The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   จีน-สหรัฐ ตอบโต้มาตรการภาษี ชี้ปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกของไทย

จีน-สหรัฐ ตอบโต้มาตรการภาษี

ชี้ปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกของไทย

               สำนักข่าวอะลามี่ :  ธนาคารแห่งประเทศไทยเผยผลสำรวจภาพรวม และ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ประจำปี 2561 ปัจจัยเสี่ยงจากมาตรการตอบโต้การด้านภาษีของมหาอำนาจจีนและสหรัฐ และมีแนวโน้มบานปลาย ส่วนสถานการณ์ท่องเที่ยว แม้ว่าจีนจกยกเลิกการเดินทางเข้าไทย แต่คาดว่าเป็นสถานการณ์ในช่วงเวลาสั้นๆ


                ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยภาพรวมธุรกิจและแนวโน้มในระยะต่อไปเศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง โดยธุรกิจผลิตเพื่อการส่งออกขยายตัวดีในเกือบทุกอุตสาหกรรมและกระจายไปในทุกภูมิภาค ขณะที่ธุรกิจผลิตเพื่อตอบสนองอุปสงค์ในประเทศปรับดีขึ้นแต่ยังจำกัดอยู่ในสินค้าที่รองรับตลาดกลาง-บนสอดคล้องกับภาคการค้าที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องแต่พบว่ากำลังซื้อของครัวเรือนกลุ่มรายได้กลาง-ล่างยังไม่เข้มแข็งนัก

                สะท้อนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีในหมวดสินค้าคงทนและหมวดบริการซึ่งกำลังซื้อส่วนใหญ่มาจากกลุ่มผู้มีรายได้สูง ขณะที่ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคโดยรวมค่อนข้างทรงตัว สำหรับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีและกระจายตัวไปยังจังหวัดต่างๆ มากขึ้นจากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดเมืองรองของภาครัฐ รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นกลุ่มเที่ยวเองซึ่งนิยมท่องเที่ยวนอกเส้นทางหลักมากขึ้น

                อย่างไรก็ดี เหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ส่งผลลบมากนักท่องเที่ยวชาวจีน ทยอยยกเลิกการจองในพื้นที่ภาคใต้และตะวันออก แต่ผู้ประกอบการคาดว่าจะเป็นผลลบชั่วคราว และต้องอาศัยการสื่อสารเชิงบวกของภาครัฐและธุรกิจเอกชนเพื่อทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

                 ด้านการลงทุน ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเป็นสำคัญ และมีแผนลงทุนในระบบอัตโนมัติเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวดีในเขตกรุงเทพฯปริมณฑลและเมืองท่องเที่ยวหลักในต่างจังหวัด ขณะที่โครงการก่อสร้างภาครัฐขยายตัวได้ทั้งในโครงการขนาดใหญ่และขนาดเล็กแต่ยังคงเผชิญข้อจำกัดจากกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแบบใหม่ซึ่งส่งผลให้โครงการล่าช้าไปบ้าง โดยรวมกิจกรรมเศรษฐกิจดีขึ้นเป็นลำดับ ส่งผลให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าเพิ่มขึ้น

             อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์การตอบโต้ทางการค้าระหว่าง สหรัฐฯ และจีนในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ เห็นว่าผลกระทบในเบื้องต้นต่อคำสั่งซื้อล่วงหน้าและ การส่งออกยังไม่เกิดขึ้น และเห็นว่าการดำเนินการจริงจะต้องใช้เวลาอีกระยะ ธุรกิจส่วนใหญ่จึงติดตามและ เตรียมประเมินผลกระทบเช่นกัน

           ทั้งนี้ผู้ประกอบการบางรายคาดว่าน่าจะได้รับประโยชน์ใน การส่งออกสินค้าไปทดแทนสินค้าที่เป็นข้อพิพาท ระหว่างจีนและสหรัฐฯ เช่น ไก่แช่แข็ง และสินค้าประเภท อาหาร อีกทั้งบางรายประเมินว่าน่าจะได้รับผลดีผ่าน การนำเข้าสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบจากจีนที่มีราคาถูกลง เช่น อาหารทะเล เหล็ก และอลูมิเนียม

            ขณะที่ ผู้ประกอบการบางรายในกลุ่ม สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เห็นว่าอาจได้รับผลกระทบทางลบหากสินค้าจีนไหลทะลัก เข้าสู่ตลาดเอเชียมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการโดยรวมเห็น ว่ามาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ และการตอบโต้จากประเทศต่างๆ ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการส่งออกของ ไทยในระยะต่อไป

             ทั้งนี้นับตั้งแต่ทางการสหรัฐฯ ประกาศจะจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน1,333 รายการมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนเมษายน 2561 ขณะที่ทางการจีน ได้ตอบโต้โดยประกาศจะเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐในระดับมูลค่าเดียวกันนั้น

              ล่าสุดทั้งสองประเทศได้เริ่มจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าบางส่วนแล้วในต้นเดือนกรกฎาคม รวมถึงข้อพิพาททางการค้าได้กระจายไปสู่ประเทศหลักอื่นๆ อาทิ สหภาพยุโรป ซึ่งอาจจะมีการตอบโต้ทางการค้ากับสหรัฐฯ เช่นกัน