Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   ศอ.บต.ระดมความเห็นก่อนพบปะบีอาร์เอ็น 28 มี.ค.นี้

ศอ.บต.ระดมความเห็นก่อนพบปะบีอาร์เอ็น 28 มี.ค.นี้

                สำนักข่าวอะลามี : ศอ.บต.ระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วนก่อนการพูดคุยกับกลุ่มผู้มีความคิดต่างในวันที่ 28 มีนาคม 2556 นี้ ที่ประเทศมาเลเซีย

              วันนี้(อาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2556) เวลา 13.00 น. ณ ลานอเนกประสงค์ พลโท ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ร่วมกับ พันตำรวจเอกทวี  สอดส่อง  เลขาธิการ  ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมด้วยอธิการบดี 5 มหาวิทยาลัย ในพื้นที่ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นักวิชาการสันติวิธี และตัวแทนภาคประชาสังคม ตัวแทนนักศึกษา ผู้นำศาสนา นักวิชาการด้านสันติวิธี สื่อมวลชน ประมาณ 60 คน ได้ประชุมหารือเกี่ยวกับบทบาทมหาวิทยาลัย นักวิชาการ นักศึกษา และองค์กรต่างๆ ในการช่วยกันสร้างความเข้าใจ เพื่อร่วมกันสนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้

             โดยสรุปสาระสำคัญ คือ ประชาชนทั้งประเทศเป็นพลังที่สำคัญในการสร้างสันติภาพ ทุกกลุ่มทุกฝ่ายต้องมีความเชื่อว่า วิถีทางสู่สันติสุขมีทางเดียว คือ การพูดคุยโดยเอาประโยชน์สุขของประชาชนเป็นตัวตั้ง ทุกฝ่ายทั้งคนในพื้นที่คนในสังคมไทย เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ต้องไว้วางใจว่า คนไปพูดคุยไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และก่อนวันที่ 28 มีนาคม 2556  

            ทั้งนี้ สื่อมวลชน สถาบันอุดมศึกษา นักศึกษา ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น ต้องร่วมกันแสดงพลังสนับสนุนแนวคิดว่าหนทางสู่สันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีหนทางเดียวคือการพูดคุยต้องร่วมกันสร้างพลังบวกให้กับการพูดคุย สนับสนุนการพูดคุยเพื่อสันติภาพสร้างความมั่นใจให้กับทั้ง 2 ฝ่ายที่พูดคุยกัน และทำให้การเปิดพื้นที่เสรีในพื้นที่ให้ประชาชนได้มีโอกาสพูดคุยได้อย่างเสรี โดยไม่ผิด มีพื้นที่ปลอดภัย ไม่มีข้อจำกัดทางกฎหมายในพื้นที่ โดยเฉพาะในระดับชุมชน หมู่บ้าน มหาวิทยาลัย เพื่อให้กระบวนการสันติภาพเดินไปอย่างยั่งยืน รวมทั้งทุกฝ่ายต้องทำการสื่อสารพูดคุยกัน ให้การสื่อสารเป็นการสร้างสันติภาพเชิงบวกในระดับหมู่บ้าน ตำบล โดยผู้นำศาสนา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปัญญาชน การเอาวิถีชีวิตปกติของประชาชนกลับคืนมา โดยการลดการใช้ความรุนแรง ลดการใช้กฎหมายพิเศษ