Business
Home   /   Business  /   สนช. ลงพื้นที่ ตรัง-สตูล หนุนโครงสร้างพื้นฐานรับธุรกิจท่องเที่ยว-การค้า

สนช. ลงพื้นที่ ตรัง-สตูล หนุนโครงสร้างพื้นฐานรับธุรกิจท่องเที่ยว-การค้า

            สำนักข่าวอะลามี่: สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พบประชาชนจังหวัดตรังและสตูล ร่วมสะท้อนปัญหาของพื้นที่เพื่อนำสู่การแก้ไขในโครงการ " สนช.พบประชาชน " พร้อมสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานทั้ง ท่าเรือ สนามบินจังหวัดตรัง รับฟังปัญหาเกาะหลีเป๊ะ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของสตูล และร่วมหาแนวทางคมนาคมชายแดนเชื่อมเขตเศรษฐกิจไทย-มาเลเซีย

            นายอนุมัติ อาหมัด สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะ ประธานคณะอนุกรรมการเตรียมการดำเนินการโครงการสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติพบประชาชน จังหวัดตรัง-สตูล กล่าวถึง โครงการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พบประชาชนจังหวัดตรังและสตูล ในวันเสาร์ที่ 29 เมษายน 2560  วันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน 2560  ซึ่งในเวทีดังกล่าวได้ร่วมพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมรับฟังปัญหาอุปสรรคในด้านต่างๆ ทั้งจากส่วนราชการและจากประชาชนในพื้นที่เพื่อนำไปสู่การแก้ไข ภายใต้บทบาทอำนาจหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

           สำหรับที่จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นจังหวัดแรกที่ สนช.ลงไปในครั้งนี้ ทราบว่าประชาชนในพื้นที่เรียกร้องให้มีการขยายท่าเรือ โดยเฉพาะ ท่าเทียบเรือปากเมง(Pak meng Pier) อำเภอสิเกา เป็นท่าเรือการท่องเที่ยวของจังหวัด มีการก่อสร้างมาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ และไม่สามารถรองรับการใช้บริการได้ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล ทั้งนี้ท่าเรือดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อไปยังเกาะแก่งต่างๆ อาทิ เช่น  เกาะมุก เกาะไหง และเกาะอื่นๆ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดตรัง

           “ ชาวบ้านเรียกร้องให้มีการก่อสร้างและขยายท่าเรือปากเมง ซึ่งการลงมาของสนช. หลังรับทราบ เราก็เห็นด้วย แต่อยากให้ผ่านกระบวนการขอใช้พื้นที่ เนื่องจากท่าเรือดังกล่าวอยู่ในการดูแลของอุทยานหาดเจ้าไหม และศึกษาผลกระทบให้เรียบร้อยก่อน ”

           นอกจากนี้ทางจังหวัด ยังได้ขอให้สนับสนุน “และให้ผลักดันในเรื่องสนามบินจังหวัดตรัง” ซึ่งเดิมมีอยู่แล้ว แต่อยากจะขอขยายตัวอาคาร และรันเวย์ เนื่องจากมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งหลังจากที่เราประชุมร่วมกัน จะนำเรื่องนี้มาพิจารณาในระดับบนอีกครั้ง

            นายอนุมัติ กล่าวอีกว่า สำหรับจังหวัดสตูล สภาพพื้นที่มีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 70% สังคมที่นี่อยู่กันอย่างสงบและสันติ ไม่มีปัญหาความขัดแย้งเมื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตคนที่นี่ พบว่ามีความสมบูรณ์ทางสภาพเศรษฐกิจทั้งภาคเกษตร การค้าและด้านการท่องเที่ยว

           “ หนึ่งในปัญหาที่เราลงมาศึกษาและรับฟังปัญหาคือ ปัญหาเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ แต่เป็นเกาะที่มีศักยภาพทางการท่องเที่ยวสูงมาก ขณะที่ประชากรที่มีรายชื่อตามทะเบียนราษฎร์มีเพียง 1,200 กว่าคน แต่ปัจจุบันเกาะหลีเป๊ะ มีประชากรแฝงจำนวนมาก เนื่องจากเป็นเกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของประเทศ และได้รับขนานนามว่า  ไข่มุกอันดามัน ” นายอนุมัติ กล่าวและว่า

