Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   เอกอัครา...ประชาปลื้มเปรม

เอกอัครา...ประชาปลื้มเปรม

            สำนักข่าวอะลามี่ : วันจันทร์ที่  ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๕  เวลา ๑๗.๔๕ น. ทันทีที่มีแถลงการณ์สำนักพระราชวังทางวิทยุกระจายเสียง ก็มีเสียงตะโกนก้องซ้อนๆกันอึคนึง “ พระราชโอรส”


            พร้อมเสียงไชโยด้วยปีติเป็นล้นพ้นของฝูงชนที่เฝ้ารอข่าว  บอกต่อ ๆ กัน สนั่นทั่วทั้งพระที่นั่ง  อัมพรสถาน พระราชวังดุสิต  สนามเสือป่า ต่อๆ กันไป...ไร้จุดจำกัด ด้วยจิตใจที่ปลื้มเปรม..ยินดีเป็นที่สุด

          “ดอกรวงผึ้ง ” ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ออกดอกงามสะพรั่ง  รับเสด็จพระราชสมภพ ด้วยความปราโมทย์และเริงรื่น เช่นเดียวกับหัวใจทุกดวง..ทั่วทั้งแผ่นดิน..สมใจที่ใฝ่คอย ปืนใหญ่ทุกเหล่าทัพ และเรือรบ  ยิงสลุตกึกก้อง น้อมถวายสดุดี แตรสังข์ดุริยางค์ ประโคมมงคลสนั่น...

             สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชสมภพในวันจันทร์ที่ ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๕  ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต  เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  มหิตลาธิเบศรรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร กับ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ


              ลุล่วงถึงเดือนกันยายน  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงประกอบพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่“พระราชโอรส” ในวันที่ ๑๔ และวันที่ ๑๕  กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๕ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต 

             ทรงมีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณสวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร                  

             ทรงเจริญพระชันษาท่ามกลางความรักของสมเด็จพระบรมชนกนาถ สมเด็จพระบรมราชชนนี  พระบรมวงศานุวงศ์ และความปลาบปลื้มปิติเป็นล้นพ้นของปวงชนชาวไทย

             ทรงมีพระเชษฐภคินี คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินีสองพระองค์ คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ อัครราชกุมารี

 เอมองค์รัชทายาท...เปรื่องปราดเรียนรู้


              เมื่อทรงเจริญพระชนมายุได้ ๔ พรรษา  ทรงเข้าศึกษาชั้นอนุบาล ๑  ที่โรงเรียนจิตรลดา เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๙๙  จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑  จึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่โรงเรียน คิงส์มีด เมืองซีฟอร์ด แคว้นซักเซกส์  ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕o๙ และในปีเดียวกันได้ทรงย้ายไปศึกษาในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลฟิลด์ เมืองสตรีท แคว้นซอมเมอร์เซท จนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๓

             ต่อมาในเดือนสิงหาคม  พ.ศ. ๒๕๑๓  ได้เสด็จพระราชดำเนินจากประเทศอังกฤษไปทรงศึกษาระดับเตรียมทหารต่อที่โรงเรียน คิงส์สกูล ณ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๔  จากนั้นทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารชั้นสูง วิทยาลัยทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ตั้งแต่ภาคแรกของปีการศึกษา  ๒๕๑๕   หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการทหารดันทรูน ในพ.ศ. ๒๕๑๙  จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับราชอาณาจักรไทย

           เมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุครบ ๒o พรรษา  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้มีการจัดพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณสวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร”

            ทรงรับรัชทายาทสืบสันตติวงศ์  (ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พุทธศักราช ๒๔๖๗) ขึ้นเป็นสยามมกุฎราชกุมาร  เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๑๕  มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิดลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธ สยามมกุฎราชกุมาร"

           ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ทรงเข้ารับการฝึกเพิ่มเติมและทรงศึกษางานด้านการทหารหลักสูตรพิเศษต่าง ๆ ของกองทัพบกออสเตรเลีย อาทิ หลักสูตรการโดดร่ม  หลักสูตรทบทวนวิชาอาวุธและยุทธวิธี  หลักสูตรยุทธวิธีชั้นบังคับกองร้อย หลักสูตรวิชาลาดตระเวน หลักสูตรการรบพิเศษและหลักสูตรอื่น ๆ โดยทรงประจำการ  ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษที่นครเพิร์ธ รัฐออสเตรเลียตะวันตก ประเทศออสเตรเลีย

           ครั้นเมื่อทรงสำเร็จการศึกษาและการฝึกแล้ว จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙

           ในปี พ.ศ. ๒๕๒o ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ซึ่งมีหลักสูตรการศึกษาระหว่างวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒o ถึงวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๑ และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ในระหว่างที่ทรงตามเสด็จสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงให้แพทย์ถวายตรวจพระอาการโรคภูมิแพ้ ณ โรงพยาบาลวอลเตอร์รีด สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๓ นั้น ทรงเข้ารับการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์แบบยูเอช – ๑ เอช ของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา และหลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์โจมตีแบบ เอ เอช - ๑ เอช คอบรา 

            ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ทรงศึกษาวิชาการทหาร ณ หน่วยรบพิเศษฟอร์ตแบรกก์ รัฐนอร์ธ แคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ในหลักสูตรอาวุธประจำกายและเครื่องยิงลูกระเบิด หลักสูตรการปฏิบัติการพิเศษ หลักสูตรต่อต้านการก่อการร้าย หลักสูตรการสงครามแบบกองโจร หลักสูตรการฝึกการดำรงชีพ และหลักสูตรส่งทางอากาศ (ทางบกและทางทะเล) ซึ่งผู้ที่เข้าศึกษาในหน่วยรบพิเศษฟอร์ทแบรกนั้น จะต้องมีความอดทนเป็นพิเศษเพราะบางครั้งจะต้องฝึกหนักทั้งกลางวันและกลางคืน แต่พระองค์ก็ทรงพอพระราชหฤทัยและทรงตั้งพระราชหฤทัยรับการฝึกเป็นอย่างดี

             นอกจากการฝึกในหลักสูตรการรบพิเศษแล้ว พระองค์ยังทรงเข้าร่วมฝึกกระโดดร่ม ทั้งในบริเวณเขตปลอดภัยและเขตอันตราย ทรงสำเร็จการฝึกและศึกษาวิชาทหาร ณ หน่วยรบพิเศษแห่งนี้ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ซึ่งในวันนั้นหน่วยรบพิเศษฟอร์ทแบรกได้จัดพิธีทูลเกล้าฯ ถวายประกาศนียบัตรอย่างสมพระเกียรติ และได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเครื่องบินของบริษัทการบินไทย จำกัด เที่ยวบิน ที.จี. ๔o๒ จากสหรัฐอเมริกาถึงราชอาณาจักรไทยเมื่อวันที่ ๒  มิถุนายน  พ.ศ. ๒๕๒๓

             ต่อมาทรงเข้าศึกษาหลักสูตรการบินเฮลิคอปเตอร์แบบใช้งานทั่วไป ยู เอช – ๑ เอช และยู เอช – ๑ เอ็น  เฮลิคอปเตอร์โจมตีติดอาวุธ ยู เอช – ๑ เอช  และทรงฝึกบินเครื่องบินปีกติดลำตัว แบบ Siai-Marchetti SF ๒๖o MT และ เครื่องบินปีกติดลำตัวแบบ Cessna T-๓๗

             ในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ – กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๖ ทรงฝึกบินเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงแบบ เอฟ ๕ อี/เอฟ  และหลักสูตรการบินขับไล่ชั้นสูง (Advance Fighter Course)  ที่ Williams Air Force Base  มลรัฐ Arizona ประเทศสหรัฐอเมริกา จนสำเร็จตามหลักสูตร มีชั่วโมงบินทุกประเภทรวมกันกว่า ๒,OOO ชั่วโมง ทรงมีชั่วโมงฝึกบินอย่างต่อเนื่องที่สูงมาก ทรงเป็น "เจ้าฟ้านักบินขับไล่ไอพ่น" พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรีที่ทำการบินกับเครื่องบินกองทัพอากาศเกือบทุกรูปแบบ

