Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   “สหกรณ์อิสลามฯ

“สหกรณ์อิสลามฯ"พัฒนาซอฟแวย์ยกระดับการเงินอิสลาม

              สำนักข่าวอะลามี่:  ตั้งแต่วันที่ 11-12-13 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา ห้องประชุมนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.หาดใหญ่)คึกคัก และนับเป็นการเปิดศักราชใหม่ของวงการธุรกิจการเงินรูปแบบอิสลามของประเทศไทย เพราะตลอด3วันงานฮาลาลเอ็กโป “ โครงการมหกรรมธุรกิจ และการเงินฮาลาล สู่ประชาคมอาเซี่ยน 2013 ” ได้เปิดมิติระบบการเงินอิสลามสู่สายตาประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสะท้อนถึงความเข้มแข็งและการขยายตัวของระบบสหกรณ์อิสลาม




                ผศ.อับดุลรอชีด เจะมะ ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์อิสลามแห่งประเทศไทยเครือข่ายสหกรณ์อิสลามภาคใต้ กล่าวว่า เครือข่ายสหกรณ์อิสลามภาคใต้ ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2545 ด้วยความพยายามในการดำเนินงานของเครือข่ายฯ ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีสหกรณ์ 22 แห่ง มีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น กว่า 200, 000 คน และมีสินทรัพย์รวมกว่า 7,000,000,000 บาท (เจ็ดพันล้านบาท) ที่ดำเนินการสหกรณ์ในรูปแบบปลอดดอกเบี้ยครอบคลุมทั่วภาคใต้ รวมทั้งในกรุงเทพฯ  

               การดำเนินงานของสหกรณ์อิสลามจะทำหน้าที่เป็นสถาบันการเงินที่ปลอดดอกเบี้ย บริการรับฝากเงินค่าหุ้นของสมาชิกและรับฝากเงินออมทรัพย์ประเภทต่างๆ บริการให้สินเชื่อแก่สมาชิกและครอบครัวตามหลักศาสนาอิสลามและจัดระบบสวัสดิการในรูปแบบต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่สมาชิกและครอบครัว  ตลอดถึงการชำระเงินซะกาต (เงินบริจาคที่ศาสนาบังคับ)เพื่อเป็นสวัสดิการสังคม เป็นประจำในทุกๆ ปี เป็นจำนวนเงินหลายล้านบาท

               ไม่เพียงเท่านั้นเครือข่ายสหกรณ์ฯ ยังได้รวมตัวกันจัดตั้งชุมนุมสหกรณ์อิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งดำเนินการจดทะเบียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา ถือเป็นมิติใหม่ของการบริหารสหกรณ์อิสลามในฐานะเป็นนิติบุคคลและสามารถดำเนินการช่วยเหลือมวลสมาชิกของชุมนุมสหกรณ์ฯ มีสมาชิกจำนวน 7 สหกรณ์ ซึ่งในอนาคตจะได้ดำเนินการขยายกลุ่มสมาชิกให้เพิ่มมากขึ้น ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศไทย เพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจการเงินฮาลาลระดับรากหญ้า ให้มีความมั่นคง ก้าวหน้า และจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติต่อไป

                “มหกรรมธุรกิจ และการเงินฮาลาลสู่ประชาคมอาเซี่ยน 2013 จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือในภาคเครือข่ายสหกรณ์อิสลามระดับภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งยังเผยแพร่ธุรกิจการเงินฮาลาล ให้แก่สมาชิกสหกรณ์และประชาชนทั่วไป ได้รับรู้และเข้าใจ กระตุ้นและส่งเสริมธุรกิจและการเงินฮาลาลในประเทศ  โดยเฉพาะห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีความเจริญก้าวหน้า สามารถเข้าสู่การแข่งขันในตลาดอาเซียนได้ “ผช.ศ.อับดุลรอชีด   กล่าว


              ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู
ประธานกรรมการเครือข่ายสหกรณ์อิสลามภาคใต้ กล่าว อีกไม่นานก็จะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนทางเครือข่ายฯ จึงได้มีการเชิญชวนสหกรณ์ตามพื้นที่ต่างๆ ในเขตของประเทศอาเซียน ที่มีลักษณะการดำเนินการคล้ายกัน เป็นสหกรณ์ที่ปลอดดอกเบี้ย มาร่วมกันเป็นเครือข่ายสหกรณ์อิสลามของอาเซียน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพูดคุยกัน โดยมีศอ.บต.สนับสนุนให้เรามีการรวมกลุ่มเครือข่ายสหกรณ์อิสลามของอาเซียนและพัฒนาขึ้นให้มากที่สุด

