The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   อย่าปล่อยความเสียใจให้สายเกินไป

อย่าปล่อยความเสียใจให้สายเกินไป

โดย บันฑิตย์ สะมะอุน

            เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2558  จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย (ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา)  ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (สำนักงานเขตคลองสามวา มีนบุรี และหนองจอก) สนับสนุนโดย กอ.รม.น. และ มัสยิดกมาลุลอิสลาม ได้ร่วมกันจัดงาน “ สายสัมพันธ์แห่งสายน้ำ” นอกจากนี้ยังใช้ มัสยิดกมาลุลอิสลาม เป็นสถานที่จัดงาน เสวนาทางวิชาการ “ ชาวไทยมุสลิมใต้ร่มพระบารมี : สายสัมพันธ์แห่งสายน้ำ อีกด้วย

            ในงานยังได้เชิญ ดาโต๊ะนาซีเราะห์ ฮุสเซ็น เอกอัคราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย ร่วมบรรยายถึงมุมมองชาวต่างชาติต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย อีกยังได้มุมมองดีๆจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ นักประวัติศาสตร์ชื่อดังของเมืองไทย ในฐานะผู้อํานวยการ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกด้วย

            จุดเน้นของงาน คือการเชิดชูเกียรติแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(สถาบันกษัตริย์) ซึ่งพระองค์ท่านได้ทุ่มเทงานเกี่ยวกับเรื่องแม่น้ำคูคลองและการดูแลรักษาน้ำเพื่อความสุขของประชาชนคนริมคลอง

            มัสยิดกมาลุลอิสลาม เป็นมัสยิดเก่าแก่อายุกว่าร้อยปี ตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบ ปัจจุบันอยู่ในเขตคลองสามวา (แต่เดิมเป็นเขตมีนบุรี ก่อนที่จะแบ่งเขตใหม่เป็นคลองสามวา) และที่น่าสนใจคือ มัสยิดฯนี้ เคยเป็นศาสนสถาน ที่กษัตริย์และราชวงศ์ถึง 2 พระองค์ เสด็จมาเยี่ยมเยือนประชาชนในถิ่นนี้

            ครั้งหนึ่งเมื่อเสด็จประพาสต้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ใน ร.ศ. 126 (พ.ศ. 2450)และ เมื่อครั้งที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  ในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2537  ทรงเสด็จประพาสคลองแสนแสบทางเรือโครงการ " ร่วมใจภักดิ์รักษ์คลองแสนแสบ” จนกลายเป็น " วันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำคูคลองแห่งชาติ" (ปัจจุบันยังคงจัดเป็นงานประจำปีของทุกวันที่ 20 กันยายน)

            เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้ เป็นพื้นที่ที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเรื่องน้ำ เพราะจากการออกแบบเมืองที่ไม่ใส่ใจต่อแม่น้ำคูคลอง และการเปลี่ยนเส้นทางน้ำใหม่ ทำให้พื้นที่บริเวณนี้ (คลองสามวา มีนบุรี และหนองจอก ) ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดกรุงเทพฯ กลายเป็นทุ่งรับน้ำ หากบริหารจัดการไม่ดี ปัญหาน้ำท่วม น้ำเน่าเสีย จะหมักหมม อยู่ในบริเวณนี้

            ด้วยความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อประชาชนบริเวณนี้ จึงได้มีโครงการพระราชดำริมากมายเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ดังกล่าว เพื่อป้องกันภัยที่จะมาจากน้ำ

            ความจริง ภัยคุกคามต่อน้ำนั้นเกิดจากประชาชน/ชาวบ้านธรรมดาจะน้อยกว่าภัยคุกคามจากผลของการขยายเมือง/การนิ่งเฉยของผู้มีส่วนรับผิดชอบกับโครงการต่างๆ/การหลบเลี่ยง แอบเลี่ยงกฎหมาย /ขาดการติดตามตรวจสอบอย่างจริงจัง จนเป็นต้นเหตุให้น้ำในลำคลองเน่าเสีย

            อีกส่วนหนึ่งคือ คลองแสนแสบ ที่เชื่อมด้วยลำลางเล็กๆหลายสาย ทุกสายจะไหลลงสู่คลองแสนแสบ ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น น้ำที่ไหลลงมาตามธรรมชาติน่าเป็นห่วงยิ่ง (เพราะสร้างเมืองเหนือน้ำ) ห่างไกลจากการตรวจสอบติดตาม และเมื่อต้นน้ำถูกคุกคาม ปลายน้ำย่อมได้รับผลกระทบ เป็นปัญหาที่ต้องมองให้ถึงต้นเหตุ

            คลองแสนแสบ ยังคงเป็นตัวแทนของประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ วัตนธรรม ของชาวมุสลิมมาจนถึงปัจจุบัน ตัวแทนเหล่านี้จะยังคงอยู่ หากคลองแสนแสบยังคงใสสะอาดไม่เน่าเสีย

            จุดสำคัญหนึ่งคือหากน้ำในคลองเน่าเสีย การจะรักษาอนุรักษ์คลองแสนแสบ ก็คงกลายเป็นเรื่องไร้ค่า เพราะไม่มีเหตุจูงใจให้ต้องอนุรักษ์รักษากับสิ่งไร้ค่า

            ประเด็นคือ จะทำอย่างไรให้คลองแสนแสบ มีคุณค่าและมีชีวิตต่อไป หากปล่อยให้น้ำเน่าเสียแล้ว ทุกอย่างของชีวิตริมคลองก็จะสูญหายตามกันไป งานอนุรักษ์ ก็จะยิ่งยากและจะสิ้นเปลืองงบประมาณมากขึ้นด้วยสาเหตุนั้นมาจากมนุษย์ แต่มนุษย์อาจยังไม่ได้รับผลกระทบ ตราบใดที่สิ่งแวดล้อมรอบตัวมนุษย์ยังไม่เน่าเสีย แต่หากสิ่งแวดล้อมเน่าเสีย ชีวิตมนุษย์จะได้รับผลกระทบโดยไม่มีทางหนีพ้น

            จุดสำคัญของงานอนุรักษ์คือ คุณค่าที่ไม่หยุดนิ่งในงานดังกล่าว การจัดงานเป็นเรื่องการปลุกกระแสการมีส่วนร่วม แต่จะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประชาชน/ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของพื้นที่มากกว่า ว่าเขาจะมีความรู้สึกสูญเสีย ถูกรังแก ถูกอารัดเอาเปรียบ จากภัยคุกคามด้านต่างๆในงานที่อนุรักษ์และรู้สึกรักหวงแหนมันมากน้อยเพียงไร

            และคงจะน่าเสียใจยิ่ง หากปล่อยให้ความเสียใจนั้นสายเกินจะแก้ไขเยียวยา ทั้งที่รู้ทั้งรู้ถึง สาเหตุ เหตุผล ต้นเหตุ ของปัญหานั้นอยู่แล้วก็ตาม .............

 
ตีพิพม์ ครั้งแรก : นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนมิถุนายน 2558