             นอกจากทรงผ่านการฝึกอบรมเครื่องบินรบจนมีพระปรีชาสามารถและมีจำนวนชั่วโมงบินสูงมากแล้ว ยังได้ทรงศึกษาหลักสูตรนักบินพาณิชย์จากสถาบันการบินพลเรือน ทรงสอบได้ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้ทรงเข้าศึกษาหลักสูตรนักบินพาณิชย์เอก จากบริษัทการบินไทย จนกระทั่งทรงสำเร็จการศึกษาและการบินด้วยเครื่องบินพาณิชย์จริง ทรงได้รับใบอนุญาตเป็นกัปตันเครื่องบินโบอิ้ง ๗๓๗

             สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร  ทรงพระราชทานสัมภาษณ์เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฏราชกุมาร ถึงความสนพระทัยการทรงบินเครื่องบินรุ่น F-5E ว่า.... "เพราะมีความรักมีความชอบในเรื่องแบบนี้พอสมควร แล้วก็เป็นพระราชพาหนะที่จะนำข้าพเจ้าไปสู่ประชาชนได้อย่างทันท่วงที เพื่อจะได้ทำงานสนองประเทศชาติและพระมหากษัตริย์"    

           (สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระราชทานสัมภาษณ์ ตีพิมพ์ในนิตยสารดิฉัน ฉบับวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๓o)

พระผู้ปกป้องผองภัย...

             สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ  บดินทรเทพยวรางกูร  ทรงสนพระราชหฤทัยพิเศษ  ด้านการทหาร กอปรด้วยพระวิริยะอุตสาหะที่จะเรียนรู้อย่างถึงที่สุดแห่งวิทยาการและทรงผ่านการฝึกอย่างหนักในหลักสูตรชั้นสูงต่าง ๆ จากต่างประเทศ แม้กระนั้นยังทรงเข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มเติมทางการทหารในหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ เช่น  หลักสูตรวิชาการอาวุธพิเศษ การทำลายและยุทธวิธีการรบนอกแบบหลักสูตรต้นหนชั้นสูง หลักสูตรการลาดตระเวน และหลักสูตรการส่งทางอากาศ(ทางบก-ทางทะเล) รวมทั้งหลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์ ทั้งใช้งานทั่วไปและเฮลิคอปเตอร์โจมตีติดอาวุธ (Gunship) กับหลักสูตรอาวุธประจำกาย และเครื่องบินยิงลูกระเบิด การปฏิบัติการพิเศษ การต่อต้านการก่อการร้าย การสงครามแบบกองโจร การฝึกการดำรงชีพ ฯลฯ

             ย้อนกลับไปประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๑  ประเทศไทยเคยประสบกับปัญหาการก่อการร้ายของกลุ่มคอมมิวนิสต์  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ  บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์จะเสด็จ ฯ ทรงเยี่ยมให้กำลังใจแก่ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่ อส. ซึ่งถือเป็น “รั้วของชาติ” ถึงพื้นที่อันตรายแม้ว่าบรรดาแม่ทัพ นายกองจะกราบบังคมทูลทัดทานถึงภยันตรายให้ทรงทราบ แต่พระองค์ยังคงตั้งพระราชหฤทัยที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมทหารยังแนวรบอยู่เสมอ  ทั้งยังทรงร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ทหารแนวหน้าอีกด้วย

 ยุทธภูมิหมากแข้ง


           บ้านหมากแข้ง ตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ พื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยการสู้รบ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่พลเรือน ทหาร ตำรวจและประชาชนในพื้นที่ในวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๖

           ต่อมาในช่วงปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙  ผู้ก่อการร้ายได้เข้าโจมตีฐานปฏิบัติการของตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษในยุทธภูมิบ้านหมากแข้ง เป็นเหตุให้เครื่องบินตก ๑ ลำ  สูญเสียชีวิตเจ้าหน้าที่ตำรวจและได้รับบาดเจ็บสาหัสอีกจำนวนหนึ่ง  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จ ฯ ทรงเยี่ยมเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการสู้รบ ทั้งยังทรงออกบัญชาการรบที่แนวหน้าด้วยพระองค์เอง ยังผลให้ทหารหาญฮึกเหิมด้วยพลังใจในการต่อสู้เพื่อปกป้องอธิบไตยจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์

