Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   'ชาริอะห์ อินเด็กซ์ 'ตลาดหุ้นไทยตัวใหม่ ขยายตัวรับ AEC

'Shariah Index'ตลาดหุ้นไทยตัวใหม่ ขยายตัวรับ AEC

โดย เอกราช มูเก็ม

               การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่ถูกต้องตามหลักชารีอะห์ในต่างประเทศทั้งในยุโรป ตะวันออกกลาง หรือ แม้กระทั่งในภูมิภาคอาเซียนที่มีประชากรมุสลิม ดำเนินมานานและเป็นที่ตอบรับจากกลุ่มนักลงทุนที่น่าพอใจ

               ในส่วนของประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ กลต. จับมือกับบริษัท ฟุตซี่ กรุ๊ป เอเชีย แปซิฟิค จำกัด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการบริหารจัดการตลาดหลักทรัพย์ชาริอะห์ อินเด็กซ์ ในตลาดโลก และเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2552 ที่ผ่านมา

              วันนี้เวลาผ่านไป 5 ปี เต็ม นิตยสาร ดิ อะลามี่ จะพาท่านผู้อ่านมารู้จักกับ ชารีอะห์ อินเด็กซ์ (Shariah Index) ผ่านมุมมอง “คุณเกศรา มัญชุศรี”รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ที่มา“ชาริอะห์ อินเด็กซ์”ในเมืองไทย

              คุณเกศรา : ปัจจุบันในตลาดหุ้นที่จดทะเบียนในเข้าตลาดหลักทรัพย์และมีการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์กว่า 500 บริษัท ส่วนใหญ่มีการจดทะเบียนตามมาตรฐานตามกฏข้อบังคับการลงทุนตามหลักชารีอะห์  ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ แต่เพื่อที่จะให้ผู้ลงทุนที่เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม สามารถลงทุนได้และมั่นใจว่าฮาลาล จึงจัดตั้ง ชาริอะห์อินเด็กซ์ โดยผ่านการคัดเลือกมีการรับรองจากผู้ทรงคุณวุฒิในด้านศาสนาหรือ ยาซา  สามารถมีเครื่องมือคัดกรองและสามารถชี้ได้ว่าถ้าจะเข้ามาซื้อขายหรือเข้ามาลงทุนในหุ้นและมีหุ้นอะไรบ้าง

            “ หลังเราเปิดชารีอะห์อินเด็กซ์เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เราร่วมมือกับฟุตซี่ฯไปโรดโชว์ในตะวันออกกลาง เพื่อประชาสัมพันธ์ว่าประเทศเรามีการลงทุนระบบชารีอะห์ในดัชนีตลาดหลักทรัพย์ เพื่อสร้างความมั่นใจกับนักลงทุน ต่างชาติและประเทศกลุ่มมุสลิม ซึ่งการโรดโชว์ได้รับความสนใจมากโดยเราไปกับธนาคารแสตนดาร์ดชาเตอร์ เนื่องจากเขามีตลาดในตะวันออกกลางอยู่แล้ว”

               แต่หลังจากเปิดตัวได้ระยะหนึ่งปรากฏว่า เศรษฐกิจโลกทั้งสหรัฐ(Sub-Prime)และดูไบเองก็มีปัญหา ทำให้ซบเซาลงไป ส่งผลให้การดำเนินการไม่ต่อเนื่องเท่าที่ควร      

              “ เรื่องชารีอะห์ อินเด็กซ์ ความจริงเราทำเองตามลำพังได้ แต่การจับมือกับ“ฟุตซี่”เพื่อความเป็นอินเตอร์ เนื่องจากเขามีสาขาและมีการเผยแพร่ไปทั่วโลกก็จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทจดทะเบียนของไทยด้วย”

5 ปีของการเริ่มจากวันนั้นถึงวันนี้ มีการพัฒนาการอะไรบ้าง

                คุณเกศรา: การพัฒนาการ ต้องยอมรับว่าไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวังมากนัก ทั้งนี้ดูจากเหตุผล 2 เรื่องหลักคือ การอ้างอิงเพื่อให้นักลงทุนใช้เป็นเครื่องมือทางการเงิน และ การอ้างอิงตราสารหนี้จากอินเด็กซ์  ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทย มีกองทุนแห่งเดียว คือ กองทุน MFC มี 2 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนระยาว(LTF) กับกองทุนทั่วไป (ETF) มีสินทรัพย์ประมาณ 500 ล้านบาท อย่างไรก็ตามพบว่าอัตราผลตอบแทนที่ดีไม่แพ้การอ้างอิงในดัชนีตลาดอื่นๆ

