Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   กองทุน MFCบุกตลาดกองทุนชารีอะห์

Interviwe :  จับตากองทุนชารีอะห์ ตลาดอาเซียน 2แสนล้าน

                   ผ่านมุมมอง "พัณณรัชต์ บรรพโต" มือบริหารกองทุน MFC

                   โดย :  เอกราช มูเก็ม 
                            บรรณาธิการบริหาร 
นิตยสาร ดิ อะลามี่

            ตลาดการเงินโดยเฉพาะการเงินในระบบชารีอะห์ หรือการเงินตามหลักการอิสลาม แม้จะไม่เป็นที่เผยแพร่มากนักในเมืองไทย แต่ในอนาคตการเข้ามาของเวทีประชาคมอาเซียน (AEC) ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนั่นหมายถึงหากเราไม่เตรียมตัว อาจทำให้ตลาดกลุ่มนี้เป็นของต่างชาติ

            นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับนี้เรามารู้จักการลงทุนในกองทุนหลักทรัพย์ในระบบชารีอะห์ ผ่านมุมมอง"คุณพัณณรัชต์ บรรพโต" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายบริหารกองทุน  บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด(มหาชน)

การบริหารกองทุนตามระบบชารีอะห์ มีการบริหารอย่างไร

            หลักการบริหารกองทุนแนวอิสลาม เริ่มมามากกว่า 5 ปีที่ผ่านมา โดยเราทำตามหลักศาสนาอิสลามทุกประการ คือ มีคณะกรรมการที่ปรึกษากองทุน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านศาสนาอิสลาม ให้คำปรึกษาด้านกองทุน ให้ความรู้หลักการแนวทางในการลงทุน ที่ไม่ขัดต่อหลักการศาสนา

            โดยกองทุนจะไม่สามารถลงทุนในธุรกิจ 6 ประเภทดังนี้  1.ธนาคาร สถาบันการเงิน หรือประกันภัย ที่ไม่ได้ดำเนินการตามหลักศาสนาอิสลาม 2. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ 3.ธุรกิจที่มีผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องกับสุกร 4. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบันเทิง  เช่น คาสิโน การพนัน  5.ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยาสูบ และ 6 ธุรกิจที่ เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือจำหน่ายอาวุธ

           นอกจากนี้ มีข้อกำหนดโครงสร้างทางการเงินด้วย เนื่องจากตามหลักศาสนาอิสลาม ห้ามมีรายได้จากดอกเบี้ย และบริษัทจะต้องไม่มีการกู้หนี้ยืมสินมากๆ เพราะโครงสร้างทางการเงิน จะมีการกำหนดไว้ด้วย บริษัทนั้นๆ ต้องมีส่วนของการบริหาร ของหนี้สินจะต้องน้อยกว่า 33% ของสินทรัพย์รวม

            อีกทั้งสินทรัพย์ สัดส่วนของบัญชีลูกหนี้และเงินสดจะต้องน้อยกว่า50% ของสินทรัพย์รวม ในบางธุรกิจอาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะรายได้มาจากดอกเบี้ยบ้างแต่ต้องไม่เกิน 5%ของรายได้รวม และเพื่อสร้างความมั่นใจในแต่ละปีจะมีการตรวจสอบการลงทุนปีละ 2 ครั้ง

            สำหรับ MFC เราคัดกรองจากผู้ประกอบการที่อยู่ใน ชารีอะห์อินเด็กซ์ ส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่ง เราจะคัดกรองจากตลาดหลักทรัพย์ ที่เข้าเกณฑ์ลงทุนของเรา อันมีปัจจัยพื้นฐานดี มีงบการเงินเข้มแข็ง มีการซื้อขายต่อวันที่ไม่ต่ำจนเกินไป นอกจากนี้ยังต้องตรวจสอบรีวิวผลประกอบการทุก 6 เดือน  

กองทุน MFC ปัจจุบันบริหารกองทุนอะไรบ้าง

            ปัจจุบัน MFC มีกองทุนรวมที่มีการซื้อขายอยู่ทุกวัน โดยมีจำนวน 2 กองทุนประกอบด้วย กองทุน MFC อิสลามิกฟันด์ และกองทุน อิสลามิคระยะยาว อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพภายใต้การจัดการ สามารถลงทุนในกองทุน MFC อิสลามิกฟันด์ ได้ด้วย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้พนักงานในองค์กรต่างๆที่เป็นมุสลิม เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้