          ...และแล้ว ปฏิบัติการรบอันห้าวหาญก็เกิดขึ้น  ทรงสั่งการให้ชุดปฏิบัติการออกลาดตระเวนพิสูจน์ทราบ โดยพระองค์ทรงทำหน้าที่หัวหน้าชุดฯ  เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งถูกยิงถล่มอย่างหนักจนเครื่องบินพระที่นั่งลงจอดไม่ได้  จึงทรงกระโดดลงมาจากความสูงประมาณสิบสองเมตร ทรงวิ่งฝ่ากระสุนนำทหารบุกตะลุยเสี่ยงอันตรายต่อการถูกยิงและกับระเบิดอย่างยิ่ง  แต่ด้วยพระสติที่มั่นคงจึงทรงวิเคราะห์สถานการณ์ และทรงมีรับสั่งให้ทหารดำเนินกลยุทธ์ยิงโต้ตอบโดยมิทรงหวาดหวั่น จนกระทั่งผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ต้องล่าถอยไป หลังจากนั้นพระองค์จึงทรงวิเคราะห์และวางแผนการรบให้กับทหารในพื้นที่ ทรงออกลาดตระเวน อยู่ยามเช่นเดียวกับทหารคนอื่น ๆ

            พระองค์ทรงประทับแรมที่ฐานปฏิบัติการบ้านหมากแข้งเป็นเวลา ๑ คืนจึงเสด็จ ฯ กลับ และได้เสด็จ ฯ มาเยี่ยมเยือนอีกครั้งหนึ่งในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๙  ต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยประกาศยอมแพ้ สงครามสู้รบจึงสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. ๒๕๒๕

(ที่มา : ข้อมูล จากรายงานพิเศษเรื่อง “บ้านหมากแข้ง” สมรภูมิพระราชา ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เอ็กซ์ไซท์ไทยโพสต์  ฉบับวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙)

 สมรภูมิเดือดที่บ้านนาจาน


            วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์  พ.ศ. ๒๕๒o  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร  (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จ ฯโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งไปยังฐานปฏิบัติการบ้านนาจาน อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก  ที่แห่งนี้เปรียบเสมือนด่านหน้าที่จะสกัดศัตรูซึ่งเดินทางข้ามลำน้ำโขงมาจากฝั่งลาว ในขณะนั้นตำรวจตระเวนชายแดนและอาสาสมัครถูกซุ่มดักยิงถล่มด้วยจรวด อาร์.พี.จี. จนเสียเจ้าหน้าที่ตำรวจไปถึง ๘ นาย แต่พระองค์มิได้ทรงหวาดหวั่นแต่อย่างใด...

            ทรงมีพระราชดำรัสให้กำลังใจกับเจ้าหน้าที่ประจำฐานถ้วนทั่วทุกนาย และทรงมีพระมหากรุณาแนะนำให้จัดปรับปรุงบังเกอร์ให้มั่นคงปลอดภัยอีกด้วย  จากนั้นได้เสด็จ ฯ ไปทรงเยี่ยมฐานปฏิบัติการบ้านกุ่ม อำเภอนครไทย ทรงเล็งเห็นว่าฐานแห่งนี้มีความแน่นหนา และมีอันตรายน้อยกว่าบ้านนาจาน หลังจากทรงตรวจเยี่ยมทหาร ตำรวจแล้ว จึงเสด็จ ฯ กลับมาพักแรมที่ฐานบ้านนาจาน ทั้ง ๆ ที่กองทัพภาคที่ ๓ ได้จัดที่ประทับแรมและพระกระยาหารไว้พร้อมแล้วที่ฐานบ้านกุ่มซึ่งมีความปลอดภัยมากกว่า

ปฏิบัติการกวาดล้างที่ฐาน “สมเด็จ”                        

