Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   นวัตกรรมฮาลาล H number รับรางวัลสาขาวัตกรรมการบริการจาก ก.พ.ร

จาก E numbers สู่ H numbers

สู่ รางวัลเลิศรัฐ ระดับดีเด่น ด้านนวัตกรรมการบริการภาครัฐ

            สำนักข่าวอะลามี่ : ระบบรหัสสารเคมี (database) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร จำพวกวัตถุเจือปนอาหาร เป็นระบบที่จัดทำขึ้นโดยแบ่งหมวดหมู่ตามลักษณะการใช้งานของสารเคมีแต่ละชนิด เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจและสะดวกในการนำไปใช้ประโยชน์

             ระบบรหัสสารเคมีที่กล่าวถึงนี้คือ E number กำเนิดขึ้นครั้งแรกโดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ (expert committee) เพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ในการใช้ เช่น วัตถุประสงค์การใช้งาน และปริมาณการใช้สำหรับรหัสสารแต่ละรายการ เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียอันเนื่องมาจากการใช้ที่ผิดวิธี หรือ ผิดวัตถุประสงค์ โดยมีรายละเอียดการใช้งานตามระบุในมาตรฐาน codex ซึ่งข้อมูลมีการปรับปรุงให้เหมาะสม และทันสมัยอยู่เสมอ

            สำหรับอุตสาหกรรมฮาลาล ข้อจำกัดของการใช้ประโยชน์จากรหัสสารเคมีตามระบบ E numbers นี้คือความซับซ้อนของกระบวนการ และแหล่งที่มาของรหัสสารเคมีแต่ละตัว การใช้ประโยชน์จากระบบฐานข้อมูลดังกล่าวจึงทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ต้องใช้กระบวนการทางห้องปฏิบัติการเป็นเครื่องมือช่วยยืนยันอีกทางหนึ่ง ทำให้ผู้ประกอบการสูญเสียเวลา และค่าใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันเชิงต้นทุนของสินค้าฮาลาลไม่เป็นที่ได้เปรียบเมื่อเทียบกับสินค้าประเภทเดียวกันที่ไม่มีการรับรองฮาลาล

             ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล นำโดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ได้มีโอกาสประชุมร่วมหารือกับนักวิทยาศาสตร์ และนักวิชาการจากหลายประเทศ อาทิเช่น ปากีสถาน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ในการประชุม ณ ประเทศปากีสถาน เมื่อปี พ.ศ. 2555 ที่ประชุมต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันถึงความจำเป็นในการจัดทำระบบรหัสสารเคมีฮาลาลเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับอุตสาหกรรมฮาลาล และทำให้สามารถแข่งขันได้ในเชิงต้นทุน ทั้งยังมีความได้เปรียบในเชิงมาตรฐานและคุณภาพ

              แนวความคิดในการจัดทำฐานข้อมูลรหัสสารเคมีฮาลาลถูกนำเสนอและได้รับอนุมัติในที่ประชุมคณะทำงานด้านฮาลาล IMT-GT ในปีถัดมาโดย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ในนามผู้แทนประเทศไทย ภายใต้โครงการ “Identification of Query Raw materials for Assuring Halalness; IQRAH” และ ได้เริ่มต้นโครงการนับแต่ปีนั้นเป็นต้นมา

             พ.ศ.2563 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มอบหมายให้ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ส่งชิ้นงานเข้าประกวด ผลสรุปออกมาว่างานเรื่อง “H-Number นวัตกรรมระบบค้นหาวัตถุเจือปนอาหารฮาลาลแม่นยำเพื่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคต ” ได้รับการตัดสินจาก คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ให้รับรางวัลเลิศรัฐระดับดีเด่นด้านนวัตกรรมการบริการภาครัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในรางวัลระดับสูงสุด โดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จะเข้ารับรางวัลจากผู้แทนนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในวันพุธที่ 16 กันยายน 2563 นี้ ณ ศูนย์ประชุมเมืองทองธานี

            ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยรับ “รางวัลเลิศรัฐ ระดับดีเด่นด้านนวัตกรรมการบริการภาครัฐ” มาแล้วกับผลงาน “HAL-Q นวัตกรรมระบบบริหารจัดการคุณภาพความปลอดภัยผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลครบวงจร” ใน พ.ศ.2556  


            ครั้งนี้จึงเป็นอีกครั้งกับรางวัลระดับเกียรติยศ ร่วมแสดงความยินดีกับเราที่พัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลสร้างสรรค์หลากหลายผลงานให้กับวงการฮาล
าลประเทศไทย กระทั่งได้รับรางวัลในระดับชาติและระดับโลก

            ดังนั้นเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพแก่หน่วยราชการทั่วประเทศ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) สำนักนายกรัฐมนตรี ได้คัดเลือกหน่วยราชการทั่วประเทศให้รับรางวัลด้านการบริการภาครัฐจากนายกรัฐมนตรี  ชื่อ “รางวัลเลิศรัฐ  รางวัลจัดแบ่งเป็นกลุ่ม หนึ่งในรางวัลสูงสุดคือ รางวัลดีเด่นด้านงานนวัตกรรมการบริการภาครัฐ