Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   พรรคการเมืองมุสลิม การเมืองบนความท้าทาย

พรรคการเมืองมุสลิม การเมืองบนความท้าทาย

โดย : จันทร์เสี้ยว บางนรา

               สำนักข่าวอะลามี่:  ในห้วงเวลาที่เหลืออีก 2 ปี ก่อนจะครบวาระของรัฐบาลชุดนี้มีกลุ่มมวลชนกลุ่มหนึ่งกำลังขับเคลื่อนเพื่อตั้งพรรคการเมืองขนาดเล็ก หวังจะมีพรรคการเมืองมุสลิม มี ส.ส.ในสภา และ มีรัฐมนตรี ที่เป็นมุสลิม หลังวิเคราะห์ตรงกันว่า พรรคการเมืองใหญ่ในอดีต ทั้ง ปชป.และเพื่อไทย ไม่ให้ความสำคัญและไม่เคยจริงใจกับมุสลิม


              ล่าสุดสถาบันส่งเริมจริยธรรมการเมืองการปกครอง(สจม.)ได้จัดเสวนา เรื่อง”มุสลิมกับการเมืองไทย “จะทำกันอย่างไร” ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ ย่านรามคำแหง เพื่อระดมความเห็นการเคลื่อนไหวเพื่อัดตั้งพรรคการเมืองแนวมุสลิม โดยมีแกนนำจากหลายภาคส่วนร่วมเสวนา

                อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ อดีต ส.ส.จากกลุ่มวาดะห์  กล่าวว่า การเริ่มต้นของกลุ่มวาดะห์ ตั้งแต่แต่2531 เกิดขึ้นจากการแยกตัวออกจากพรรประชาธิปัตย์ ที่ทางกลุ่มเล็งเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่จริงใจกับส.ส.กลุ่มมุสลิม  ก่อนที่กลุ่มวาดะห์จะมีบทบาทางการเมืองอย่างมากในยุคที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

               “เรื่องผ้าครุมฮิญาบในอดีตต้องประท้วงกันนานนับเดือน แต่ก้ไม่สามารถเรียกร้องให้ผู้หญิงมุสลิมครุมผ้าคุรมหัวในสถาบันการศึกษาได้ แต่เมื่อผมมาเป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงศึกษา ผมใช้เวบา7วันในการแก้ปัญหาและลงนามเรื่องนี้ในที่สุด ผู้หญิงมุสลิมก็สามารถครุมผ้าครุมฮิญาบในสถานศึกษา และสามารถครุมผมในการทำงานในสถานที่ราชการได้”

                อารีเพ็ญ บอกว่า วันนี้มีความจำเป็นที่มุสลิมจะต้องมีอำนาจทางวการเมือง เพื่อนำมาสู่การแก้ปัญหาที่สั่งสมมาจากอดีต อย่างไรก็ตามเขาย่ำว่าการเมืองในขณะนี้ต้องเดินอย่างชาญฉลาดเพราะอยู่ในระหว่างความขัดแย้งอย่างหนักและอยากเห็นการเมืองมุสลิมมารวมตัวเพื่อสร้างพรรคมุสลิมแบบมีเอกภาพ

                ด้านนายฟูอ๊าด  อยู่เป็นสุข ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์TMTV กล่าวว่า หลังจากที่พบปะกับแกนนำและมวลชนของกลุ่มจึงมีแนวคิดที่จะตั้งพรรคการเมืองมุสลิม โดยใช้แนวทางอิสลามนำการเมือง ซึ่งพรรคนี้จะไม่ใช้เงินในการซื้อเสียง โดยใช้ชื่อว่า พรรคมุสลิมสันติ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งพรรคจาก กกต.