           รุ่งขึ้นวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒o  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จ ฯ ออกจากบ้านนาจานไปยังฐานปฏิบัติการ “ทุ่งสมอ” อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ฐานแห่งนี้เป็นฐานปืนใหญ่ด้านหน้าเข้าสู่  “เขาค้อ ” ซึ่งในเวลานั้นนับเป็นกองบัญชาการฝ่ายใต้ของกลุ่มผู้ก่อการร้าย

            หลังจากทรงฟังบรรยายสรุปจากฝ่ายยุทธการ กองทัพภาคที่ ๓ แล้ว จึงเสด็จ ฯ ด้วยรถสายพานลำเลียงพลพระที่นั่งไปยังฐานปฏิบัติการ “สมเด็จ” ซึ่งอยู่ห่างออกไป ๘ กิโลเมตรโดยมีเฮลิคอปเตอร์ “กันชิพ”  ๒ เครื่อง บินถวายการอารักขา เนื่องด้วยเส้นทางอยู่ในเขตอิทธิพลของกลุ่มผู้ก่อการร้าย ระหว่างนั้นเป็นเวลาประมาณบ่ายโมง จู่ ๆ ผู้ก่อการร้ายได้ระดมยิงเฮลิคอปเตอร์ทั้ง ๒ ลำอย่างหนักหน่วง พระองค์ทรงมีรับสั่งบัญชาการรบในทันที

           ทรงมีพระบัญชาให้ทหารสละรถสายพานเข้าทำการกวาดล้างกลุ่มผู้ก่อการร้ายโดยทรงร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ทหารออกปะทะกับผู้ก่อการร้ายอย่างดุเดือด โดยมิทรงหวั่นเกรงอันตรายใด ๆ

             เมื่อเสด็จ ฯ ถึงฐาน “สมเด็จ” พร้อมกับเหล่าทหาร ทรงบัญชาให้ยิงปืนขับไล่ผู้ก่อการร้ายแตกกระเจิงไป เฮลิคอปเตอร์กันชิพถูกยิงเสียหายทั้ง ๒ เครื่อง แต่สามารถนำลงจอดที่ฐานทุ่งสมอได้อย่างปลอดภัย พระองค์ทรงประทับที่ฐาน “สมเด็จ” จนผู้ก่อการร้ายล่าถอยไปหมด จึงทรงพระดำเนินนำหน้าทหารม้ามายังฐานปฏิบัติการ “กรุงเทพ” ซึ่งห่างจากฐานปฏิบัติการฐาน “สมเด็จ” ประมาณ ๑ กิโลเมตร ทรงเยี่ยมทหารแล้วเสด็จขึ้นรถยนต์สายพานลำเลียงพลพระที่นั่งไปยังฐาน “ทุ่งสมอ”  เสด็จ ฯ ต่อจากนั้นโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งมายังกองทัพภาคที่ ๓ ส่วนหน้า แล้วเสด็จขึ้นเครื่องบินพระที่นั่งจากพิษณุโลกกลับเชียงใหม่ เมื่อเวลา ๑๔.oo น. ในวันเดียวกัน...    

...ขวัญฟ้าประชาไทย



          ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๑ - ๒๕๒๕  หลายพื้นที่ในประเทศไทยเต็มไปด้วยภยันตราย จากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งดำรง พระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงห่วงใยทหาร ตำรวจ อาสาสมัครและประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเป็นอย่างมาก จึงเสด็จ ฯ ทรงเยี่ยมเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจทั้งในพื้นที่สู้รบแนวหน้าและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บในโรงพยาบาลต่าง ๆ

          ในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒o เสด็จ ฯ ทรงเยี่ยม ตชด. และทหาร ผู้บาดเจ็บจากการปราบปรามผู้ก่อการร้ายที่โรงพยาบาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี  หลังจากทรงมีพระราชดำรัสถามอาการของผู้ป่วยจนเป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้ว ได้มีพระมหากรุณาพระราชทานเงินส่วนพระองค์ให้ทหารและตำรวจผู้บาดเจ็บคนละ ๑,ooo บาท  แล้วจึงเสด็จขึ้นรถพระที่นั่งไปทรงเยี่ยมตำรวจ ทหาร ตามฐานปฏิบัติการต่างๆ ในอำเภอเวียงสร

