Life style
Home   /   Life style  /   อยู่กับน้องน้ำให้ปลอดภัย:

อยู่กับน้องน้ำให้ปลอดภัย

        สำนักข่าวอะลามี่ : แม้ว่าคนในกรุงเทพและภาคกลางจะพ้นจากภาวะน้ำท่วมขัง แต่ยังมีอีกหลายพื้นที่ ที่กำลังประสบภัยพิบัติเรื่องน้ำ โดยเฉพาะภาคใต้ของไทย บทความนี้อาจเป็นข้อเตือนใจสำหรับผู้ที่กำลังประสบปัญหา น้ำกำลังมาเยือนถึงหน้าบ้าน ในบ้านและทุกซอกมุม 

        นพ. ชาย มหิทธิภาคย์ แพทย์ประจำศูนย์ตรวจสุขภาพโรงพยาบาลเวชธานี แนะวิธีการใช้ชีวิตท่ามกลางวิกฤตน้ำท่วมได้อย่างปลอดภัย ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ

        ประเด็นแรกที่คุณหมอเตือนมาคือ หากไม่จำเป็นอย่าลุยน้ำท่วมขัง อย่าปล่อยให้บุตรหลานลงเล่นน้ำหรือแช่น้ำ เนื่องจากเชื้อโรคที่มากับน้ำท่วมมีมาก  ยังไม่นับรวมความสกปรกของขยะมูลฝอย  สิ่งปฏิกูล สัตว์มีพิษและสิ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ 

         หลายคนหลีกเลี่ยงไม่ได้และจำเป็นต้องลุยน้ำ  ให้คิดเสมอว่าตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคที่มากับน้ำ  ฉะนั้นหากมีไข้หรือไข้ขึ้นสูงต้องรีบพบแพทย์  เพราะอาจได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายทั้งแบบรุ้ตัวและไม่รู้ตัว  เช่น สำลักน้ำสกปรก มีรอยขีดข่วนตามผิวหนังโดยไม่รู้ตัว  ส่วนอาการไข้นั้นถ้าเป็นภาวะแรกเริ่มการติดเชื้อ  อาจเป็นได้ทั้งอาการของไข้หวัดใหญ่ ปอดบวมและโรคฉี่หนู                                           

         อย่างไรก็ตามโรคฉี่หนุที่คนกรุงหวาดกลัว  นอกจากไข้สูงแล้วยังมาพร้อมอาการปวดเมื่อยเนื้อตัวโดยเฉพะน่องและโคนขา ตัวเหลือง ตาเหลือง 

        นอกจากนี้ยังอาจติดเชื้อที่ผิวหนัง ทั้งน้ำกัดเท้าและเชื้อรา  หากจำเป็นต้องลงน้ำควรสวมรองเท้าบูตกันน้ำหรือล้างขาและเท้าให้สะอาดด้วยสบู่ 2-3 ครั้ง แล้วเช็ดให้แห้ง 

       โรคติดเชื้อจากอาหารก็จำเป็นต้องระวัง  ควรรับประทานอาหารสุกใหม่ ไม่ค้างคืน ขณะเดียวกัน อาหารกระป๋องหรือสิ่งของในถุงยังชีพก็ต้องสำรวจดุวันหมดอายุ  ดูเครื่องหมาย อย. หากเป้นน้ำควรมีฝาปิดให้สนิท ใสสะอาด ไม่มีตะกอน  

       ”  สุขาก็เป็นเรื่องที่ควรใส่ใจ ปัจจุบันมีการประชาสัมพันธ์วิธีการทำสุขาฉุกเฉิน  เมื่อทำธุระเสร็จก็ต้องปิดผนึกอย่างดี  เช่นเดียวกันขยะหากไม่ระวังจะเป็นตัวการทีทำให้เกิดโรคระบาดได้ง่าย “ คุณหมอกล่าว 

