Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   ผ่าขบวนการค้ามนุษย์ “โรฮิงยา”หนีเสือปะจระเจ้

ผ่าขบวนการค้ามนุษย์ “โรฮิงยา”หนีเสือปะจระเจ้

จันทร์เสี้ยว บางนรา: รายงาน

               สำนักข่าวอะลามี่: ในอดีตพื้นที่ชายแดนไทยติดปับประเทศมาเลเซีย ได้รับการกล่าวขานถึงขบวนการค้ามนุษย์ ตั้งแต่ค้าหญิงสาวชาวไทย พม่า และจีนฮ่อส่งขายชายแดน บ้างก็ส่งไปขายบริการทางเพศในประเทศมาเลเซียหรือสิงคโปร์

               ในวงการค้ามนุษย์จะรู้จักกันในนาม” ขบวนการค้า”ลูกหมู” และขบวนการการค้า”ลูกแพะ”

              ขบวนการค้า”ลูกหมู” คือ ขบวนการค้ามนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับชาวจีน ส่วนขบวนการค้า”ลูกแพะ” คือ การค้ามนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับคน”มุสลิม”

              ไม่เพียงเท่านั้นสงขลา ยังขึ้นชื่อในเรื่องของ การค้าแรงงาน ด้วยการส่งแรงงานจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือไป ขายแรงงาน ยังประเทศมาเลเซีย และมีการหลอกลวง ลอยแพ คนงาน จนโด่งดังไปทั้งประเทศ อีกทั้งยังขึ้นชื่อในเรื่อง ”แรงงานทาส” คือการหลอกลวง และจับตัวแรงงาน ทั้งที่เป็นคนไทย และ พม่า ลาว เขมร ส่งขายให้กับเรือประมง เพื่อเป็นแรงงานทาส อีกด้วย

               การบุกช่วยเหลือชาวมุสลิมชาวโรฮิงยากว่า139 คน เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2556 ซึ่งมีทั้งชายและหญิงรวมถึงเด็ก บริเวณบ่อนไก่เก่าหลังวัดต้นแซะ ซอยเทศบาล 8 เขตเทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ เป็นการขยายผลมาจากการเข้าช่วยเหลือมุสลิมชาวโรฮิงยาสองกลุ่ม จำนวน 704 คน ที่ถูกนำมากักตัวไว้ในพื้นที่ ต.ปาดังเบซาร์ และ ต.สำนักขามอ.สะเดา จ.สงขลา เมื่อวันที่ 10 และ11 มกราคม ที่ผ่านมา

                จนถึงขณะนี้มีมุสลิมโรฮิงยาที่อยู่ในค่ายกักกันชั่วคราวกระจายทั้งหมด13 ศูนย์ ทั้งในสงขลา ปัตตานี นราธิวาส พังงา ตรัง กว่า1,200 คน

                ทั้งหมดพบว่าเป็นผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองเพื่อรอเดินทางไปยังประเทศที่สามและบางส่วนถูกทางการมาเลเซียผลักดันกลับเข้ามา โดยเจ้าหน้าที่จะทำการคัดแยก และสอบสวนว่าในจำนวนนี้มีการถูกล่อลวงจากการขบวนการค้ามนุษย์ด้วยหรือไม่ ก่อนที่จะผลักดันกลับภูมิลำเนาต่อไป 

              

   ข่าวการจับกุมชาวโรฮิงยาในครั้งนี้ได้กระตุ้นความเป็นมนุษยชนกับสังคมโดยภาพรวมและดูเหมือนจะกระตุ้นให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งหามาตรการช่วยเหลือมากกว่ากับจับกุมและผลักดันออกนอกประเทศ

                 ขณะเดียวกัน สำนักจุฬาราชมนตรี คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และ สำนักงานคณะกรรมการอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เรียกร้องไปยังรัฐบาลไทยขอให้คำนึงถึงมนุษยธรรมและช่วยบรรเทาความทุกข์เข็ญที่ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ประสบโดยอำนวยการให้พวกเขาสามารถลี้ภัยในประเทศไทยได้ตามความเหมาะสม ไม่ส่งตัวคนเหล่านี้กลับไปยังประเทศพม่าตราบใดที่สถานการณ์ยังไม่กลับคืนสู่ภาวะปกติ และอาจส่งตัวคนเหล่านี้ไปยังประเทศที่สามตามความสมัครใจของผู้ลี้ภัยเอง

               พร้อมกับได้เรียกร้องไปยัง ประเทศโลกมุสลิม และองค์กรระหว่างประเทศ หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ ที่ทำงาน ด้านสิทธิมนุษยชน ขอให้ประสานงานกับประเทศที่สาม เพื่อจัดหาที่ลี้ภัย พร้อมทั้งเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลพม่าให้ยอมรับความเป็นพลเมืองพม่าของชาวโรฮิงยาและปฏิบัติต่อชาวโรฮิงยาเฉกเช่นชาติพันธุ์อื่น

               นายอาซิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมาตรี กล่าวในโอกาสที่เดินทางไปเยี่ยมกลุ่มมุสลิมชาวโรฮิงยาที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา และ ด่านตรวจคนเข้าเมืองปาดังเบซาร์ กว่า 300 คน โดยกล่าวทั้งน้ำตาว่า  ไม่ต้องการให้มีการผลักดันชาวโรฮิงยา เหล่านี้กลับไปยังประเทศพม่า เพราะจะต้องประสบกับชะกรรมเหมือนเดิม โดยต้องการเรียกร้องให้มีการประสานงานไปยังประเทศที่สามที่ชาวโรฮิงยา กลุ่มนี้ต้องการไปพักพิงยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือชาวโรฮิยา กลุ่มนี้เช่นรับไปทำงาน หรือช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

