Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   เซ็นทรัลทุ่ม5พันล้านเปิดห้างหาดใหญ่เจาะตลาดมุสลิมใต้

“เซ็นทรัล”สยายปีกบุกอาเซียน

++  ทุ่ม5พันล้านเปิดห้างหาดใหญ่เจาะตลาดมุสลิม

โดย :  เอกราช มูเก็ม

               สำนักข่าวอะลามี่ :   กว่า 3 ทศวรรษของเซ็นทรัล ในฐานะศูนย์การค้าของคนไทย ได้ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านมรสุม จนสู่ความสำเร็จในวันนี้  

             “ นริศ เชยกลิ่น”  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี และ สายงานบริหารทรัพย์สิน บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ให้สัมภาษณ์กับ นิตยสาร ดิ อะลามี่ ถึง แผนการขยายตัว การบริหารศูนย์การค้าและกลยุทธ์ ที่จะผลักดัน CPN ไปสู่อนาคต


อะลามี่
: มองธุรกิจศูนย์การค้าฯทุกวันนี้อย่างไรบ้าง

           นริศ : ธุรกิจศูนย์การค้าในบ้านเราถือว่ามีการเจริญเติบโตสูงสุดตลอดระยะในรอบหลายปีที่ผ่านมาขยายตัวทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง แนวราบก็มีการขยายตัวออกไปยังหัวเมืองและต่างจังหวัดมากขึ้นแนวดิ่งจะขยายตัวไปยังตลาดบนซิตี้มอลล์  ขยายตัวไปยังคอมมูนิตี้มอลล์ มีคอมเม้นท์เจาะกลุ่มลูกค้าตลาดล่าง

            นอกจากนี้ยังมีศูนย์การค้าที่เป็นเฉพาะทางเช่น ไอที ซิตี้  หรือร้านอาหารอย่างเดียว เช่น คริสตัลดีไซด์ เป็นเรื่องร้านอาหารอย่างเดียว บวกกับเฟอร์นิเจอร์อย่างเดียว  

          “ การขยายตัวในตอนนี้ถือว่าสูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา ไม่ต่ำกว่า 20% โดยเฉพาะของเราเองในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่า15% ต่อปี”

           สำหรับเซ็นทรัล ยังเน้นอยู่ที่ “คอนเวนต์ เฟอร์ชาแนล ฟอแมต” ของศูนย์การค้า สินค้าของเราก็จะมีตั้งแต่กลางถึงขนาดใหญ่ เป็นกลุ่มลูกค้าตั้งแต่ระดับกลางจนถึงระดับบน ซึ่งปัจจุบันเรายังไม่มีศูนย์การค้าที่เป็นตลาดล่าง หรือ คอมมูนิตี้มอลล์ เราเป็นศูนย์การค้าแบบปิดมีแอร์ ONE STOP SHOPPING คือมาที่เดียวแล้วได้หมด..นี่คือ จุดขายของห้างเซ็นทรัล ที่ชัดเจนในทุกวันนี้

อะลามี่: มีแผนจะแตกไลน์ธุรกิจเป็นแบบอื่นไหม

               นริศ : เราเองก็ศึกษาในรูปแบบอื่นๆ แต่ยังบอกไม่ได้ ว่านานแค่ไหน เพราะตลาดเริ่มอิ่มตัวในบางด้าน ในบางพื้นที่ มีศูนย์การค้าแบบนี้เยอะแล้ว หากจะเปิดแบบเดิมอีกก็ไม่มีความแตกต่าง จึงมองหารูปแบบศูนย์การค้าแปลกๆ เฉพาะเรื่อง เป็นศูนย์การค้าที่ไม่เหมือนใคร ปัจจุบันเรามีศูนย์การค้า ห้างเซ็นทรัลพลาซ่า เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลเฟสติวัล ทั้งหมด 20 แห่งในกรุงเทพ 10 แห่ง อยู่ในต่างจังหวัดอีก10 แห่ง

อะลามี่: มองโอกาสการขยายตัวและการแข่งขันธุรกิจศูนย์การค้าอย่างไร

            นริศ : ศูนย์การค้าในบ้านเราการแข่งขันไม่สูงจนเกินไป ตลาดห้างสรรพสินค้าในรอบ 3-4 ปีถือว่าบ้านเราเติบโตเร็วมาก โดยเฉพาะในหัวเมือง ห้างเซ็นทรัล เปิดตลาดไปเยอะแล้ว จากนี้ไปก็จะขยายตัวน้อยลง

            “ คาดว่าตลาดศูนย์การค้าในเมืองไทย น่าจะมีโอกาสไปได้อีกสัก 2-3 ปี ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการขยายเมืองและการขยายระบบขนส่งรถมวลชน จะทำให้เกิดทำเลใหม่ๆมากขึ้น “

