The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   คอลัมน์ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ : สถานการณ์โลก : สถานการณ์ไทย

สถานการณ์โลก : สถานการณ์ไทย

โดย : ทหารประชาธิปไตย

 

 

            การเมืองระหว่างประเทศกำลังมีการเดินเกมที่เข้มข้นขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้จะยังไม่มีตัวบ่งชี้ชัดเจนว่าจะเป็นเหตุให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 แต่ความละเอียดอ่อนของสถานการณ์ก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองระหว่างประเทศ และนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 ได้

            ดังนั้นจึงขอเริ่มจากการสรุปสถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง และพื้นที่ใกล้เคียงโดยเริ่มตามลำดับต่อไปนี้

            1.สถานการณ์ในซีเรีย ฝ่ายรัฐบาลและพันธมิตร คือรัสเซียและอิหร่าน ตลอดจนกองกำลังฮิสบุลเลาะฮ์กำลังรุกไล่ฝ่ายกบฏ และผู้ก่อการร้ายดาอิซ(IS) โดยสามารถยึดคืนพื้นที่ส่วนใหญ่ในเมืองอโลปโปอันเป็นเมืองใหญ่และสำคัญของซีเรีย นอกจากนี้ยังเข้ากวาดล้างในบริเวณรอบๆเมือง ทำให้กลุ่มก่อการร้ายดาอิซต้องมีการปรับกำลังและยุทธวิธีเพื่อหาทางเสริมกำลัง และหาเงินทุนจากแหล่งใหม่ๆ ถ้าสหรัฐฯไม่เข้ามาแทรกแซงด้วยวิธีการใดๆ รัฐบาลซีเรียของนายอัสซาดคงเข้าควบคุมอเลปโปและควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศได้ ซึ่งสอดรับกับรายงานจากเยอรมันว่าผู้อพยพลี้ภัยซีเรียแสดงความจำนงจะกลับประเทศไม่น้อยกว่า 60,000 คน ซึ่งถ้าเหตุการณ์สงบจริงๆก็จะมีอีกจำนวนมากที่สมัครใจกลับประเทศ

            อย่างไรก็ตามแม้สหรัฐจะไม่เข้าแทรกแซงโดยตรงแต่ CIA ก็อาจใช้นอมินีเข้ามาสนับสนุน เช่น อิสราเอล ตุรกี ซาอุดิอารเบีย และบางประเทศในอาหรับ เช่น การ์ตาที่พร้อมให้เงินสนับสนุนฝ่ายกบฏ

            ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าซาอุดิอารเบียได้เริ่มดำเนินการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล โดยอ้างว่าจะทำให้สามารถสร้างสันติภาพถาวรได้ จริงหรือไม่ก็ลองติดตามดู แต่อิสราเอลได้โหมสั่งอาวุธขนานใหญ่จากสหรัฐฯ โดยเฉพาะฝูงบินรบที่ล่องหนได้ ถึง 3 ฝูงด้วยกัน ซึ่งอาวุธชนิดนี้มันไม่ได้มีไว้ใช้ป้องกันแต่มันมีไว้ในทางโจมตีก่อน (FIRST STRIKE) ในทางยุทธวิธี และเป้าหมายหลักของอิสราเอลคืออิหร่าน ซึ่งก็กำลังสะสมอาวุธโดยการพัฒนา และสั่งซื้อจรวดเพิ่มเติมจากรัสเซียเพื่อป้องกันตนเอง

            2.สถานการณ์ในอิรัก รัฐบาลอิรักร่วมกับการสนับสนุนจากพันธมิตรโดยเฉพาะอิหร่านได้รุกคืบหน้า และยึดคืนส่วนใหญ่ของเมืองโมซุลที่เป็นเมืองใหญ่อันดับสองรองจากแบกแดด แถมยังเป็นแหล่งใหญ่ของน้ำมันในอิรัก ซึ่งขบวนการดาอิซ(IS) เคยใช้เป็นแหล่งรายได้ขนาดใหญ่ คือลำเลียงน้ำมันย่านตุรกีไปขายให้กับพ่อค้าสหรัฐฯ-ยุโรป

            3.อิหร่าน ขยายกำลังรบโดยเฉพาะทางทะเล และมีการลาดตระเวนมากขึ้นในอ่าวเปอร์เซีย และมหาสมุทรอินเดียแถบโซมาเลีย โดยอ้างว่าเพื่อคุ้มครองกองเรือพาณิชย์ของนานาชาติ ทำให้มีโอกาสกระทบกระทั่งกับกองเรือของสหรัฐฯในแถบนั้น อย่างไรก็ตามรัสเซียได้เสริมกำลังทัพเรือด้วยเรือบรรทุกเครื่องบิน และเรือดำน้ำทันสมัย ซึ่งสหรัฐฯก็ถ่วงดุลด้วยการนำเอาเรือรบล่องหนออกปฏิบัติการทั้งๆที่ยังไม่พร้อมมากนัก