                ขณะที่ บุญญา หลีเหล็ด อดีตวุฒิสมาชิกจังหวัดสงขลา กล่าวว่าในอดีตชี้ให้เห็นว่าพรรคการเมืองไม่ว่าพรรคไหน ไม่เคยให้เกียรติกับมุสลิม หากให้เกียรติกับมุสลิมซึ่งมีผู้มีสิทธิประมาณ4ล้านคนทั่วประเทศ ต้องมีรัฐมนตรีที่เป็นมุสลิมอย่างน้อย1คน

              “ผมเคยต่อสู้กับพรรคการเมืองใหญ่ วันนี้เขาเป็นรัฐบาล สุดท้ายก็ไม่เคยเห็นความจริงใจจากพรรคการเมืองใหญ่ วันนี้จึงเป็นหน้าที่และความจำเป็นที่มุสลิมในประเทศไทยจะต้องมีพรรคการเมืองของตัวเอง “

ความจริงพรรคการเมืองแนวมุสลิมนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่พรรคการเมืองแนวคิดแบบมุสลิม แทบไม่ประสบความสำเร็จเลย

 
               ก่อนหน้านี้พรรคแนวมุสลิม ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ในปี 2500  เคยมีการจดทะเบียนพรรคการเมืองหนึ่งชื่อ  "พรรคไทยมุสลิม"  โดยมี ฮัจยีประโยชน์  ค้าสุวรรณ  เป็นหัวหน้าพรรค( 65 ปี พรรคการเมืองไทย กรุงเทพฯ 2539 หน้า14-15)

                ต่อมาก็มีการก่อตั้ง "พรรคแนวสันติ"  เมื่อปี พ.ศ.2516-2517 ในยุคเผด็จการทหาร โดยหัวหน้าพรรคเป็นคน อ.สุไหงปาดี  จ.นราธิวาส เป็นการรวบรวมนักการเมืองในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ (รวม จ.สตูล) แต่ในปีต่อมาหัวหน้าพรรคถูกยิงเสียชีวิตและต้องยุบพรรคไปในที่สุด

                ในปี 2541 -2542  ก็มีความพยายามรวมตัวกันอีกครั้งเพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองแนวมุสลิม โดยใช้ชื่อว่า "พรรคสันติภาพ " โดยมี  ดร.อำนวย สุวรรณกิจบริหาร เป็นหัวหน้าพรรค แต่พรรคดังกล่าว ก็ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ไม่นานในที่สุดก็ต้องปิดตัวลง

                 ต่อมาในการเลือกตั้ง 2548  พิเชษฐ สถิรชวาล  อดีตนักการเมืองหลายสมัย และอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ซึ่งในขณะนั้นเขายังนั่งในตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ผู้จุดประกายความคิดเพื่อรวมตัวปัญญาชนและคนมุสลิมทั่วประเทศ จัดตั้งพรรคการเมืองแนวมุสลิม อีกครั้ง โดยตั้งชื่อพรรคว่า ”สันติภาพไทย ”

                กลางปี 2554 ที่ผ่านมา พรรคการเมืองพรรคเล็ก ก็เกิดขึ้นอีกในนาม พรรคประชาธรรม  แต่พรรคนี้อาจต่างจากพรรคการเมืองแนวมุสลิมในอดีตโดยชูความเป็นพรรคมลายู เป็นพรรคของชาวมลายู โดยเน้นพื้นที่ฐานเสียงใน 3จังหวัดชายแดนใต้ โดยมี “มุคตาร์ กีละ ”เป็นหัวหน้าพรรค แต่ก็ไม่สามารถนำพลพรรคเข้าสภา แม้แต่คนเดียว 

                  และ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2554  มุคตาร์ กีละ  ก็ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตหน้าบ้านพักในอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส  นับเป็นการปิดฉากหัวหน้าพรรคประชาธรรมอีกคนบนถนนการเมืองสายนี้

                  จากนี้ไปต้องจับตาว่าพรรคการเมืองแนวคิดแบบมุสลิม จะสามารถสร้างพรรคเป็นไปตามเจตนารมย์ได้หรือไม่