Travel
Home   /   Travel  /   TRAVEL : เมดาน อินโดนีเซีย

“เมดาน” อินโดนีเซีย : ศูนย์กลางการท่องเที่ยวสุมาตราเหนือ (ตอน 1)

เกษม ลิมะพันธุ์ :  เรื่อง/ภาพ

             TRAVEL :  “ ประเทศอินโดนีเซีย” เพิ่งจะฉลองการรับเอกราชครบ 70 ปี จากประเทศเนเธอร์แลนด์ไปเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา เป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ใหญ่ที่สุดและมีเกาะมากที่สุดในโลก ผู้เขียนเคยเดินทางไปท่องเที่ยว 3 ครั้ง น่าจะเป็นประสบการณ์หนึ่งที่ทำให้หลายคนได้เติมเต็มความรู้เกี่ยวกับอินโดนีเซียมากขึ้น ในการรองรับการเปิด “ประชาคมอาเซียน” ในปลายปีนี้

            ถ้าถามว่า เคยเดินทางไปท่องเที่ยวอินโดนีเซียหรือไม่ ? เชื่อว่าหลายคนตอบว่าไม่เคย เหตุผลส่วนใหญ่คือไม่มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ หรือมีวัฒนธรรมที่หลากหลายเช่นประเทศไทยเรา บางคนอาจจะมองว่าเป็นประเทศที่เสี่ยงต่ออันตราย เพราะเป็นแหล่งเขตภูเขาไฟ บ้างก็บอกว่า อินโดนีเซียมีแหล่งท่องเที่ยวเหล่านั้น กระจัดกระจายอยู่ตามเกาะต่างๆ ค่อนข้างห่างไกลต่อการคมนาคม ประกอบกับถนนหนทางและเส้นทางหลักค่อนข้างแคบ

            อินโดนีเซีย ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีเกาะมากที่สุด ประกอบด้วยเกาะใหญ่ 5 เกาะคือ เกาะสุมาตรา (473,600 ตร.กม. เกือบเท่าประเทศไทย) เกาะกาลิมันตัน เกาะชวา เกาะสุลาเวสี เกาะปาปัว และหมู่เกาะเล็กๆ อีกประมาณ 30 เกาะ เช่น เกาะบาหลี (5,400 ตร.กม.ใหญ่กว่าเกาะภูเก็ต 10 เท่า) รวมแล้วมีเกาะทั้งหมดประมาณ 17,500 เกาะ เป็นเกาะที่มีผู้คนอาศัยประมาณ 6,000 เกาะ โดยเกาะที่มีประชากรมากที่สุดคือเกาะชวา

            คำว่า “อินโดนีเซีย” มาจากคำในภาษากรีซ 2 คำ คือ “อินโดช” หมายถึงอินเดียตะวันออก และคำว่า “นิโซส” หมายถึงเกาะ จึงมีความหมายรวมว่า “หมู่เกาะอินเดียตะวันออก” โดยมี ”จาการ์ต้า” เป็นเมืองหลวง ตั้งอยู่บนเกาะชวา เมืองใหญ่รองลงมาคือสุราบายา และ ”เมดาน” เป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ที่ตั้งอยู่บนเกาะสุมาตรา

            เกาะสุมาตรา เป็นเกาะขนาดใหญ่มีพื้นที่เกือบ 5 แสน ตร.กม. แบ่งการปกครองออกเป็น 6 จังหวัด เช่น จังหวัดอาเจะห์เรียอู สุมาตราใต้ สุมาตราเหนือ โดยจังหวัดสุมาตราเหนือนั้น มีเมืองหลวงชื่อว่า “เมดาน” (Medan) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งด้านทิศเหนือของเกาะสุมาตรา บริเวณช่องแคบมะละกา เป็นเมืองท่าขนาดใหญ่อีกด้วย

