The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   กฟผ. ยันไม่ทิ้งโครงการกระบี่และเทพา

กฟผ. ยืนยันโครงการกระบี่และเทพา
จำเป็นต่อการพัฒนาไฟฟ้าภาคใต้และของประเทศ

 

                สำนักข่าวอะลามี่: กฟผ. ยืนยันเดินตามโรดแม๊บกระบี่และเทพา มิเช่นนั้น ประเทศจะต้องฝากอนาคตไว้กับก๊าซธรรมชาติที่มีราคาแพง ส่วนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน กฟผ. พร้อมเดินหน้า โดยเฉพาะพลังงานชีวมวล เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร


              นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ ว่าอยู่ระหว่างการดำเนินงานของคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อหาข้อสรุปนำเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อสั่งการต่อไป สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าเทพา เป็นไปตามแผนงาน อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ซึ่งทั้ง 2 โครงการ มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ และของประเทศ

            “โรงไฟฟ้ากระบี่และเทพา มีความจำเป็นต่อการพัฒนาพลังงานในภาคใต้ ที่ความต้องการไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นทุกปี และหากประเทศยังมีการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่มากดังเช่นปัจจุบัน หรือไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา จะต้องเพิ่มการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าของประชาชนสูงขึ้น”

             กรณีชุมชนทับสะแก เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ขอให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่นั้น  ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวยืนยันว่า กฟผ. ไม่เคยมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพราะเรามีพันธะสัญญาที่ให้ไว้กับชุมชนในปี 2550 ว่า กฟผ. จะไม่พัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทับสะแก แต่ถ้าในอนาคตชุมชนในพื้นที่ต้องการให้มีการพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จริง ก็จะต้องเป็นนโยบายของกระทรวงพลังงาน  โดย กฟผ. พร้อมจะดำเนินการตามนโยบายและความต้องการของชุมชน ทั้งในเรื่องของการพัฒนาโรงไฟฟ้าโดยใช้เทคโนโลยีที่สะอาดที่สุดในเชิงพาณิชย์ และการพัฒนาท้องถิ่นให้มีความเจริญไปพร้อมๆ กัน

            นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ยังได้กล่าวถึงการพัฒนาพลังงานทดแทนในปัจจุบันว่า ส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่มีความมั่นคงในการจ่ายไฟฟ้า (Non-firm)  กฟผ. ต้องเตรียมโรงไฟฟ้าหลักรองรับในสัดส่วนที่เท่ากัน ซึ่งเป็นภาระส่วนเพิ่มที่ผู้ลงทุนพลังงานทดแทนไม่ต้องจ่าย แต่ถูกผลักเป็นภาระค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายเพิ่ม

            อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนก็เป็นนโยบายที่ภาครัฐมีเป้าหมายต้องการให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ดังนั้นในส่วนของ กฟผ. ที่จะเสนอกระทรวงพลังงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจำนวน 1,500 - 2,000 เมกะวัตต์ จึงจะเน้นโรงไฟฟ้าชีวมวลประเภทที่จ่ายไฟฟ้าได้อย่างมั่นคง (Firm) ซึ่งนอกจากจะเป็นโรงไฟฟ้าหลักแล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่มากเกินไป มิเช่นนั้นอาจทำให้ประสบวิกฤตราคาค่าไฟฟ้าได้ เช่น ในยุโรปหลายประเทศที่มีค่าไฟฟ้าแพง อาทิ เยอรมนี และเดนมาร์ก