                 แม้ว่าหุ้นในตลาดหุ้นจะมีหลายตัว แต่ก็มีการคัดกรองตลาดในกลุ่มของตลาดชารีอะห์ ให้นักลงทุนเห็นซึ่งจะรายงานผ่านหน้าจอวัดความเคลื่อนไหวในตะกร้าชี้ผลทุกๆ 15 วินาทีตลอดเวลาที่ตลาดทำการ จะเห็นได้ว่า SETindex ไปที่ไหน Shariah Index  ก็จะตามไปด้วย

               “ ปัจจุบันมีหุ้นอยู่ 500 กว่าตัวในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเราแยกตะกร้าออกว่าอันไหนเป็นชารีอะห์ ที่ได้รับการรับรองว่าเป็นการลงทุนแบบฮาลาล แต่ไม่ได้แยกกระดาน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ในมาเลเซีย ก็มีหุ้นที่จดทะเบียนเกือบ1,000 หุ้น เขาแยกกรองออกเป็นหุ้นทั่วไปและหุ้นในระบบชารีอะห์ อินเด็กซ์ ซึ่งไม่ได้แยกตะกร้าเช่นกัน ”

จะทำอย่างไรให้คนเข้ามาสนใจตลาดนี้มากขึ้น

               คุณเกศรา: ช่วงแรกเราไปประชาสัมพันธ์ตะวันออกกลางแต่ปัจจุบันเราไปมาเลเซียเพิ่มมากขึ้น เพราะเรากำลังจะผลักดันให้เกิดอาเซียนลิงเกจ (ASEAN Linkage) เป็นการเปิดประตูประเทศเพื่อนบ้านในการซื้อขาย โดยเฉพาะตลาดมาเลเซีย เรามีสัมพันธภาพที่ดี ทางการตลาด

                 “ต่อไปอาเซียนที่เป็นชาริอะห์ หากเปิดตลาดตะวันออกลาง เราอาจแพคเป็นกลุ่มเพื่อขายให้กับนักลงทุนตะวันออกกลางซึ่งเรื่องนี้อาจรออีกระยะหนึ่ง”

                อย่างไรก็ตามเบื้องต้นเป็นการรวมตลาดอาเซียนอินเด็กซ์ หรือ ASEAN Linkage ใน 3 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย มาเลเซียและสิงคโปร์ ปัจจุบันเราซื้อขายผ่านคอมพิวเตอร์ แต่ในระยะยาวอาเซียนจะต้องใช้ ฟุตซี่ เป็นผู้ทำงาน ซึ่งเชื่อว่าเมื่อ ASEAN Linkage เกิดขึ้น ชาริอะห์ อินเด็กซ์ ก็เกิดตามมาด้วย

               “ความเข้มข้นของหุ้นในชาริอะห์อินเด็กซ์ แม้ว่าจะผ่านตามมาตรฐานรับรองของยาซา แต่เราต้องดูว่า มีการซื้อขายในตลาดหรือไม่ หรือ หากหุ้นตัวเล็กมากไปก็ไม่สามารถขายได้ หมายถึงต้องมีสภาพคล่องเพียงพอด้วย ซึ่งปัจจุบันหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของไทยมีจำนวน 81 ตัว จากหุ้นในตลาดมากกว่า 500 ตัว หรือ ในจำนวนนี้พบว่ามูลค่าการตลาดเป็นหุ้นที่อยู่ในกลุ่มชาริอะห์ประมาณ20% จากมูลค่ารวมของตลาด 13 ล้านล้านบาท”

                แม้ว่ามูลค่าของตลาดชาริอะห์อินเด็กซ์ในตลาดโลก เราไม่ได้เก็บรวบรวมแต่จากการสำรวจพบว่าตลาดบอนด์หรือศุกุ๊กในตลาดโลก ณ สิ้นปี 55 ที่ผ่านมามีประมาณ 2.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

นโยบายตลาดหลักทรัพย์ไทยต่อตลาดชารีอะห์ เป็นอย่างไร

                คุณเกศรา:  ที่ผ่านมาเราทำหลายเรื่อง โดยปีที่ผ่านมาได้โรดโชว์ในต่างประเทศแต่ปีนี้เรากลับมาดูตลาดใกล้บ้าน เช่น ประเทศจีน  มาเลเซีย และตลาดตะวันออกกลาง เราจะพาบริษัทที่จดทะเบียนไปพบกับนักธุรกิจ พร้อมกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งยังไม่ได้กำหนดว่าเป็นสถาบันใด ซึ่งจะต้องคัดบริษัทชารีอะห์อินเด็กซ์ ที่อยู่ในสภาพคล่องที่ดี เพื่อนำไปพบปะกับลูกค้าที่ต่างประเทศ

