The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   เปิดประเด็น : ทำไม 6 ชาติอาหรับ ประกาศตัดสัมพันธ์กาตาร์ ?

เปิดประเด็น : ทำไม 6 ชาติอาหรับ ประกาศตัดสัมพันธ์กาตาร์ ?

ศ. ดร. วิศรุต เลาะวิถี

ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการอิสลามและอาหรับศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต

                   สำนักข่าวอะลามี่ : ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน และอียิปต์ ดำเนินมาถึงจุดต่ำสุด หลังจากทั้งสี่ประเทศตัดสินใจตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ ชาติเพื่อนบ้านเหล่านี้ ยังสร้างแรงกดดันให้กับรัฐบาลกาตาร์เพิ่มด้วยการปิดพรมแดนที่อยู่ติดกัน

               ขณะที่อียิปต์ สั่งปิดน่านฟ้าและท่าเรือที่เป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับกาตาร์ทุกทาง

               ในเวลาเดียวกันเยเมนและลิเบีย ก็ประกาศตัดสัมพันธ์กับกาตาร์ด้วย รวมเป็น 6 ชาติ ทำให้พลังงานพุ่ง โลกหวั่นกระทบส่งออกก๊าซ-น้ำมัน และด้านการบิน มีการปรับเส้นทางวุ่นวาย ทั้ง 6 ประเทศตะวันออกกลาง นำโดยซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ และบาห์เรน

               อามีร์ ราวาช ผู้สื่อข่าวบีบีซีรายงานว่า เหตุผลหลักที่อยู่เบื้องหลังวิกฤตทางการทูตครั้งนี้ ได้แก่

            1. กลุ่มภราดรภาพมุสลิม

            กาตาร์ถูกมองว่าเป็นฝ่ายหนุนหลังกลุ่มมุสลิมที่ได้รับผลประโยชน์ทางการเมืองจากบางประเทศ เช่น หลังจากนายโมฮัมเหม็ด มอร์ซี อดีตประธานาธิบดีอียิปต์ อดีตแกนนำกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ถูกขับออกจากตำแหน่งในปี 2013 กาตาร์ก็กลายเป็นเวทีของสมาชิกกลุ่มที่รัฐบาลอียิปต์ไม่ยอมรับ ขณะที่ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตราหน้ากลุ่มภราดรภาพมุสลิมว่าเป็นองค์กร "ก่อการร้าย"

             สำนักข่าวซาอุดี เพรส ของทางการซาอุฯ เผยแพร่แถลงการณ์ ซึ่งมีเนื้อความกล่าวหากาตาร์ว่า "ยอมรับกลุ่มก่อการร้ายและนิกายต่าง ๆ รวมทั้งกลุ่มภราดรภาพมุสลิม กลุ่มแดช (ไอซิส) และอัลกออิดะห์ ที่ต้องการทำลายความมั่นคงในภูมิภาค"

              อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีต่างประเทศกาตาร์ ระบุในแถลงการณ์ว่ามาตรการที่ซาอุฯ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบาห์เรนดำเนินการนั้น "ไม่สมเหตุสมผลและตั้งอยู่บนข้อกล่าวหาที่ปราศจากมูลความจริง " แถลงการณ์ยังย้ำด้วยว่า กาตาร์นั้น "ยึดมั่นในกฎบัตรของกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ และเดินหน้าต่อสู้กับแนวคิดสุดโต่งและการก่อการร้าย"

              2. ท่าทีต่ออิหร่าน

             วิกฤตรอบล่าสุดมีต้นตอจากรายงานที่อ้างว่า เป็นข้อคิดเห็นของชีค ทามิม บิน ฮาเหม็ด อัล-ทานี เจ้าผู้ปกครองกาตาร์ ที่ทรงวิจารณ์สหรัฐฯ ว่า "มุ่งร้าย" ต่ออิหร่าน แต่กาตาร์ระบุว่ากลุ่มแฮคเกอร์อยู่เบื้องหลังการนำเนื้อหาข้อคิดเห็นดังกล่าวมาเผยแพร่ทางสำนักข่าวของกาตาร์เอง