            ปัญหาเกาะหลีเป๊ะ  คือ วันนี้คือปัญหาขยะล้นเกาะ  ซึ่งแต่ละวันจะมีขยะบนเกาะประมาณ 10 ตัน / วัน  หรือเดือนละ 300 ตัน แต่ยังไม่มีระบบกำจัดขยะบนเกาะ  ต้องขนกลับมาทำลายบนฝั่งในพื้นที่อำเภอละงู ซึ่งการบริหารจัดการขยะ ในแต่ละเดือน สามารถขนได้ 240 ตัน ส่วนที่เหลือเป็นปัญหาขยะตกค้างบนเกาะ ที่ยังมีปัญหา

           “ ขณะนี้เกาะหลีเป๊ะ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลเต็มไปด้วยคนหรือนักท่องเที่ยว ซึ่งในระยะยาวอาจต้องมีการจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยว และทั้งนี้ได้หารือกับหลายภาคส่วนก็เริ่มพูดถึงแนวทางในการแก้ปัญหา เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยจะลงไปดูพื้นที่อีกครั้ง เพื่อนำมาสู่การบริหารจัดการให้เหมาะสมมากขึ้น ”

            นอกจากนี้ยังติดตามปัญหาด่านชายแดนสตูล-มาเลเซีย ซึ่งจังหวัดสตูลมีด่าน 2 แห่งประกอบด้วย ด่านทางน้ำ ที่ท่าเทียบเรือตำมะลัง ในตัวเมืองสตูล  และด่านทางบก คือ ด่านวังประจัน ซึ่งเป็นด่านชายแดน อยู่ในพื้นที่อำเภอควนโดน ห่างจากตัวเมืองประมาณ 40 กิโลเมตร

            “ ในอดีตทั้งสองด่าน ประชาชนชายแดนของสองประเทศ มีการติดต่อผ่านแดนและติดต่อการค้า ส่งผลให้เศรษฐกิจชายแดนมีความคึกคัก แต่ปัจจุบัน มีปัญหาการเข้าออก เนื่องจากมาเลเซียอนุญาตเฉพาะผู้มีหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ตเท่านั้น ทำให้เศรษฐกิจชายแดนลดลงมาก โดยเฉพาะฝั่งมาเลเซียหายไปเกือบ100 % ขณะที่ชายแดนฝั่งไทยหายไปกว่า 50% ”

            นายอนุมัติ กล่าวอีกว่า สำหรับด่านวังประจัน  ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอควนโดน อยู่ตรงข้ามกับด่านชายแดนวังเกลียน ( Wang Kelian) รัฐเปอร์ลิส (Perlis) ประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้พื้นที่ด่านวังประจัน อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทะเลบัน สามารถเชื่อมต่อไปยังเมืองปาดังเบซาร์ ของมาเลเซีย และ ด่านชายแดนปาดังเบซาร์ ของประเทศไทย รวมถึงเมืองอื่นๆ ในรัฐ Kedah ของประเทศมาเลเซีย จึงส่งผลให้มีการเดินทางผ่านด่านพรมแดนไทย-มาเลเซีย รวมทั้งเกิดกิจกรรมการค้าขายชายแดนบริเวณด่านชายแดนวังประจันอย่างมาก

           “   ปัจจุบันด่านวังประจัน เริ่มมีความแออัด ไม่สะดวกต่อผู้มาใช้บริการเป็นอย่างมาก จึงมีโครงการปรับปรุงพัฒนาด่านชายแดนวังประจัน ทั้งนี้ ต้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปศึกษาความเหมาะสม และสำรวจออกแบบรายละเอียด เพื่อก่อสร้างอาคารและองค์ประกอบอื่นๆ รวมทั้งระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ที่จำเป็นต่อการให้บริการการเดินทางและขนส่งสินค้าผ่านชายแดนไทย-มาเลเซีย ”

             อย่างไรก็ตามสภาพของพื้นที่โดยเฉพาะฝั่งมาเลเซีย ซึ่งเรียกว่าบ้านวังเกลียน ภูมิประเทศเป็นภูเขา ทำให้การเดินทางไปมาอาจไม่สะดวกมากนัก รถเล็กผ่านได้ แต่รถใหญ่อาจลำบาก ทำให้หลายหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งในระดับจังหวัดและภาคเอกชน พยายามที่หาช่องทางในการคมนาคมทางเลือกใหม่ เช่น การสร้างสะพาน อย่างไรก็ตามเรื่องนี้จะต้องมีการศึกษาในรายละเอียดมากขึ้น