กองทุนที่ MFCบริหารแต่ละกองทุนมีมูลค่าเท่าไหร่และมีการเติบโตอย่างไร

            เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดอื่นถือว่ายังไม่มาก โดยกองทุน MFC อิสลามิกฟันด์ มีมูลค่า 282 ล้านบาท (ณ วันที่ 27 ส.ค.56) ส่วนกองทุน MFC อิสลามิกLTF มีมูลค่า 191 ล้านบาท สำหรับการเติบโตของกองทุนอยู่ที่ประมาณ 5-6% เมื่อเทียบกับกองทุนอื่นถือว่าไม่มาก แต่ก็จัดอยู่ในการอัตราการขยายตัวที่น่าพอใจระดับหนึ่ง

รูปแบบบริหารกองทุนชารีอะห์ ต่างกับกองทุนอื่นอย่างไร

            ต่างกันในแง่ของการที่จะคัดเลือกหุ้นเท่านั้น  เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางกองทุนตามหลักศาสนาอิสลาม นอกจากนั้นแนวการบริหารกองทุน จะคล้ายคลึงกัน ทั้งนี้การบริหารจะมีมีรูปแบบที่ตื่นตัวตลอดเวลาโดยมองภาพรวมทั้งในและต่างประเทศ

            กองทุนอิสลามทั้ง 2 กองอาจจะแตกต่างจากกองทุนทั่วไป บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ช่วงหุ้นราคาดีกองทุนทั่วไปอาจหวือหวา แต่บริษัทเหล่านี้เวลาเติบโต มันก็จะเติบโตได้ไม่ค่อยมาก และจะค่อยเป็นค่อยไป จะเติบโตแบบสม่ำเสมอ ขณะที่ในภาวะหุ้นตกเยอะๆ กองทุนอิสลามจะตกน้อยกว่า แต่ภาวะที่หุ้นขาขึ้นเยอะ ก็จะขึ้นน้อยกว่าเช่นกัน ทำให้การลงทุนในกองทุนอิสลามฯ มีอัตราความเสี่ยงน้อยกว่า

การตอบรับของนักลงทุนไทยเป็นอย่างไรบ้าง

            ปัจจุบันนักลงทุนส่วนใหญ่ จะเข้าไปลงทุนในกองทั่วไป ในจำนวนนี้มีนักลงทุนมุสลิมบ้าง แต่ประมาณการว่าไม่น่าจะเกินครึ่งหนึ่งของกองทุน ทั้งนี้ยอมรับว่าที่ผ่านมาเราอาจเข้าไม่ถึงผู้ลงทุนที่เป็นมุสลิมโดยตรงหรือเข้าไปแล้วแต่ไม่ได้นำเสนออย่างต่อเนื่อง

            ทั้งนี้หากดูจากจำนวนของประชากรในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะตลาดมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในอนาคต เขาต้องมาตีตลาดในเมืองไทยอย่างแน่นอน

MFC วางแผนการตลาดและวางอนาคตอย่างไร

            ก่อนหน้านี้เราได้เข้าไปคุยกับธนาคารอิสลามฯ ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เนื่องจากเราไม่มีสาขาอยู่ทางภาคใต้ เราไม่สามารถให้บริการได้ โดยตรง ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมอยู่ในภาคใต้ ฉะนั้น เราจะใช้สาขาของธนาคารอิสลามเข้าไปช่วย

            " ก่อนที่เราจะใช้สาขาเป็นตัวแทน พนักงานของธนาคารอิสลามฯ จะต้องมีใบอนุญาตการเป็นตัวแทนก่อน แต่จากปัจจัยภายในธนาคารอิสลามทำให้เราต้องหยุดโครงการนี้ชั่วคราว"   