            อนึ่งอิหร่านมีเป้าหมายที่จะเปิดฐานทัพในอิรักและเยเมน ซึ่งในกรณีหลังนี้ ฝ่ายกบฏฮูธีซึ่งมีชัยในการทำสงครามขับไล่รัฐบาลเผด็จการที่สนับสนุนโดยซาอุออกไปได้และสมารถต่อต้านการโจมตีของซาอุ ได้มีการเตรียมการจัดตั้งรัฐบาลโดยรวมกลุ่มต่างๆเข้าด้วยกัน ถ้าอิหร่านสามารถตั้งฐานทัพใน 2 ประเทศนี้ได้ หรือเอาแค่กระชับความร่วมมือทางทหารกับ 2 ประเทศนี้ ซาอุและอิสราเอลมีหนาวแน่ เพราะเลบานอนภายใต้ประธานาธิบดีใหม่ก็เป็นพันธมิตรกับอิหร่าน แม้ว่าท่านจะนับถือศาสนาคริสต์ก็ตาม

            4.แผนการขยายอิทธิพลและเข้ายึดครองปาเลสไตน์อย่างเบ็ดเสร็จของอิสราเอลมีอันต้องชะงักไป เพราะเกิดเพลิงไหม้อย่างรุนแรงเกือบทั่วประเทศ นิคมเถื่อนที่สร้างในดินแดนยึดครองก็ถูกไฟไหม้วอดวายไปหลายแห่ง นอกจากนี้ไฟยังลามไปถึงเมืองสำคัญอย่างไฮฟา และเทลอาวีฟอีกด้วย ทำให้อิสราเอลอาจต้องรีบก่อสงครามเพราะกลัวถูกโจมตี

            ส่วนด้านการเมืองระหว่างประเทศในช่วงที่สหรัฐฯเปลี่ยนผ่าน ถ้าสหรัฐฯเปลี่ยนนโยบายระหว่างประเทศตามแนวคิดของว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ สหรัฐฯก็จะถอนตัวจากภูมิภาคนี้ แต่ผู้เขียนไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ เพราะนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯถูกกำกับโดย COUNCIL OF FOREIGN RELATION (CFR) ที่มีอิทธิพลสูง ภายใต้การควบคุมของไซออนิสต์และอิลูมินาติ มีบทบาทในวงการเมือง วงการเงิน และวงการสื่อ ดังจะเห็นได้ว่าทรัมป์ประกาศสนับสนุนอิสราเอลเต็มที่ และโอบามาทุ่มเงินช่วยเหลืออิสราเอลหลายแสนล้านดอลลาร์

            ในทางกลับกันรัสเซียพยายามขยายอิทธิพลให้เพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้ โดยกระชับความสัมพันธ์กับอิหร่าน และพยายามเอาใจตุรกีเพื่อให้หันมาจับมือใกล้ชิดกับตน ซึ่งนอกจากจะทำให้รัสเซียมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นในภูมิภาคแล้ว ยังสามารถทำให้ตุรกีเป็นสปริงบอร์ดที่จะสร้างอิทธิพลมากขึ้นในคาบสมุทรบอลข่าน อันเป็นการกระชับวงบีบยูเครน และโดยนัยคือการรุกคืบเพื่อต้านทานอิทธิพลของนาโต้ที่มีสหรัฐฯเป็นหัวเรือใหญ่

            5.ยูเครนจะกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งที่สำคัญระหว่างนาโต้และรัสเซีย ทั้งในเรื่องที่ตั้งทางยุทธศาสตร์และผลประโยชน์ เพราะสหรัฐฯเริ่มขยับให้บริษัทเวสติงเฮาส์เข้าไปฟื้นฟูโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเชอร์โนบิลของยูเครน ซึ่งเคยเป็นโครงการที่เกิดปัญหามาแล้วในสมัยที่ยูเครนยังอยู่ในสหภาพโซเวียด แต่ที่สำคัญสหรัฐฯต้องการจะใช้เชอร์โนบิลเป็นที่ฝังเก็บกากปฏิกรณ์และสารกัมมันตภาพ โดยจะมีฝรั่งเศสช่วยสนับสนุน เพราะทั้ง 2 ประเทศมีกฎหมายห้ามการเก็บกากปฏิกรณ์ สารกัมมันภาพในประเทศ

            6.สถานการณ์ด้านเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังคงคุกรุ่น โดยแบ่งเป็นกรณีดังต่อไปนี้