           เวลา ๑๔.oo น. ก่อนจะเสด็จ ฯ ถึง “ช่องช้าง” ตำบลพรุพรี  อำเภอเวียงสระ ทรงถูกผู้ก่อการร้ายซุ่มยิงในป่าทึบ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงร่วมกับทหารและตำรวจตระเวนชายแดน ยิงตอบโต้ผู้ก่อการร้ายประมาณ ๑ ชั่วโมง จากนั้นกลุ่มผู้ก่อการร้ายจึงล่าถอยไป โดยเจ้าหน้าที่ทุกคนปลอดภัย  พระองค์ทรงมีรับสั่งกับแม่ทัพภาค ๔ และบรรดานายทหารว่า..“สถานการณ์ภาคใต้หนัก...เราจะอยู่ที่นี่ต่อไป ยังไม่กลับ...”
พระราชดำรัสดังกล่าว สร้างความอบอุ่นใจ ซาบซึ้งและสร้างขวัญกำลังใจแก่เหล่าทหารเป็นอย่างยิ่ง (บทความ “พระปรีชา ร.๑o ผู้ทรงกล้าหาญ ปกป้องประชาจากภัยคุกคาม”  ไทยรัฐออนไลน์ วันที่  ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙)

            เช้าวันรุ่งขึ้น  วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒o  หนังสือพิมพ์หลายฉบับต่างเสนอข่าว            พาดหัวใหญ่ ต่างน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ แซ่ซร้องสรรเสริญในพระปรีชาสามารถและความองอาจกล้าหาญที่ทรงนำทัพพิทักษ์ปกป้องอธิปไตยและประชาชนในผืนแผ่นดินไทยใต้ร่มพระบารมีของพระองค์

...น้ำพระราชหฤทัยสู่ใจไทยมุสลิม...

           สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเปี่ยมล้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรมุสลิมเสมอมา นับแต่ครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงห่วงใยราษฎรในจังหวัดชายแดนใต้ และทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการสืบสานตามรอยเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนี

           โดยได้เสด็จ ฯ เยี่ยมเยียนพสกนิกรในจังหวัดชายแดนใต้อยู่เป็นนิจ ทรงพบว่าราษฎรประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการอุปโภค บริโภคและการทำเกษตรกรรมในช่วงหน้าแล้ง และเกิดน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝน ทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อการบริโภค จึงทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือโดยเร่งด่วน เพื่อให้ได้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปีรวมทั้งปรับปรุงสภาพดิน จัดหาพันธุ์พืช   ที่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมถึงดูแลด้านการศึกษา สาธารณสุข  คมนาคม และทรงติดตามความก้าวหน้าอย่างใกล้ชิด อาทิ ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมแหล่งเกษตรกรรมต่าง ๆ เช่น โครงการปศุสัตว์ที่อำเภอมูโนะ จังหวัดนราธิวาส  สถานที่สร้างอ่างเก็บน้ำสำหรับหมู่บ้านกกคู อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส

           นอกจากนี้ยังพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์สุขภาพชุมชนขึ้นที่หมู่บ้านสันติ ๒ ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ในปี พ.ศ. ๒๕๕o  ด้วยพระเมตตาคุณที่ทรงห่วงใยในสุขภาพของผู้เผยแพร่และผู้นำศาสนาต่าง ๆ โดยทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้คนไทยทุกเชื้อชาติศาสนาอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขบนผืนแผ่นดินไทย

ชีวิตใหม่ที่บ้านกูแบสีรา


           บ้านกูแบสีรา ตำบลกอลำ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ มีประชากรเพียง ๕๕๕ คน ๙๕ หลังคาเรือน เป็นชาวไทยมุสลิมทั้งหมด เมื่อพระองค์ทรงทราบว่าราษฎรหมู่บ้านนี้ได้รับความทุกข์ยากแร้นแค้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ด้อยคุณภาพ ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายเนื่องจากฤดูฝนน้ำจะท่วมขังเรือกสวนไร่นาเพราะสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มเชิงเขา ถนนหนทางถูกตัดขาด ซ้ำร้ายฤดูแล้งไม่สามารถหาน้ำกินน้ำใช้ได้ น้ำในบ่อตื้นเขินเป็นสนิม ส่งผลต่อสุขภาพเริ่มเสื่อมโทรม จึงได้มีกระแสพระราชดำรัสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือ โดย...