            “เมดาน” ในอดีตอยู่ภายใต้การปกครองของ “สุลต่านแห่งอาเจะห์” ต่อมาในรัชสมัยปีที่ 2 ของสุลต่านเดลิ (Deli) ระหว่างปี 2212-2231 เมดานเกิดสงครามขึ้น ระหว่างกองทหารของเมดานกับกองทหารอาเจะห์ และเมดานได้รับความพ่ายแพ้ และถูกทิ้งร้างไม่มีการพัฒนาเท่าที่ควร

            จนถึงปี 2403 มีการเข้ามาของชาวดัตช์ (ปัจจุบัน : เนเธอแลนด์) มีการริเริ่มการเพาะปลูกยาสูบและพืชเศรษฐกิจอื่นๆ จนทำให้เมดานกลายเป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจ จนถึงปี 2461 เมดานจึงได้รับการยกฐานะเป็นเมืองหลวงอย่างเป็นทางการของจังหวัดสุมาตราเหนือมาจนถึงปัจจุบัน

          
  จากความเจริญที่เป็นเมืองเศรษฐกิจควบคู่กับเมืองมะละกาของมาเลเซีย และแรงดึงดูดประกอบอาชีพ จึงทำให้มีการอพยพของคนในประเทศมาเลเซีย คนอินโดนีเซียเองจากเกาะชวา รวมถึงชาวจีน ชาวอินเดีย เดินทางเข้ามาประกอบอาชีพค้าขาย ปัจจุบัน เมดานจึงมีความหลากหลายของเชื้อชาติ วัฒนธรรม แต่ประชากรส่วนใหญ่ 90 เปอร์เซ็นต์นับถือศาสนาอิสลาม

            การเดินทางท่องเที่ยวในเมืองเมดาน หากมากับบริษัทท่องเที่ยวก็คงจะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แต่หากมาท่องเที่ยวแบบอิสระ สิ่งที่ควรเรียนรู้นอกจากแหล่งท่องเที่ยวจากคู่มือหรือข้อมูลแล้ว การเดินทางที่จำเป็นต้องใช้รถโดยสารหรือรถเช่า มีให้เราได้เลือกค่อนข้างมากพอสมควร โดยเริ่มตั้งแต่สนามบินและในตัวเมือง

            เมืองเมดาน มีรถประจำทางขนาดเล็ก แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงนิยมรถโดยสาร ซึ่งเป็นรถสามล้อที่เรียกว่า Moterizebecaks เป็นรถสามล้อดัดแปลงกันแดดกันฝน หากเป็นบ้านเราก็มีลักษณะคล้ายๆ กับรถสามล้อพ่วงข้าง รถสามล้อที่ว่านี้มีให้เราได้เห็นทั่วไปเหมือนกับรถมอเตอร์ไซต์รับจ้างบ้านเรา เพราะค่าโดยสารถูกและสามารถเจรจาต่อรองกันได้

            นอกจากนี้ ยังมีบริการขนส่งประเภทอื่นๆ เช่น รถแท็กซี่ และมินิบัสที่เรียกว่า Sudako เป็นรถบัส 6 ล้อเล็กดัดแปลงที่วิ่งโดยสารระหว่างเมือง ถ้าถามว่าทำต้องเป็นรถบัสขนาดเล็ก เหตุผลสำคัญน่าจะมาจากทางหลวงสายหลักระหว่างเมืองที่ค่อนข้างแคบเป็นส่วนใหญ่ แต่เมดานก็มีโครงการก่อสร้างทางด่วนเพื่อเชื่อมกับเมืองต่างๆ ที่เห็นได้ชัดเจนในขณะนี้คือทางด่วนสู่สนามบินแห่งใหม่ Kualanamu International Airport ที่ตั้งอยู่นอกตัวเมือง

            เมดานเป็นเมืองขนาดใหญ่ จึงมีสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปมาก ถนนหนทางที่ค่อนข้างคับแคบรถราที่มากขึ้น และแหล่งชุมชนผู้มีรายได้น้อย แต่สิ่งหนึ่งที่เมดานยังคงหลงเหลือให้เราได้ศึกษาถึงประวัติศาสตร์ในอดีตก็คือ อาคารและสถานที่ต่างๆ จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น ศาลากลางจังหวัดเก่า พระราชวังเก่า ไปรษณีย์เก่า ฯลฯ