              “งานนี้นับเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานของสหกรณ์ ความก้าวหน้า รูปแบบการดำเนินการของแต่ละสหกรณ์ จะได้ช่วยกันพัฒนาร่วมกัน ซึ่งในอนาคตเมื่อเข้าสู่ AEC เราจะไม่แข่งขันกัน จะช่วยเหลือ ร่วมมือกันพัฒนาสหกรณ์ต่อไป “

             ขณะที่ นายก่อซี  อุเซ่ง ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์อัลศิสดิก กล่าวถึง งานฮาลาลเอ็กโป ว่า งานนี้เราได้จัดขึ้นในเวลาที่ค่อนข้างสั้นมาก เริ่มต้นแค่มีความประสงค์ที่จะเปิดตัวของ บริษัท ไอคอร์บ (I-Corp) ของชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์อิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อให้รู้ว่าวันนี้เรามี ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์อิสลามแห่งประเทศไทย และมีบริษัทในเครือที่คอยบริการพี่น้องในเรื่องของโปรแกรมสำเร็จรูป ซึ่งเรามีความภาคภูมิใจที่เราสามารถดำเนินการให้เกิดโปรแกรมสำเร็จรูปของสหกรณ์ขึ้นมาเป็นโปรแกรม

             “ ปัจจุบันรัฐบาลมีโปรแกรมของสหกรณ์1โปรแกรม คือ โปรแกรมสำเร็จรูปที่เขาให้สหกรณ์ต่างๆใช้อยู่ในระบบดอกเบี้ย โดยทางสหกรณ์อิสลามไม่สามารถไปสนองตามความต้องการตรงนั้นได้ เราจึงทำซอฟต์แวร์ของเราขึ้นมาเอง โดยจ้างให้บริษัทหนึ่งรับผิดชอบเรื่องซอฟต์แวร์ จนกระทั่งในที่สุดเราสามารถที่จะผลักดันให้รัฐบาลรับซอฟต์แวร์ตัวนี้มาเป็นของรัฐ และแจกจ่ายให้กับประชาชน” ก่อซี กล่าวและง่า

             ในงานเราได้มีการพูดเรื่องของชาริอะฮ์อิสลาม หลักการชาริอะห์เศรษฐศาสตร์อิสลาม เรื่องของเครื่องมือการให้บริการต่างๆ โดยระบบของอิสลามสหกรณ์ โดยมีDR. Wan Sulaiman Bin Wan Yusoff Alfattani นับเป็นบุคลากรระดับชาติของประเทศมาเลเซีย ซึ่งท่านเป็นคนไทยไปอยู่ในประเทศมาเลเซีย โดยรัฐบาลกาตาร์ ได้ซื้อตัวและทางซาอุดิอาระเบีย ซื้อตัวไปอีก จนมาถึงปัจจุบันนี้ทางมาเลเซีย ได้ซื้อตัวกลับ โดยเป็นบุคคลที่มีความสำคัญในเรื่องของเศรษฐศาสตร์มาก

              “ วันนี้เราต้องยอมรับว่าสหกรณ์ทั้งระบบโดยเฉพาะเมืองไทย เราอ่อนแอทั้งระบบ และเมื่อหันมาดูประเภทสหกรณ์อิสลาม ยิ่งอ่อนเข้าไปอีก โดยปกติโครงสร้างใหญ่มันอ่อนอยู่แล้ว ปัญหาของเรานั้นคือขาดคนที่มีความรู้ความชำนาญที่จะมาอยู่ในสหกรณ์ “นายก่อซีกล่าวและว่า

                ปัจจุบันเรามีเงิน7พันล้าน เงินนี้ใน20ปีข้างหน้าอาจเหลือน้อย หากเราทำให้มันโตช้า ส่วนหนึ่งเพราะบุคลากรในสหกรณ์ไม่ได้มาจากสายการเงินและทางธุรกิจ แม้วันนี้เรามีธนาคารอิสลามฯ แต่จะหาผู้บริหารนักการเงินที่เป็นมุสลิมค่อนข้างยาก.