Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   16 ปี ศูนย์วิทย์ฮาลาลฯ จากห้องแล็บในมหาวิทยาลัยสู่การยอมรับระดับโลก

ครบรอบ16 ปีศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลฯ

จากห้องแล็บในมหาวิทยาลัยสู่การยอมรับระดับโลก

+++ ต่อยอดพัฒนา App : HAL+ ที่จะนำการตรวจสอบฮาลาล ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย สร้างเครือข่ายโลกอินเตอร์เน็ตสู่การจับคู่ธุรกิจ

           สำนักข่าวอะลามี่ : ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมครบรอบ 16 ปี จาก จากห้องแล็บเล็กๆในมหาวิทยาลัย สู่องค์กรวิทยาศาสตร์ฮาลาล ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ล่าสุดเปิดตัว HAL+ แอพพลิเคชั่น ที่จะนำการตรวจสอบฮาลาล สู่ เทคโนโลยีที่ทันสมัย


           วันที่ 8 สิงหาคม 2562  ที่ อาคารสำนักงานสวนหลวงสแควร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์นายแพทย์ ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีกำกับดูแลด้านยุทธศาสตร์แผนและงบประมาณ พร้อมด้วย พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิดงานและร่วมแสดงความยินดีครบรอบ 16 ปี แห่งการจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ซึ่ง ทางศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ได้จัดกิจกรรม “ นิทรรศการสิ่งต้องห้ามและต้องสงสัย Museum of Haram “

           รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2538 โดยมีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ขนาดเล็กในคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนางานด้านนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลขึ้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคทั้งมุสลิมและมิใช่มุสลิม จนงานวิทยาศาสตร์ฮาลาลได้ขยายตัวเติบโตขึ้นเป็นลำดับได้รับการประกาศเกียรติคุณว่าเป็นหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรกในโลก

         “ เราจึงได้กำหนด  สัปดาห์วิทยาศาสตร์ฮาลาล” (Halal Science Week 2019) ระหว่างวันที่ 1 – 8 สิงหาคม 2562 เพื่อกระตุ้นและสนับสนุนการเรียนการสอนในด้านวิทยาศาสตร์ให้เป็นที่ตระหนักมากขึ้น รวมถึงสนับสนุนการสร้างนักวิทยาศาสตร์มุสลิมรุ่นใหม่ในสังคมและส่งเสริมให้องค์ความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลไทยให้เป็นผู้นำในเวทีโลก

          วันเดียวกัน ดร.วินัย ดะห์ลัน ได้เปิดตัวแอพพลิเคชั่น HAL+ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยกล่าวว่า โปรแกรมและแอ็พพลิเคชั่น “ฮาลพลัส” ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย และ สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างระบบมาตรฐานการตรวจสอบฮาลาล ที่ทันสมัย

         รศ.ดร.วินัย กล่าวว่า บทบาทของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล (ศวฮ.)เพื่อสนับสนุนงานการรับรองฮาลาลของ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (สกอท) และสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด (สกอจ.) ศวฮ.ได้พัฒนางานการมาตรฐานฮาลาล (Halal standardization) ขึ้นเพื่อสร้างความสะดวกต่อภาคอุตสาหกรรมและพาณิชย์ในการนำมาตรฐานฮาลาลไปสู่การปฏิบัติในภาคการผลิต

            งานการมาตรฐานฮาลาลดังกล่าว ได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ โดยแรกเริ่มจากการพัฒนาระบบ Halal-HACCP หรือ “ฮาลาล-ฮาสัพ” โดย ศวฮ.ร่วมกับสถาบันอาหารใน พ.ศ.2542 จากนั้นได้มีการพัฒนาระบบ Halal-GMP/HACCP หรือ “ฮาลาล-จีเอ็มพี-ฮาสัพ” โดย ศวฮ. ร่วมกับ สกอท.ใน พ.ศ.2550

            ต่อมาได้มีการพัฒนาระบบ HAL-Q หรือ “ฮาลคิว” ขึ้นโดย ศวฮ. ใน พ.ศ.2553 และล่าสุดเราได้มีการพัฒนาระบบ HAL+ หรือ “ฮาลพลัส” โดย ศวฮ.ร่วมกับ สมฮท.และ สกอท. ใน พ.ศ.2562 โดยทำการเปิดตัวในวาระครบรอบ 16 ปี ศวฮ.

            “ เมื่อโลกเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีเต็มตัว กระทั่งเข้าสู่ยุค “ดิสรัพทีฟเทคโนโลยี” (Disruptive Technology) จึงได้พัฒนาระบบที่เรียกว่า “ฮาลพลัส” ขึ้น เพื่อร่นระยะเวลาการวางระบบฮาลคิว ในภาคอุตสาหกรรมและพาณิชย์ มีการพัฒนาระบบที่เรียกว่า SPHERE หรือ System Protocol for Halal Electronic Resources Exchange เชื่อมโยงเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของภาคส่วนต่างๆในงานฮาลาล ตั้งแต่ภาคผู้ประกอบการ ภาคองค์กรศาสนาอิสลาม ภาควิชาการ ภาคราชการ ภาคธุรกิจโครงข่าย ภาคผู้บริโภค “ รศ.ดร.วินัย กล่าวและว่า

            ฮาลพลัส จะเป็นแอ็พพลิเคชั่น (App หรือ Application) เพื่อสร้างความสะดวกแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสะดวกทางด้านการซื้อขายระหว่างผู้ประกอบการหรือการจับคู่ธุรกิจ (Business matching) นำเอากิจกรรมต่างๆเกี่ยวข้องกับงานฮาลาล จึงเชือมั่นว่า “ฮาลพลัส”จะยกระดับความสามารถในการแข่งขันของฮาลาลประเทศไทยที่พัฒนาเข้าสู่ระบบ “ฮาลาลเพื่อทุกคน ” รศ.ดร.วินัย กล่าวในที่สุด