           “ให้แก้ปัญหาเรื่องเร่งด่วนก่อนพร้อมทั้งศึกษาในภาพรวม เมื่อได้ศึกษาภาพรวมทั้งระบบแล้ว ให้ดูว่าส่วนใดจะแก้ไขอย่างไร และให้แก้ไขไปทีละส่วน เป็นขั้นเป็นตอน จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาทั้งระบบได้” (พระราชดำริในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร)

            ไม่นานนักเหมือนหยาดฝนโปรยปรายลงบนพื้นดินที่แห้งผาก ทุกชีวิตที่เคยทุกข์ร้อนแร้นแค้นกลับเหมือนได้ชีวิตใหม่ มีการขุดลอกคลองระบายน้ำ ๓ สาย เพื่อระบายน้ำในพื้นที่ที่น้ำท่วมขังและมีน้ำเก็บกักไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งและสามารถส่งไปในพื้นที่การเกษตรเพื่อให้ทำการเพาะปลูกหาเลี้ยงชีพได้อย่างต่อเนื่อง        

            มีการจัดทำผังฟาร์มเพื่อทำการเกษตรผสมผสานปรับปรุงดินด้วยอินทรีวัตถุ เพื่อเพิ่มผลผลิต มีการอบรมเรื่องการปลูกพืชต่าง ๆ และแปรรูปผลผลิต เลี้ยงโค เลี้ยงแพะ และสัตว์ปีก จัดตั้งศูนย์พัฒนาอาชีพรวมกลุ่มแม่บ้านร่วมกันทำกิจกรรมส่งเสริมอาชีพ มีถนนลาดยางให้สัญจรไปมาสะดวก มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก  ลานกีฬาเอนกประสงค์ 

              เริ่มมีระบบประปาหมู่บ้านเพื่ออุปโภค บริโภค แก้ปัญหาเด็กขาดสารอาหาร  ปรับปรุงบ้านเรือนที่อยู่อาศัยให้สะอาดตามหลักสุขาภิบาล มีการสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย คนพิการและเด็กในครอบครัวยากจน ส่งเสริมให้ได้เรียนหนังสือโดยปรับปรุงระบบการเรียนใหม่และสนับสนุนค่าพาหนะในการนำนักเรียนไปโรงเรียนในระดับสูงขึ้นในหมู่บ้านอื่น

              และในวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นวันที่ราษฎรบ้านกูแบสีรา มีความปลาบปลื้มปิติยิ่งนัก  เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จ  พระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จ ฯ ไปทรงเยี่ยมเยียนเพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงาน สร้างความอบอุ่นใจในน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใย แม้จะอยู่ในที่ห่างไกลและแทบจะถูกตัดขาดจากโลกภายนอกก็ตาม

 ร่มเย็นในบ้านร่มเย็น

               นอกจากจะทรงห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรแล้ว  ในปี พ.ศ. ๒๕๕o  ยังทรงกังวลถึง ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้  ซึ่งพากันอพยพจากบ้านสันติ ๑ หมู่ที่ ๒ ตำบลเขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตา และบ้านสันติ ๒ หมู่ที่ ๖ ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา จำนวน ๗๔ ครอบครัว รวม ๑๓๔ คน ไปอยู่ที่วัดนิโรธสังฆาราม อำเภอเมือง จังหวัดยะลา จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดหาที่อยู่อาศัยและพระราชทานชื่อโครงการว่า “โครงการเพื่อชุมชนเข้มแข็งและร่มเย็นบ้านสันติ ๒  ตามพระราชดำริ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร”