                ด้าน พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่  เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมามีชาวโรฮิงยา เดินทางเข้ามาไม่ต่ำกว่า 4 แสนคน โดยใช้ไทยเป็นทางผ่านเพื่อเดินทางไปประเทศที่สาม จากปัญหาความรุนแรงในถิ่นฐานของตัวเอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งหาทางแก้ปัญหา เพราะแม้จะผลักดันกลับไปยังพม่าปัญหาก็จะไม่จบ

              แหล่งข่าวระบุว่า ขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงยาในจ.สงขลา มีการดำเนินมานานหลายปี แต่เพิ่งจะรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่ปี2553 เป็นต้นมาเนื่องจากมีชาวโรฮิงยา หรือ”อาระกัน” ที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ของประเทศพม่า หลบหนีการทารุณและความยากแค้นเข้าสู่ประเทศไทยเพื่อไปยังประเทศที่3 มากขึ้นเรื่อยๆ

             โดยเส้นทางหลบหนีจากประเทศพม่าเพื่อไปประเทศที่3 คือประเทศมาเลเซียนั้นจะต้องผ่านประเทศไทยและชายแดนที่มีการนำชาวโรฮิงญาออกไปสู่ประเทศที่3 คือชายแดนไทยด้าน อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งถ้าไม่ใช่ชายแดน ต.ปาดังเบซาร์ ก็ต้องเป็นชายแดน ต.สำนักขาม ในขณะที่บางส่วนอาจจะหลบหนีออกไปทางชายแดน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และชายแดนด้านอื่นๆบ้าง แต่ไม่มากเท่าชายแดนด้าน อ.สะเดา

              ขบวนการค้ามนุษย์ ชาวโรฮิงยาเริ่มต้นจากการ“รับจ้าง”นำชาวโรฮิงญาจากประเทศพม่าเข้ามาประเทศไทยจาก จ.ระนอง ปัจจุบันมีบางส่วนที่เข้ามาทางจ.สตูล ด้านชายทะเล อ.ละงู และอื่นๆ โดยคิดค้าจ้างตั้งแต่หัวละ 20,000  - 50,000 บาท แล้วแต่ข้อตกลง

             แต่ปัจจุบันขบวนการรับจ้างนำชาวโรฮิงยาไปยังประเทศที่ 3 มีความคิดที่”แยบยล” มากขึ้น นั่นก็คือ การ ”เข้าฮอส ” เพื่อกินสองต่อ โดยรับเงินค่าจ้างในการนำชาวโรฮิงยาหลบหนีจากประเทศพม่าแล้ว ยังทำการกักขังควบคุมตัวชาวโรฮิงยาเอาไว้ในสถานที่แนวชายแดนเพื่อขายชาวโรฮิงยาให้กับผู้ต้องการแรงงานในประเทศเพื่อนบ้านในราคาตั้งแต่หัวละ 30,000 – 50,000 บาท ใช้เป็นแรงงานราคาถูกนายทุนจะถกดขี่ได้ตามชอบใจเพราะไม่กล้าหลบหนี        

             เหล่านี้คือกลุ่มคนผู้ที่อยู่ในสภาพของการ ”หนีเสือปะจระเข้”

             ด้าน นายมอง จอ นุ ประธานสมาคมโรฮิงยาแห่งประเทศไทย (Maung kyaw nu) Burmese Rohingya Association in Thailand (B.R.A.T.) ได้ยืนหนังสือถึงจุฬาราชมนตรี โดยเรียกร้อง 5 ข้อ คือ 1. อย่าส่งชาวโรฮิงยาที่ถูกจับกลับประเทศพม่า 2. ให้จัดสถานที่สำหรับดูแลชาวโรฮิงยารวมไว้ในที่เดียวกันเพื่อความเป็นอิสระและสะดวกต่อการประกอบศาสนกิจ อย่าควบคุมไว้ในห้องขัง 3. ให้รัฐบาลไทยประสานองค์การสหประชาชาติหรือUN ให้รับรองชาวโรฮิงยาให้อยู่ในข่ายของผู้ลี้ภัยอย่างถูกต้องตามกฏหมาย เพื่อให้อยู่ในประเทศไทยได้ก่อนที่จะถูกผลักดันไปยังประเทศที่สาม 4. ให้อาเซียนและนานาประเทศกดดันพม่าให้ปฏิรูปการเมืองและปฏิบัติต่อชาวโรฮิงยาด้วยมนุษยธรรม และ 5. หากพม่าไม่ยอมรับข้อเสนอให้จัดกองกำลังนานาชาติเข้าไปคุ้มครองดูแลชาวพม่าในพม่าเพื่อความปลอดภัย

            ทั้งหมดคือเสี้ยวหนึ่งของการทารุณกรรมทางสิทธิมนุษยชน ที่กลุ่มมุสลิมชาวโรฮิงยา จากรัฐยะไข่ ของพม่ากำลังเผชิญ ที่สำคัญสหประชาชาติและอาเซียน ต้องกดดันพม่า ให้ยอมรับพวกเขาเหล่านี้ และปฎิบัติกับเขาอย่างยุติธรรม บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน ที่พึงมีพึ่งได้ต่อไป..

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนมกราคม 2555