            แหล่งท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ที่ไม่ควรพลาดคือมัสยิดรายา(Masjid raya หรือ Grand Mosque) ณ บริเวณสี่แยกถนน Jalansisinggarnagaraja มีประตูโดมทางเข้าที่โค้งมนขนาดใหญ่สู่ภายในบริเวณมัสยิด โดยมีพื้นที่ปูด้วยอิฐดั้งเดิม ตัวอาคารมัสยิดขนาดใหญ่ 3 โดม มีการออกแบบที่ยังคงเอกลักษณ์ของมัสยิดในศาสนาอิสลาม มีลวดลายการออกแบบที่โดดเด่น

            ด้านหน้าของมัสยิดมีป้ายคอนกรีตสื่อความหมายบันทึกถึงความเป็นมาของมัสยิดแห่งนี้ว่า “Masjid Raya al- Mashun : The Grand mosque Al Mashun on of the Sulthan of Deli Remains historical, Building and it is still used by moslems for praying daily, The grand mosque Al – Mashun is about two hundred meter far from Maimoen place with was buil in 1906 by Sulthal Maimoen al rasyidperkasaalamyyarm and for the first time use on september 19, 1909”

         
             สรุปได้ว่า มัสยิดรายา Al Mashun หรือมัสยิดใหญ่แห่งนี้ สร้างขึ้นในสมัยสุลต่านเดลี เป็นศาสนสถานสำคัญสำหรับการปฏิบัติศาสนกิจทุกวันของพี่น้องมุสลิม สถานที่ตั้งของมัสยิดแห่งนี้ห่างจากพระราชวัง Maimoen ไม่มากนัก มัสยิดใหญ่แห่งนี้เปิดการใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2452 หรือเมื่อ 106 ปีที่แล้ว

            วันนี้ของเมืองเมดาน นอกจากจะเป็นเมืองหลวงของจังหวัดสุมาตราเหนือแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ มีประชากรเกือบ 3 ล้านคน ประชากรส่วนใหญ่เชื้อสายมาเลย์ นับถือศาสนาอิสลาม มีภาษาพูดทั้งภาษามาเลย์ และภาษาบาฮาซา (Bahasa) เป็นเขตอุตสาหกรรม มีโรงงานอุตสาหกรรมมากมาย

            ที่สำคัญเมดานเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเป็นวงกลม โดยมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น ทะเลสาบโตบา (Lake Toba) ที่เกิดจากภูเขาไฟระเบิด ทะเลสาบที่ตั้งสูง 1,000 เมตรจากกระดับน้ำทะเลในปากปล่องภูเขาไฟ ที่มีความลึกถึง 1,400 เมตร มีน้ำใสดุจกระจก ภูมิอากาศที่นี่จึงเย็นสบาย ที่พักทุกแห่งจึงไม่มีเครื่องปรับอากาศ

          น้ำตกซิปิโซ-ปิโซ (Sipiso-piso) น้ำตกที่ตกสูงกว่า 120 เมตรจากหน้าผา เป็นน้ำตกที่ตั้งอยู่ในระดับความสูงกว่า 1.000 เมตรจากระดับน้ำทะเลอีกด้วย บริเวณพื้นที่แห่งนี้มีจุดชุมวิวที่สวยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก

            และไม่ไกลจากแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ยังมีบ้านหัวหน้าชนเผ่าที่ยาวที่สุดในอินโดนีเซีย ที่มีภรรยาถึง 24 คน รวมถึงเมืองเบอราสตากี้ (Berastagi) แหล่งปลูกไม้ผลที่สำคัญของเกาะสุมาตราให้เราได้ชิมและเลือกซื้อสดๆ อีกด้วย

            แหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ โปรดติดตามรายละเอียดในฉบับต่อไป

ตีพิมพ์ครังแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับ กันยายน 2558