                “ ตลาดหลักทรัพย์ฯพยายามจะเป็นตัวกลางเพราะถือว่าเป็นการพัฒนาตลาดโดยจะร่วมมือกับทาง ฟุตซี่ ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าตลาดในประเทศอาจยังไม่มาก เพราะเรายังไม่มีชารีอะห์อินเด็กซ์ ที่ชัดเจนและคาดว่ายังต้องใช้เวลา แต่เราจะเดินเข้าไปหาลูกค้าเพื่อประชาสัมพันธ์และทำให้เขาเห็นว่า เราก็มี ชาริอะห์อินเด็กซ์ ”

ทำไมตลาดการลงทุนมุสลิมในไทยยังไม่แพร่หลาย

               คุณเกศรา:  ที่เราช้าเพราะ เรามีประเด็นเรื่องกฎหมายตราสารหนี้ ต้องปรับปรุงให้เข้ากับศุกุ๊ก รวมไปถึงความจำกัดความประเด็นของกฏหมายเดิมที่เขียนเรื่องตราสารหนี้ การเก็บภาษีต่างๆ เป็นภาษาที่ไม่สอดคล้องกับศุกุ๊ก เช่นคำว่า ดอกเบี้ย ไม่ได้ใส่ในกฏหมาย กว่าจะปรับเปลี่ยนต้องใช้เวลายาวนาน เพิ่งจะแล้วเสร็จเมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่นับว่ากำลังเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ

              “ที่ผ่านมาธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นสถาบันที่พยายามจะเริ่มต้นในการออกศุกูก(Islamic bonds)หรือพันธบัตรตราสารหนี้อิสลาม เพื่อนำร่องให้กับสถาบันอื่นๆสามารถออกได้ในอนาคต แต่ยังไม่สำเร็จจนถึงขณะนี้”

ตลาดอาเซียนอินเด็กซ์ จนถึงวันนี้มีการรวมตัวกันอย่างไร

                คุณเกศรา: ปัจจุบันเรามีคามร่วมมือด้านตลาดหลักทรัพย์อาเซียนหรือ Asean Linkage : AEC โดยระบบเชื่อมโยงการซื้อขายหลักทรัพย์ ASEAN Linkage เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียน ใน 6 ประเทศ 7ตลาด ได้แก่ ไทย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ,อินโดนีเซีย และเวียดนาม (มี2ตลาด) ซึ่งต้องการที่จะพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์เชื่อมต่อการซื้อขายระหว่างตลาดหลักทรัพย์ ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ลงทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์ข้ามประเทศ

              “ เมื่อปีที่ผ่านมาเราเริ่มต้นโดยการเอาระบบคอมพิวเตอร์มาต่อเชื่อมกัน 3 ตลาด ประกอบด้วย ไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย เชื่อมต่อกันแล้วเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนสามารถลงทุนข้ามประเทศในอาเซียนได้ ส่วนอินโดนีเซีย ยังไม่ได้ตัดสินใจและคาดว่ายังรอดูท่าทีก่อน”

โอกาสการขยายตัวชาริอะห์อินเด็กซ์ หลังอาเซียนรวมตัวเป็นอย่างไรบ้าง

              คุณเกศรา:  ประเมินจากการร่วมมือ 3 ประทศ พร้อมๆกับการเดินคู่กับ ตลาดชารีอะห์ คาดว่าต้องใช้เวลาอีก3-5 ปี แต่มองว่าตลาดอาเซียนน่าสนใจ ขณะนี้ อาเซียนอินเด็กซ์ กำลังพัฒนาโดยคัดเลือกหุ้น สตาร์อินเด็กซ์ประเทศละ 30 หุ้น รวม 180 หุ้น ของแต่ละตลาดจาก 6 ประเทศ 7ตลาด เพื่อเป็นสตาร์ของแต่ละตลาด ซึ่งในจำนวนนั้นก็มีหุ้นชาริอะห์อยู่ด้วย

               อย่างไรก็ตามในตลาดของแต่ละประเทศก็มีชารีอะห์ อินเด็กซ์ ด์อยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดภูมิภาคอาเซียน 600 ล้านคน ในจำนวนนี้มีมุสลิมกว่า 300 ล้านคน คาดว่าในอนาคตจะมีการเจริญเติบโตได้ตามความคาดหวัง.

+++++++++

               เกณฑ์การดำเนินธุรกิจและเกณฑ์โครงสร้างทางการเงินของหุ้น ชาริอะห์ อินเด็กซ์ ซึ่งการดำเนินธุรกิจต้องไม่ลงทุนในธุรกรรมดังนี้

              1.ธนาคาร สถาบันการเงิน หรือประกันภัย ที่ไม่ได้ดำเนินการตามหลักศาสนาอิสลาม

              2. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์

              3.ธุรกิจที่มีผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องกับสุกร

               4. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบันเทิง เช่น คาสิโน การพนัน

                5.ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยาสูบ และ

                6. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือจำหน่ายอาวุธ.

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2556

             ฉบับภาษาอังกฤษ : http://www.thealami.com/main/content.php?page=news&category=2&id=1113