มองโอกาสการขยายตัวการลงทุนในรูปแบบกองทุนอิสลามอย่างไร

            ในระยะยาวมั่นใจว่าว่ายังมีโอกาส แต่อาจไม่ใช่ในระยะใกล้ ซึ่งต้องใช้เวลา 3-5 ปี ขึ้นไป ทั้งนี้หากดูตัวเลขการลงทุนในตลาดมุสลิมทั้งอินโดนีเซีย และมาเลเซีย น่าจะอยู่ที่ประมาณแสนล้านบาท ซึ่งเรามองว่าขอส่วนแบ่งสัก 5% ก็จะทำให้ตลาดภายในประเทศโตมหาศาล

            "เม็ดเงินจากตลาดอาเซียน หากเข้ามาลงทุนในไทยสัก 5% เท่ากับเรามีเงินเข้ามาประมาณ 500ล้านบาท ถือว่าเยอะมาก อย่างไรก็ตามเราต้องใช้เวลากว่าที่เขาจะรู้จักผลิตภัณฑ์ของเรารวมถึงการบริการและการโอนเงินระหว่างประเทศ ด้วย"

มองว่าโอกาสการขยายตัวและการเติบโตอย่างไรบ้าง

          มีโอกาสแน่นอน แต่จะค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตามหากมีการแข่งขันในตลาด จะทำให้มีการตื่นตัวมากขึ้น ทั้งนี้เรามองว่าโอกาสการลงทุนและเม็ดเงินในตลาดอิสลามิคไฟแนนเซียล ยังมีอยู่มากเป็นแสนล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาเลเซีย อินโดนีเซีย มีเกือบ 2 แสนล้าน ที่เป็นกองทุน ที่ตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นเงินที่มีอยู่ในกองทุนอยู่แล้ว ตลาดนี้หากมองให้ไกล จะเป็นตลาดค่อนข้างใหญ่

            " จากนี้ไปเราได้เตรียมแผนที่จะออกไปโรดโชว์ และพบปะกับคู่ค้า เพื่อเพิ่มช่องทางโอกาสการลงทุน ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติเอง เขาก็คงแสวงหาทางเลือกใหม่ในการลงทุนเช่นเดียวกัน นักลงทุนไทยเราเองต้องออกไปเสนอผลิตภัณฑ์นอกตลาดหุ้นไทย ก็ถือเป็นโอกาสมากขึ้น"

            อย่างไรก็ตามเมื่อเปิด AEC นักลงทุน หรือแม้แต่ภาครัฐ จะต้องเตรียมตัว ซึ่งอาจตั้งหน่วยงานมาศึกษางานทางนี้โดยตรง หรืออาจจะต้องตั้งเป้าหมายการลงทุนในประเภทนี้ ว่า ปัจจุบันยังขาดอะไรอยู่บ้าง ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องและความเป็นไปได้ ซึ่งจะต้องแก้เงื่อนไขหรือ พรบ.ต่างๆ ให้สามารถรองรับการลงทุนร่วมกันได้

            ขณะเดียวกันในแง่ของผู้ประกอบการ การลงทุน อาจจะต้องเริ่มแสวงหาคู่ค้า ที่เขามีความชำนาญและเชี่ยวชาญมาก่อนเรา เพื่อที่จะนำองค์ความรู้เข้ามาภายในประเทศ หรือ อาจจะทำธุรกิจร่วมกันได้ในอนาคต

 MFC มีแผนการการตลาดและประชาสัมพันธ์อย่างไร

            ในเบื้องต้นเราพยายามจะขยายฐานช่องทางการขาย และการเข้าถึงลูกค้าให้มากที่สุด โดยผ่านเคาน์เตอร์ของธนาคารอิสลามฯ ซึ่งเราจะพยายามสานต่อให้เร็วสำหรับนักลงทุนภายในประเทศ

            ส่วนนักลงทุนต่างประเทศ จากนี้ไปเราจะออกไปคุยกับธนาคารหรือโบรคเกอร์ในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เพื่อที่จะได้ทราบว่าเขามีผลิตภัณฑ์อะไรมาขายให้กับกองทุนของเราได้หรือไม่ และโอกาสต่อไปในระยะยาวกว่า 5 ปีขึ้นไป เรากำลังมุ่งไปที่ตลาดกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เนื่องจากกลุ่มนี้มีกำลังซื้อมหาศาล

ตีพิมพ์ครั้งแรก :นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนกันยายน 2556