         ในส่วนของโรคจากอุบัติเหตุ การทำงานและสัตว์มีพิษซึ่งเกิดขึ้นได้บ่อย  เพราะหลายคนยังไม่หยุดงานจำเป็นต้องลุยน้ำท่วมเพื่อเดินทางไปทำงาน หรือ อาจอยู่ระหว่างอพยพ แพทย์ชี้ว่าจำเป็นต้องระวังเรื่องไฟฟ้าช็อต หรือการเหยียบเศษแก้ว  ของมีคมที่มองไม่เห็น ด้วยการสวมรองเท้าที่ปิดเท้า  แต่หากเป็นโรคจากสัตว์มีพิษ ไม่ว่าจะเป็นงู ตะขาบหรือสัตว์มีพิษอื่นๆ ที่หนีน้ำมา จำเป็นต้องรู้หลักการช่วยเหลือเบื้องต้น แต่ทางที่ดีที่สุดคือการนำผู้ป่วยถึงมือแพทย์เพราะอาการแพ้ของแต่ละคนต่างกัน  บางคนแพ้มากอาจช็อกและเสียชีวิตได้

        “ผู้ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมจำเป็นต้องดูแลสภาพแวดล้อมรอบบ้าน  อาจใช้ยาหรือโรยปูนขาวเพื่อป้องกันสัตว์พิษ และตรวจตราความเรียบร้อยก่อนนอน”

          สำหรับผู้มีจิตอาสา นพ. ชาย กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ดีมากในการช่วยเหลือผู้อื่น ขณะเดียวกันก็ต้องระวังและมีสติ เพราะอาจได้รับอุบัติเหตุ เช่น ขาแพลง เข่าพลิก หากลื่นล้ม ระหว่างการยกกระสอบทราย จึงจำเป็นต้องประเมินต้นเองว่าแข็งแรงพอหรือไม่  เคยออกกำลังกายมาก่อนหรือเปล่า  หากยกได้ยกไหวก็จำเป็นต้องยืดเส้นยืดสาย  เพื่อลดอาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อและยกกระสอบทรายให้ถูกท่าไม่ก้มแล้วยก

 

             “ควรทำตามกำลังตัวเอง  อย่าฝืน เมื่อเหนื่อยก็ควรพักก่อน  หากไม่ไหวก็มีงานอาสาด้านอื่นๆให้ช่วย  เพราะไม่เช่นนั้นแทนที่จะไปช่วยก็กลายเป็นภาระ” แพทย์ชี้

          เมื่อกายพร้อมใจต้องพร้อม  แต่ข่าวสารต่างๆ ที่ไหลเข้ามาทำให้หลายคนวิตกกังวล  นอนไม่หลับต้องคอยมาดุระดับน้ำ  นพ.ชาย กล่าว คนที่นอนไม่หลับหลายวันติดต่อกัน  จะเกิดอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด ความดันต่ำหรือสูงเกินไป สภาพจิตใจบั่นทอนจนทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย บางคนอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมจนเกิดอาการซึมเศร้า  อาจคิดสั้นได้ หรืออยู่ในภาวะน้ำท่วมไปนานๆ จนเกิดอาการกลัว(Pho bia) เช่น กลัวน้ำ กลัวที่มืด 

          “ หากจำเป็นต้องเฝ้าดูระดับน้ำ ควรจะผลัดเวรกันเพื่อให้พักผ่อนเพียงพอ ขณะเดียวกันคนรอบข้างควรสังเกตกันว่า มีอาการดังนี้หรือไม่  เช่น เงียบไป ไม่พุดไม่จา ซึมเศร้า ไม่กินข้าวกินปลา เพราะอาจเป็นอาการเริ่มของโรคซึมเศร้า  สิ่งที่เราควรทำคือให้กำลังใจ  ดูแล ไม่ทอดทิ้ง  แบ่งหน้าที่กันเพื่อให้ทุกคนได้พักผ่อนเพียงพอ " นพ. ชาย แนะนำ

           สำหรับคนที่ญาติติดอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม หากทำได้อย่าขาดการติดต่อ พยายามสื่อสารกันเพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้ประสบภัยไม่รู้สึกโดดเดี่ยว