อะลามี่: หัวเมืองการท่องเที่ยว/เมืองชายแดน เซ็นทรัล วางยุทธศาสตร์การลงทุนอย่างไร

            นริศ : หัวเมืองชายแดน ที่มีการเดินทางเข้าออกของคน แน่นอนที่สุดจะมีการเคลื่อนย้ายของรายได้ มีการเคลื่อนย้ายของนักท่องเที่ยวเยอะ ลักษณะแบบนี้เหมาะกับการมีศูนย์การค้า โดยเฉพาะที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ปัจจุบันยังไม่มีศูนย์การค้าที่มาตรฐาน คิดว่าน่าจะเหมาะสมที่เราจะไปเปิดศูนย์การค้าที่นั่น

            “เราตั้งใจสร้างมานานแล้ว แต่หาที่ดินไม่ได้ เพราะราคาที่ดินสูงมาก สำหรับศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่ เราเริ่มก่อสร้างไปแล้ว 3-4 เดือน หรือประมาณ 20-30 %  ซึ่งใช้เวลาในการก่อสร้าง 18 เดือน วงเงินการลงทุนกว่า 5 พันล้านบาท บนเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ นับเป็นศูนย์ศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุด ณ วันนี้

           นริศ บอกว่า หาดใหญ่ เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง มีเศรษฐกิจที่ใหญ่มาก มีจังหวัดใกล้เคียงที่สามารถเดินทางมาได้ง่าย ลักษณะของทำเลที่ตั้งแบบนี้เราชอบ เพราะสามารถเดินทางมาได้สะดวก เหมือนที่เราไปตั้งศูนย์การค้าที่ขอนแก่น พิษณุโลก เป็นจังหวัดที่อาจจะไม่ใหญ่ แต่จะมีเมืองซึ่งมีพื้นที่รอบๆเป็นบริวาร สามารถเพิ่มจำนวนของลูกค้าได้

อะลามี่: ภาคใต้มีมุสลิมจำนวนมาก มองตลาดกลุ่มนี้อย่างไร

              นริศ : ในส่วนของภาคใต้ ที่มีลูกค้าเป็นชาวมุสลิมจำนวนมาก ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี เราเชื่อว่าจะสามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ ของคนในพื้นที่ 5 จังหวัดและภาคใต้ได้ดี

             “เราเน้นการให้บริการด้านนี้มานาน ที่ ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เราจัดห้องสำหรับทำละหมาด และทุกห้าง เราได้จัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องชาวมุสลิม ที่จะเข้ามาใช้บริการที่ศูนย์การค้า สามารถทำละหมาดได้ตามเวลาที่ท่านต้องการ

             เฉพาะที่ ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ มีกลุ่มลูกค้าตะวันออกกลางจำนวนมาก ลูกค้ากลุ่มนี้มีกำลังซื้อ มีอำนาจในการซื้อมาก เราพยายามอำนวยความสะดวก รวมถึงการใช้เครื่องหมายเช่น อาหารฮาลาล ปัจจุบันนักท่องเที่ยวเหล่านี้ส่วนใหญ่มาเมืองไทยเพื่อมาคลีนิคสุขภาพ เราก็ประสานงานกับโรงพยาบาล โดยแลกเปลี่ยนลูกค้ากันได้

อะลามี่: การเข้ามาของAECกระทบธุรกิจศูนย์การค้าในไทยหรือไม่อย่างไร

          นริศ: ถ้าดูในภาพรวมของอุตสาหกรรม คิดว่าเรายังมีความได้เปรียบ เมื่อเทียบกับกับประเทศที่อยู่รอบๆ เนื่องจากเรามีการพัฒนามาระดับหนึ่งแล้ว การเปิดเวทีประชาคมอาเซียน ในฐานะเป็นผู้มีประสบการณ์มาก่อน สามารถที่จะเข้าไปแทรกตลาดได้ง่ายกว่า ประกอบกับแบรนด์ของบ้านเรา ได้รับการยอมรับในหลายประเทศอยู่แล้ว

อะลามี่: วางแผนจะเจาะตลาดต่างประเทศอย่างไร

            นริศ : เรามองตลาดต่างประเทศมา 3-4 ปีแล้ว เราได้เริ่มไปดูตลาดในเมืองจีน มาบ้าง เกือบจะได้ทำศูนย์การค้า แต่เนื่องจากได้มีการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มที่เป็นคู่ค้าของเรา จึงไม่สามารถตกลงเจรจาได้ ขณะเดียวกันในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาเมืองจีน เริ่มมีการชะลอตัวเรื่องของการขยายตัวของเศรษฐกิจ

            อย่างไรก็ตามเรากลับมามองในภูมิภาคใกล้ตัวมากกว่า โดยเฉพาะในประเทศกลุ่ม AEC เรากำลังมองไปที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศต้นๆรวมถึงประเทศพม่าด้วย

             “ การที่เรากลับมามองที่ประเทศในภูมิภาค AEC เราคิดว่าแบรนด์ของเรา และแบรนด์คนไทย ค่อนข้างที่จะเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว การที่เราจะไปเปิดประเทศเหล่านี้ น่าจะเป็นไปได้มากขึ้น “