              โดยมีพระราชประสงค์ให้ราษฎรเหล่านั้นมีความปลอดภัยและมีความมั่นคงในชีวิต มีครอบครัวที่อบอุ่น  มีคุณภาพชีวิตที่สดใส สมบูรณ์  มีที่ทำกินที่ดีมีกิจกรรมเสริมอาชีพที่เหมาะสม  ทั้งยังได้รับการดูแลเรื่องสุขภาพอนามัยและการศึกษาที่เหมาะสมของเยาวชน

ภัยใต้จุดประกายพระมหากรุณาธิคุณ

              ด้วยพระอัจฉริยภาพด้านการบินระดับครูฝึกภาคอากาศในภารกิจด้านการทหาร และทรงได้รับใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอก กับ Certified  Aircraft Type B-๗๓๔ และตำแหน่งนักบินที่ ๑ พระองค์ทรงนำมาใช้ในการแก้ภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้น เช่นในกรณีเกิดปัญหาอุทกภัยในภาคใต้ ทรงขับเครื่องบินพระที่นั่ง โบอิง ๗๓๗ - ๔oo บริษัท การบินไทย จำกัด TG  ๘๘๗o  เที่ยวบินพิเศษมหากุศล “สายใยรักครอบครัวช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และจัดหาอุปกรณ์การแพทย์สำหรับโรงพยาบาลใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้” ซึ่งพระราชดำริเรื่องนี้มีผลต่อจิตใจของประชาชนในพื้นที่ขาดแคลนและห่างไกลตัวเมือง เพราะจะสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที และเที่ยวบินนี้มียอดรับการบริจาคมากถึง ๘o ล้านบาท

 ดั่งหยาดทิพย์ชโลมใจ


             พระราชกรณียกิจที่แสดงถึงพระเมตตาต่อพสกนิกรไทยมุสลิมทั่วหล้า ที่ทรงถือปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๑  คือ การเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ซึ่งนับเป็นวาระอันดีที่พสกนิกรไทยมุสลิมจะได้มีโอกาสชื่นชมพระบารมีและพร้อมใจกันแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่ง

            อีกหนึ่งพระราชกรณียกิจสำคัญที่สะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงพระมหากรุณาธิคุณในการทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกอย่างแท้จริง คือ การเสด็จ ฯ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อพระราชทานถ้วยรางวัลการทดสอบการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน  พระราชทานโล่เกียรติคุณและเงินรางวัลแก่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและอิหม่ามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้แทนโรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียน ครู นักเรียน โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามภาคใต้  ที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุก ๆ ปี

           แม้กระทั่งเมื่อวันที่  ๑๕  พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙  ที่ผ่านมา   ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เหล่าข้าราชการและประชาชนในพื้นที่ต่างไม่มั่นใจว่าพระองค์จะยังเสด็จพระราชดำเนินมาจังหวัดปัตตานี ตามหมายกำหนดการเพื่อพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศทดสอบการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ระดับประเทศ   ชิงถ้วยพระราชทาน     สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมุฎราชกุมาร ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๙  หรือไม่ แต่ข้าราชบริพารในพระองค์  ได้ลงพื้นที่พร้อมแจ้งถึงพระราชประสงค์ว่า  "ยังไง เราก็ต้องมา"

            กระแสพระราชดำรัสแม้เพียงสั้น ๆ แต่กลับลึกซึ้งตรึงใจพสกนิกรไทยมุสลิม ดุจหยาดฝนฉ่ำชื่นที่โปรยปรายสู่ดวงใจที่กำลังแห้งผาก  ดั่งดวงตะวันของวันใหม่ที่ทอแสงเรืองรองส่องประกายฉายความหวังให้พสกนิกรไทยมุสลิมได้อบอุ่นใจใต้ร่มพระเมตตาบารมีที่แผ่กระจายกว้างใหญ่ไพศาลทั่วผืนแผ่นดินไทยเฉกเช่นเดียว กับสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ บรมนาถบพิตร

++++++++++++++++

ที่มา : ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

        นิทรรศการงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ฮ.ศ. ๑๔๓๙

หมายเหตุ : ตีพิพม์ครั้งแรก มิถุนายน 2561
                      และติดตามอ่านย้อนหลัง นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับ  https://issuu.com/ekkaratalami/docs/alami_67______________61