             ซาอุดีอาระเบียเป็นคู่ปรับสำคัญของอิหร่าน และไม่ต้องการให้อิหร่านก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในภูมิภาค ซาอุฯ ออกแถลงการณ์กล่าวหากาตาร์ว่า "สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มก่อการร้ายที่อิหร่านหนุนหลังในเมืองคาทิฟ ทางตะวันออกของซาอุฯ ซึ่งคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ กาตาร์ยังถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนกลุ่มกบฏฮูธีในเยเมน ข้อกล่าวหาทั้งหมดนี้ กาตาร์ปฏิเสธว่าไม่เคยแทรกแซงกิจการภายในของชาติใด

            3. ความขัดแย้งในเขตปกครองด้านตะวันออกของลิเบีย

นับตั้งแต่นายมูอัมมาร์ กัดดาฟี ถูกขับออกจากตำแหน่งและถูกสังหารเมื่อปี 2011 เขตปกครองด้านตะวันออกของลิเบียตกอยู่ในสภาพระส่ำระสาย พล.อ.คาลิฟา ฮัฟตาร์ ผู้บัญชาการกองทัพเขตปกครองด้านตะวันออกของลิเบีย ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากอียิปต์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กล่าวหากาตาร์ว่า " สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย" โดย พล.อ.ฮัฟตาร์ เป็นพันธมิตรกับฝ่ายรัฐบาลในเมืองโทบรุค ขณะที่กาตาร์ สนับสนุนฝ่ายต่อต้านในเมือง ทริโปลี”

     
     4. ถล่มด้วยสื่อ

            ซาอุดีอาระเบียระบุชัดในแถลงการณ์ที่ออกมาเมื่อวันที 5 มิถุนายน 2560 ว่า กาตาร์ใช้สื่อเป็นเครื่องมือปลุกระดม สื่อของกาตาร์เปิดพื้นที่เป็นเวทีให้กลุ่มภารดรภาพมุสลิม

              อย่างไรก็ดี กาตาร์เองแย้งว่ามีความพยายามยุยง โดยใช้ข้อกล่าวหาที่กุขึ้น กระทรวงต่างประเทศกาตาร์กล่าวในแถลงการณ์ว่า การรณรงค์ (ต่อต้านกาตาร์) ผ่านสื่อไม่สามารถเปลี่ยนแปลง ทัศนคติของสาธารณชนที่มีต่อภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาติในอ่าวเปอร์เซียได้ และนี่คือเหตุผลที่ยังคงมีการปลุกกระแสกันอยู่ต่อไป

             เราคงไม่ปฎิเสธว่า เรื่องนี้มีเงื่อนงำลึก ๆ มากพอสมควร ถือเป็นปรากฎการณ์หลุมดำที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศมุสลิมอย่างชัดเจน เรียกว่า “ หก รุม หนึ่ง”

            ผู้นำและผู้มีอำนาจทั้งหกประเทศ ล้วนเป็นผู้มีอิสลามในหัวใจเต็มเปี่ยม แต่กลับแสดงพฤติกรรม พฤติการณ์ที่ตรงกันข้ามกับหลักการอิสลาม ทั้งๆที่ขณะนี้อยู่ในช่วงของเดือนรอมฎอนอันประเสริฐ ที่จะต้องอยู่ในภาวะแห่งการสำรวมตนทุกรูปแบบ หมั่นเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพใดก็ตาม

            วันนี้ เดือนนี้ กลับมาตัดสัมพันธ์กัน เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะแสวงหาแบบอย่างของมุสลิมที่ดีได้ที่ไหน แม้อาหรับก็ยัง บ้าอำนาจ ยอมเป็นทาสรับใช้ประเทศมหาอำนาจบางประเทศ จนลืมหลักการศาสนา

              ขอพระผู้เป็นเจ้าได้โปรดเปิดหัวใจผู้นำประเทศอาหรับ และให้ทางนำแก่บุคคลเหล่านั้นด้วยเถิด อามีน

              “อาหรับมิใช่ “ต้นแบบ” ของมุสลิมที่ดีเสมอไป”

            “คนที่มิใช่อาหรับ อาจจะดีกว่าคนอาหรับก็ได้”

             จากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ทำให้เห็นกำพืดของชาวอาหรับอย่างชัดเจน ทั้ง ๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแผ่อิสลาม!!!!!