อะลามี่: แผนระยะอันใกล้ในการุกตลาดอาเซียน 

           นริศ :  ในเบื้องต้นเราวางแผนว่า ในปี 2015 หรือ ในอีก 3 ปีข้างหน้า เราคาดว่าจะไปลงทุนสัก 1-2 แห่งก่อน เราต้องการที่จะมีแบบฝึกหัด อยากจะทำการบ้านให้ดีก่อน ไม่อยากจะผลีผลามเข้าไปเต็มตัว อยากจะดูว่ารูปแบบที่เราทำ และการวางตำแหน่งของเรา ไลฟ์สไตล์ ที่เราดำเนินการมันใช้ได้ไหม ถ้าใช้ได้ ก็แสดงว่า มันก็ไม่ยาก

อะลามี่: เซ็นทรัลได้มีการปรับตัวทางธุรกิจอย่างไรบ้าง

             นริศ : เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เรามีการปรับปรุงองค์กร ปรับปรุงระบบงาน เพื่อลดไขมันในการทำงาน อาทิเช่น จัดระบบการจอดรถ จะเห็นว่าเรามีระบบการจอดรถที่ทันสมัย ลูกค้าสามารถที่จะรู้ได้ว่า ชั้นไหนว่าง นอกจากนี้เรามีระบบความปลอดภัยเช่น มีระบบ CCTV มากขึ้น ส่วนเรื่องของหลังบ้าน เราพัฒนาระบบการเงิน ระบบบัญชี  เรากำลังจะใช้ระบบใหม่คาดว่าจะเริ่มใช้ต้นเดือนเมษายน 56 นี้ โดยนำซอฟต์แวร์ ที่ดีที่สุดในระดับโลก มาใช้

อะลามี่: ในต่างประเทศ เซ็นทรัล มีการลงทุนที่ไหนบ้าง

            นริศ : ถ้าเป็นไปตามแผน ภายในไตรมาสแรกปีนี้ คาดว่าจะสามารถเปิดได้อีก1แห่ง แต่ยังไม่เปิดเผยเพราะอยู่ระหว่างการตกลงเจรจา ในส่วนของเซ็นทรัลพัฒนา ยังไม่มีในต่างประเทศ แต่ในส่วนของห้างเซ็นทรัล เราไปลงทุนแล้ว 4 แห่ง ที่เมืองจีน ใช้ชื่อ ห้างเซ็นทรัล นอกจากนี้ในอินโดนีเซีย เสร็จแล้ว1แห่ง แต่อยู่ในศูนย์การร่วมกับห้างอื่น

            นอกจากนี้ยังไปชื้อกิจการในประเทศ อิตาลี โดยใช้ชื่อห้างเดิมคือ “ ห้างเลอดาซ็องเต้” ในเมืองมิลาน และยังมีอีก 5-6 แห่ง ที่ไปซื้อกิจการแบบ 100 %  ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าอยู่แล้ว โดยใช้ทีมบริหารทีมเดิม 

           “ ในระยะอันใกล้ เราจะเข้าไปลงทุนในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะใน พม่า สิงคโปร์ มาเลเซีย ซึ่งเค้ารู้จักแบรนด์ของเราดีอยู่แล้ว ทำให้เราไม่ต้องไปปั้นแบรนด์ ขึ้นมาใหม่ ” นริศ กล่าว.

++++

 เปิด 3 โครงการใหญ่ปี 56

            - ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่

             ที่ตั้ง : บริเวณสี่แยกถนนกาญจนวาณิช  เทศบาลเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 

             ขนาดโครงการ : ที่ดินประมาณ 50 ไร่ โดยมีพื้นที่โครงการรวมทั้งสิ้น 250,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล และร้านค้าชั้นนำกว่า 250 ร้านค้าพื้นที่จอดรถรองรับกว่า 1,500 คัน

            เปิดให้บริการ : ตุลาคม 2556

            เงินลงทุน : ประมาณ 6,000 ล้านบาท

          - ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟรสติวัล เชียงใหม่

            ที่ตั้ง : บริเวณสี่แยกถนนซูเปอร์ไฮเวย์ตัดกับถนนเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด ตำบลฟ้าฮ่าม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

            ขนาดโครงการ : ที่ดินรวมประมาณ 70 ไร่ พื้นที่โครงการรวมทั้งสิ้น 250,000 ตารางเมตร ซึ่งประกอบด้วยห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล และร้านค้าชั้นนำกว่า 250 ร้านค้า พื้นที่จอดรถรองรับกว่า 2,000 คัน

           เปิดให้บริการ : คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการได้ในปี 2556

           เงินลงทุน : ประมาณ 5,000 ล้านบาท

          - ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟรสติวัล อุบลราชธานี

           ที่ตั้ง: ถนนเลี่ยงเมือง ต.แจระแม อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี (ติดถนนเลี่ยงเมืองและถนนสรรพสิทธิ์

           พื้นที่โครงการ : ที่ดินรวมประมาณ 70 ไร่ โดยมีพื้นที่โครงการรวมทั้งสิ้น 140,000 ตารางเมตร มีพื้นที่จอดรถรองรับกว่า 1,500 คัน

           กำหนดเปิด : เมษายน 2556

            เงินลงทุน  : ประมาณ 2,750 ล้านบาท


หมายเหตุ :ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนมกราคม 2556