            6.1 เกาหลีเหนือยังคงขยายการพัฒนาจรวดวิถีไกลข้ามทวีปต่อไป แม้จะประสบความสำเร็จในการพัฒนาจรวดพิสัยกลางได้สำเร็จแล้ว ประกอบกับเกาหลีเหนือมีระเบิดนิวเคลียร์อยู่ในมือ จึงมีลักษณะที่เรียกว่า “คนป่ามีปืน” ทำให้เกาหลีใต้และญี่ปุ่นวิตกอย่างมาก ส่วนประเทศอื่นๆที่อยู่ในวิถีทำการของจรวดก็คงหนาวๆร้อนๆไม่มากก็น้อย ทำให้ญี่ปุ่นกับเกาหลีต้องกระชับความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางทหารกันโดยตรงแทนการผ่านสหรัฐฯ โดยทำให้จีนไม่พอใจอย่างมาก

            6.2 ไต้หวันสั่งซื้ออาวุธเพิ่มในจำนวนนั้นได้สั่งยานเกราะจากสิงคโปร์ซึ่งมีเมกาอยู่เบื้องหลัง แต่จีนได้ส่งสัญญาณให้ฮ่องกงทำการยึดอายัติ พร้อมทั้งขู่ประเทศใดๆที่จะมีความร่วมมือทางทหารกับไต้หวันว่าเท่ากับเป็นการคุกคามจีนโดยตรง

            6.3 ฟิลิปปินส์ยังมีท่าทีปรวนแปรผ่านประธานาธิบดีดูแตร์เตโดยการแสดงออกที่แข็งกร้าวต่อสหรัฐฯ และมีวาทกรรมว่าจะเปิดสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน และรัสเซีย แต่ผู้สันทัดกรณีบางท่านกล่าวว่าฟิลิปินส์อาจต้องการเรียกราคา เพื่อให้สหรัฐฯเพิ่มเงินช่วยเหลือตนเพิ่มอีก เพราะล่าสุดสหรัฐฯได้ให้เงินกว่า 80% ของเงินช่วยเหลือทั้งหมดในภูมิภาคนี้แก่ฟิลิปินส์ไปแล้ว

            6.4 อินเดียกับปากีสถาน 2 มหาอำนาจนิวเคลียร์มีความสัมพันธ์ที่เลวร้ายลงไปเรื่อยๆและเกิดการกระทบกระทั่งตามแนวชายแดนบ่อยๆ โดยจีนหนุนหลังปากีสถานและสหรัฐนหนุนหลังอินเดีย

            6.5 จีนยังคงเดินหน้าพัฒนาฐานทัพของตนในหมู่เกาะสแปรตลี โดยไม่สนใจการคัดค้านของสหรัฐฯและประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น ญี่ปุ่นกับฟิลิปปินส์ นอกจากนี้จีนยังกระชับความร่วมมือกับรัสเซียทั้งด้านการค้า การทูต การทหาร ด้วยการเดินทางที่สอดรับกัน เช่น เรื่องพลังงานหรือการเข้ามามีบทบาทใน APEC มากขึ้น ตลอดจนการสร้างเส้นทางสายไหมขึ้นมาใหม่

            สำหรับประเทศไทยนั้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องปกติที่รัฐบาลจะพยายามเผยแพร่ข่าวแต่สิ่งที่ดูดี แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น อาทิ การโหมประโคมว่าเศรษฐกิจของเรามีสภาพที่ดี และมีอนาคตที่สดใส แต่เอาเข้าจริงตอนนี้รัฐบาลต้องทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อกระต้นเศรษฐกิจ จนทำให้หนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้นเป็น 45.5 % ของ GDP ในปี 2560 ในขณะที่ผ่านมาหนี้สาธารณะคิดเป็นจำนวนเงิน 5.98 ล้านล้านบาทในปี 59 หรือ 42.7% ของ GDP จนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกมาเตือน

            ส่วนเรื่องการเมืองภายในประเทศนั้นในช่วงเปลี่ยนผ่านรัชกาลนับว่ามีความละเอียดอ่อนมาก จนต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ อย่างนี้ก็เข้าใจได้ว่ารัฐบาลคงพูดอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุใดๆขึ้นมันก็ต้องกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างแน่นอน

            ประการสุดท้ายประเทศไทย ในเวทีโลกยังไม่มีบทบาทที่โดดเด่นใดๆเลย ในขณะที่ความขัดยังระหว่าง 2 ขั้วอำนาจกำลังตึงเครียดไปเรื่อยๆ ไทยก็ยังไม่มีความชัดเจนไม่ว่าจะเลือกข้างใด หรือประกาศตัวเป็นกลางและดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายระหว่างประเทศ ความไม่ชัดเจนนี้จะเป็นอันตรายต่อประเทศหากความขัดแย้งระหว่าง 2 ขั้วอำนาจทวีความรุนแรงกว่านี้