลทางสังคมเศรษฐกิจให้สมบูรณ์ครบถ้วนยิ่งขึ้น

             ทั้งนี้ข้อมูลและบทวิเคราะห์การย้ายถิ่นประชากรในงานวิจัยนี้ สามารถใช้วางแผนการเยียวยาแก่ผู้อพยพไปยังพื้นที่ทั้งในและนอกเขตความขัดแย้งได้อย่างเป็นระบบ

             " แม้ในภาพรวมภาครัฐยังสามารถรักษาอธิปไตยไว้ได้ แต่หลายพื้นที่ใน3จังหวัดชายแดนใต้ ในขณะนี้แทบไม่มีความสนมดุลทางประชากรศาสตร์แล้ว ทั้งนี้เพื่อรักษาฐานประชากรในพื้นที่ รัฐจำเป็นต้องสร่างความมั่นใจในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงโอกาสทางเศรษฐกิจของประชากรให้ดีขึ้น"   ดร.ไกรยศ กล่าวเสนอสรุปการวิจัยดังกล่าว